เป็นที่น่าจับตา สำหรับหุ้นของ บริษัท ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น TAN ที่ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และทำการซื้อขายวันแรกเมื่อวันพุธที่ 18 ตุลาคม ที่ผ่านมา วันนี้ “Thairath Money” จะพามารู้จักธุรกิจของบริษัท พร้อมเปิดสัดส่วนรายได้ และกลยุทธ์ที่ทำให้สามารถสร้างยอดขายได้กว่าพันล้านบาทต่อปี
รู้จักหุ้น TAN ผู้นำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์-แฟชั่น
บริษัท ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น TAN ประกอบธุรกิจค้าปลีกสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่น โดยกลุ่มบริษัทฯ นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นจากต่างประเทศที่มีชื่อเสียงระดับโลกเพื่อจัดจำหน่ายในประเทศไทยและต่างประเทศ ได้แก่ 1. แบรนด์แพนดอร่า (Pandora) เครื่องประดับเงินชั้นนำจากประเทศเดนมาร์ก 2. แบรนด์มารีเมกโกะ (Marimekko) สินค้าไลฟ์สไตล์ที่โดดเด่นด้านลายพิมพ์และสีสันจากประเทศฟินแลนด์ และ 3. แบรนด์แคท คิดสตัน (Cath Kidston) สินค้าไลฟ์สไตล์กลิ่นอายโมเดิร์นวินเทจจากประเทศอังกฤษ รวมถึงการนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าแบรนด์ Cath Kidston ในประเทศเวียดนาม
นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทฯ ยังเป็นเจ้าของแบรนด์ในกลุ่มหาญ (HARNN) ซึ่งประกอบด้วย 1. แบรนด์หาญ (HARNN) สินค้าบอดี้แคร์ สกินแคร์ สปา และอโรมาเทอราพี และ 2. แบรนด์วุฒิ (Vuudh) สินค้าเครื่องหอมสไตล์ไทยร่วมสมัย รวมทั้งได้ขยายไปยังธุรกิจสปาภายใต้ 3. หาญเวลเนส แอนด์ ฮอสพิทาลิตี้ (HARNN Wellness & Hospitality) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มุ่งเน้นธุรกิจแฟรนไชส์สปาในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยปัจจุบันประกอบด้วย 4 แบรนด์ย่อย ได้แก่ หาญ เฮอริเทจ สปา (HARNN Heritage Spa) บาย หาญ (by HARNN) เดอะสปา บาย หาญ (The Spa by HARNN) และ เอสเคป บาย หาญ (SCape by HARNN) ซึ่งแต่ละแบรนด์มีความแตกต่างกันตามกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 กลุ่มบริษัทฯ มีแบรนด์สินค้าภายใต้การดำเนินงาน รวมทั้งสิ้น 5 แบรนด์ และมีแบรนด์ธุรกิจสปาภายใต้ดำเนินงาน รวมทั้งสิ้น 4 แบรนด์ โดยมีสาขาตั้งอยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนทั้งสิ้น 131 สาขา แบ่งออกเป็นสาขาที่กลุ่มบริษัทฯ เป็นเจ้าของจำนวน 122 สาขา และสาขารูปแบบแฟรนไชส์จำนวน 9 สาขา และการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทฯ ยังมีการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่น เช่น ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้ชื่อ Marimekko pop-up café และ Cath Kidston Tea Room
ส่องสัดส่วนรายได้ ทำยอดขายพันล้าน
บริษัทมีสัดส่วนรายได้แบ่งเป็น รายได้จากธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นจากต่างประเทศ 80.76% รายได้จากการขายแบรนด์ของบริษัทฯ มีสัดส่วน 16.98% รายได้จากการให้บริการสปา มีสัดส่วน 1.11% ที่เหลือเป็นรายได้อื่นๆ ราว 1.16%
สำหรับผลประกอบการ 3 ปีที่ผ่านมา ในปี 2563 บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 919.81 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 12.07 ล้านบาท ต่อมาในปี 2564 บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 782.75 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 34.63 ล้านบาท และในปี 2565 บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 1,288.41 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 122.10 ล้านบาท ล่าสุด บริษัทรายงานผลประกอบการงวด 6 เดือนแรกของปี 2566 มีรายได้รวมอยู่ที่ 671.00 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 71.06 ล้านบาท
เตรียมเปิดร้านในเครือ “Gordon Ramsay”
การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อรองรับแผนขยายสาขาของแบรนด์ภายใต้พอร์ตโฟลิโอของกลุ่มบริษัทฯ ในปัจจุบัน และปรับปรุงสาขาเดิมให้มีรูปลักษณ์สวยงาม ทันสมัย และเหมาะกับไลฟ์สไตล์กลุ่มลูกค้า รวมทั้งขยายสาขาในต่างประเทศรองรับการขยายธุรกิจในระดับภูมิภาค
ในเดือนมิถุนายน 2566 กลุ่มบริษัทฯ ได้รับสิทธิ์ในการจัดจำหน่ายสินค้าแต่เพียงผู้เดียว (Exclusive Right) ในการนำเข้า จัดจำหน่าย ทำการตลาดสินค้าแบรนด์ Marimekko ในประเทศสิงคโปร์เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยได้เริ่มดำเนินการสาขาแรกแล้วในช่วงปลายเดือนกันยายน 2566
