กระแสการลงทุนอย่างยั่งยืน (Sustainable Investment) เป็นสิ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจ และเข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น นอกเหนือจากผลตอบแทนการลงทุน โดยคำนึงถึงการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน ด้านส่ิงแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) หรือ ESG ของธุรกิจ
ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประกาศเปลี่ยนชื่อ “ดัชนีหุ้นยั่งยืน” จากเดิมคือ THSI (Thailand Sustainability Investment) เป็น SET ESG Ratings เพื่อให้เกิดความคุ้นชินแก่นักลงทุน พร้อมทั้งประกาศผลการประเมินในรูปแบบ “รายช่ือบริษัทจดทะเบียน” และ “ระดับ SET ESG Ratings” แบ่งเป็น 4 ระดับ คือ BBB, A, AA, AAA ซึ่งต่างจากเดิมที่ประกาศผลเป็นรายชื่อบริษัทจดทะเบียนเท่านั้น
ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร และหัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมุมมองของการทำธุรกิจและการลงทุนเปลี่ยนไป โดยมีการคำนึงถึงความยั่งยืนมากขึ้น ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล จากเดิมที่คำนึงถึงความสามารถในการทำกำไรก่อนเท่านั้น โดย ESG ของบริษัท เช่ือมโยงกับผลการดำเนินงานทางการเงินของธุรกิจ ทั้งในด้านความเสี่ยงและโอกาส ศักยภาพในการแข่งขัน และการได้รับการยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับความอยู่รอดและความสามารถในการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว
ปัจจุบันมีบริษัทที่อยู่ในการคำนวณดัชนี THSI จำนวน 161 บริษัท โดยคาดหวังว่าการใช้ดัชนีหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings จะทำให้มีบริษัทเข้ามาพิจารณามากขึ้น ตามแนวโน้มการลงทุนอย่างยั่งยืน โดยข้อมูลจาก SET Note ฉบับที่ 8/2565 ระบุว่า นักลงทุนรายย่อยสนใจลงทุนอย่างยั่งยืนมากข้ึน และเป็นที่นิยมของนักลงทุนในทุกช่วงวัย โดยยิ่งสูงอายุข้ึนยิ่งมีแนวโน้มที่จะสนใจและกระจายมูลค่าซื้อขายในหุ้นยั่งยืนมากขึ้น ขณะที่นักลงทุนบุคคลกว่า 7 แสนคน หรือ 79% ของกลุ่มตัวอย่าง ซื้อขายหุ้นยั่งยืนอย่างน้อย 1 บริษัท และมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยสูงถึงวันละ 14,245 ล้านบาท หรือคิดเป็น 40% ของ มูลค่าซื้อขายของนักลงทุนบุคคลทั้งหมด
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ พิจารณาข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียนที่สมัครใจเข้าร่วมตอบแบบประเมินความยั่งยืน จากข้อมูลภายในที่บริษัทส่งมายังตลาดหลักทรัพย์ฯ และข้อมูลที่บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยต่อสาธารณะ เช่น แบบ 56-1 One Report และรายงานความยั่งยืน ซึ่งเป็นกระบวนการเดียวกันกับ THSI โดยมีคณะทำงานเพื่อการลงทุนอย่างยั่งยืนที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านบรรษัทภิบาล และการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นผู้พิจารณาหลักเกณฑ์ ซึ่งจะประกาศผลการประเมิน SET ESG Ratings ปี 2566 ในวันจันทร์ท่ี 6 พฤศจิกายนน้ี
อย่างไรก็ตาม การพิจารณา SET ESG Ratings นั้น มองว่า จะเกิดประโยชน์ต่อบริษัทจดทะเบียน จากสามารถใช้แบบประเมินหุ้นยั่งยืน เป็นเครื่องมือในการพัฒนาการดำเนินงานด้าน ESG พร้อมนำ Feedback Report ไปใช้เป็นแนวทางปรับปรุงการดำเนินงานด้าน ESG และเปรียบเทียบผลประเมินกับอุตสาหกรรม เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน และสามารถสร้าง Visibility ต่อผู้ลงทุน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น
สำหรับประโยชน์ต่อผู้ลงทุนและนักวิเคราะห์ มองว่า สามารถใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นเปรียบเทียบการดำเนินงานด้าน ESG ของแต่ละบริษัท และใช้ประกอบการวิเคราะห์ ประเมินมูลค่าหุ้นเพื่อประกอบการลงทุน หรือเป็นข้อมูลเบื้องต้นเพื่อการพัฒนา Investment products สำหรับผู้จัดการกองทุน อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนจำเป็นต้องศึกษาและพิจารณาข้อมูลทางการเงิน รวมถึงข้อมูลด้านอื่นๆ เพิ่มเติมในการตัดสินใจลงทุนด้วย