กลุ่มบริษัทฯ ได้วางยุทธศาสตร์ขยายระบบนิเวศทางธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยแผนขยายพอร์ตโฟลิโอเพิ่มแบรนด์สินค้าใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง หลังประสบความสำเร็จในการต่อยอดธุรกิจจากแบรนด์ภายใต้พอร์ตโฟลิโอสู่กลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์อาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) ภายใต้ชื่อ Marimekko pop-up café และ Cath Kidston Tearoom
โดยในเดือนพฤษภาคม 2566 กลุ่มบริษัทฯ ได้รับสิทธิ์ในการบริหารจัดการร้านอาหารในเครือของ Gordon Ramsey เชฟชื่อดังระดับโลกในประเทศไทย เป็นระยะเวลา 10 ปี ซึ่งประกอบด้วย 1. ร้าน Gordon Ramsay Hell’s Kitchen 2. ร้าน Street Burger Gordon Ramsay 3. ร้าน Street Pizza Gordon Ramsay และ 4. ร้าน Bread Street Kitchen โดยมีแผนจะเปิดสาขารวมทั้งสิ้น 14 สาขาภายในระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งกลุ่มบริษัทฯ คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการได้ 2 สาขา ได้แก่ ร้าน Bread Street Kitchen และร้าน Street Pizza Gordon Ramsay ได้ภายในปีนี้
โบรกเกอร์คาดกำไรโตเฉลี่ย 38% ต่อปี
ด้านบทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า คาดกำไรสุทธิมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 3 ปีข้างหน้า หรือปี 2566-2568 ที่ 38.1% ต่อปี จากการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศและภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้ 1) รายได้ทุกกลุ่มธุรกิจเติบโตต่อเนื่องทั้งยอดขายผ่านช่องทาง Online และ Offline โดยเฉพาะแบรนด์ HARNN 2) อัตรากำไรขั้นต้นที่ปรับตัวดีขึ้นเป็น 63.3% และ 63.7% ตามลำดับ จากค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ที่ระดับ 55.9% เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย การกลับมาดำรงชีวิตปกติส่งผลให้บริษัทไม่ต้องมีการจัดโปรโมชันสูงเหมือนก่อนหน้า และสัดส่วนรายได้จาก HARNN ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ประเมินมูลค่า TAN ด้วยวิธี PER Multiple โดยใช้ P/E ปี 2567 ที่ 25.20 เท่า ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมค้าปลีกสินค้าไลฟ์สไตล์ในไทย ได้ราคาเหมาะสมณสิ้นปี 2567 ที่ 23.00 บาท/หุ้น
ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แนวโน้มกำไรในช่วงที่เหลือของปี 2566 ยังดูสดใส โดยคาดหวังจะได้แรงหนุนจาก ยอดขายในไทยที่เป็นตลาดหลักยังเติบโตต่อเนื่อง เพราะคาดการเมืองที่มีความชัดเจนขึ้น ส่งเสริมความเชื่อมั่นผู้บริโภค และการใช้จ่าย บวกกับในไตรมาส 4/66 เป็นช่วงเทศกาลส่งท้ายปี ที่ผู้บริโภคมักมีการจับจ่ายสูงกว่าช่วงอื่นๆ เพราะจะมีทั้งการซื้อของให้ตนเอง หรือญาติมิตร นอกจากนี้ยังคาดหวังนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยมากขึ้น ช่วงปลายปีที่เป็นฤดูท่องเที่ยว ซึ่งจะหนุนยอดขายและมาร์จิ้นให้เพิ่มขึ้น ตามสินค้าสัดส่วนการขายสินค้ากลุ่มหาญ (มีมาร์จิ้นสูง) ได้จำนวนมากขึ้น
นอกจากนี้ คาดกำไรปี 2566 ที่ 183 ล้านบาท เติบโต 46% จากปีก่อน และจะโตได้ต่ออีก 51% เป็น 275 ล้านบาท ในปี 2567 หรือจะโตเฉลี่ย 48% โดยมีสมมติฐานที่สำคัญ คือ รายได้ขายและบริการในปี 2566 จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.49 พันล้านบาท หรือเติบโต 17% จากปีก่อน และจะโตดีขึ้นอีก 20% ในปี 2567 เป็น 1.79 พันล้านบาท จากการเติบโตของสินค้าแต่ละแบรนด์
ประกอบกับ อัตรากำไรขั้นต้นมีแนวโน้มสูงขึ้นจาก 59.8% ในปีก่อน เป็น 61.0% ในปี 2566 และเพิ่มขึ้นเป็น 62.1% ในปี 2567 ตามยอดขายที่เพิ่มขึ้น และสัดส่วนรายได้สินค้ากลุ่มหาญ (สินค้าที่มีมาร์จิ้นสูง) ที่คาดจะเพิ่มขึ้น
ส่วนค่าใช้จ่ายขายบริหารต่อรายได้ปี 2566-2567 กำหนดให้ลดลงจากเดิมซึ่งอยู่ที่ 45.6% ในปี 2565 เหลือ 44.1% ในปี 2566 และ 43.0% ในปี 2567 จากการประหยัดต่อขนาด เพราะมีต้นทุนคงที่ โดยเฉพาะค่าตัดจำหน่ายจำนวนสูง
และดอกเบี้ยจ่ายในปี 2566-2567 ที่คาดจะลดลงเฉลี่ย 28% จากปี 2565 เหลือราว 23 ล้านบาท ในปี 2567 หลังจากนำเงินบางส่วนที่ได้จากการระดมทุนไอพีโอในช่วงปลายปี 2566 นี้ ไปจ่ายคืนหนี้เงินกู้สถาบันการเงิน