รู้จัก MCA หุ้นไอพีโอน้องใหม่ เอเจนซี่ มาร์เก็ตติ้ง ผู้มีเคพีไอ เป็นยอดขายของลูกค้า

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

รู้จัก MCA หุ้นไอพีโอน้องใหม่ เอเจนซี่ มาร์เก็ตติ้ง ผู้มีเคพีไอ เป็นยอดขายของลูกค้า

Date Time: 14 ต.ค. 2566 07:00 น.

Video

ดร.พิพัฒน์ KKP กระเทาะโจทย์เศรษฐกิจไทย บุญเก่าเจอความเสี่ยง บุญใหม่มาไม่ทัน

เอเจนซี่ มาร์เก็ตติ้ง เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันที่สูงมากในตลาด เพราะเม็ดเงินที่หมุนเวียนสูง มีลูกค้าต้องการใช้จำนวนมาก และฟรีแลนซ์ ที่เข้ามาแข่งขันด้วย ดังนั้น จึงเป็นสมรภูมิที่ดุเดือด ดังนั้น ผู้ชนะ ในเกมนี้ คือ คนที่สร้างผลตอบแทนให้กับลูกค้าได้มากที่สุด

 

บริษัท มาร์เก็ต คอนเน็กชั่นส์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) MCA หนึ่งในเอเจนซี่ มาร์เก็ตติ้ง ชั้นนำ ที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ในเดือนนี้ ไม่ใช่แค่เพียง การคิดแคมเปญ การจัดอีเวนต์ และการสร้างรูปแบบส่งเสริมการขายเท่านั้น แต่บริษัทยังมี KPI ที่ว่า หากใช้บริการแล้วลูกค้าจะได้ยอดขายเพิ่มขึ้นเท่าไร ซึ่งเป็นสิ่งที่เอเจนซี่ทั่วไป มักกลัวที่จะนำเรื่องนี้มาเป็นจุดขาย

ภักดี เหล่างาม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาร์เก็ต คอนเน็กชั่นส์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) MCA เปิดเผยกับ ThairathMoney ว่า จุดเริ่มต้นของ MCA ย้อนกลับไป 2554 ซึ่งในเวลานั้นทำงานอยู่ในบริษัทเอเจนซี่แห่งหนึ่งและมีความคิดอยากเปลี่ยนงาน และเริ่มต้นตั้งบริษัทใหม่ โดยในเวลานั้น เห็นโอกาสในธุรกิจเอเจนซี่ มาร์เก็ตติ้ง  ในเมืองไทยยังมีช่องว่างให้เติบโต

“ย้อนกลับไปในช่วงก่อตั้ง เรามีความคิดอยากเปลี่ยนงาน แต่ในเวลานั้นก็มีเสียงจากลูกค้าว่า ทำไมไม่ลองตั้งบริษัทเอง ซึ่งเราก็เห็นไอเดียในเวลานั้น และมองว่าเมืองไทยยังมีช่องว่างให้เราสามารถเติบโตได้ และเป็นจุดเริ่มต้นของ MCA

ธุรกิจของ MCA แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลักๆ คือ 1) บริการจัดกิจกรรมทางการตลาดและดิจิทัล 2) บริการบรรจุและจัดส่งสินค้า 3) บริการพนักงานแนะนำสินค้า และ 4) บริการจัดเรียงสินค้า โดยกลุ่มสินค้าที่บริษัทโฟกัสเป็นพิศษ จะอยู่ในกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค โดยเราจะให้บริการเป็นโซลูชัน มาร์เก็ตติ้ง

จุดเริ่มต้นของการให้บริการลูกค้าหนึ่งราย เราจะรับบรีฟจากทางบริษัท ว่าต้องการอะไร แล้วนำบรีฟดังกล่าวมาดำเนินการ วางแผนทำมาร์เก็ตติ้ง ผ่านรูปแบบต่างๆ โดยปัจจุบันเรามีฐานข้อมูลพนักงานผู้ให้บริการภายนอก (Outsource) มากกว่า 6,500 คน ซึ่งสามารถรองรับการให้บริการได้ครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งการจัดบูธขายสินค้า ในห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าปลีกต่างๆ รวมถึงการสร้างกิจกรรมทางการตลาด เพื่อช่วยดันยอดขายของลูกค้าให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ร่วมกัน

 

ทำไมต้องมีพนักงานจัดเรียงสินค้า

หนึ่งในบริการของบริษัท คือ พนักงานจัดเรียงสินค้า ซึ่งเป็นหนึ่งในบริการที่เติบโตได้ดีมาก และเป็นหนึ่งในบริการ ที่ผ่านมามีคำถามว่า ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำนั้นมีพนักงานเรียงสินค้าอยู่แล้ว ทำไมต้องมีบริการนี้ แต่ในความเป็นจริงในห้างสรรพสินค้า มีสินค้าหลายหมื่น SKU ซึ่งห้างสรรพสินค้าอาจดูแลชั้นสินค้าไม่ทั่วถึง และหากสินค้าเราถูกขายออกไปแล้วไม่ได้มีการเติมเข้ามาใหม่อย่างทันท่วงที

จะทำให้สินค้านั้นไม่มีโอกาสในการขาย การมีพนักงานเรียงสินค้าของลูกค้าอยู่ประจำจุด จะช่วยเติมสินค้าได้อย่างสม่ำเสมอ สร้างโอกาสในการขายสินค้าเพิ่มขึ้น และช่วยรีเช็กสต๊อกได้ว่า ตอนนี้ยังมีสินค้าอยู่ในสต๊อกมากแค่ไหน ช่วยบริหารจัดการสินค้าหน้าร้านได้

 

บริการของ MCA ต้องวัดความสำเร็จได้

สิ่งที่ MCA สร้างความแตกต่างจากเอเจนซี่ทั่วไป คือ MCA มีเกณฑ์ชี้วัดความสำเร็จที่ชัดเจน โดย ภักดี เผยว่า สิ่งที่เราชัดเจนที่สุด คือ เราต้องแสดงให้เห็นว่า ลูกค้าจ่ายเงินจ้างเราแล้วจะได้รับอะไรตอบแทน โดยเรามีการกำหนด KPI ที่ชัดเจนว่า หากจ้างเราแล้วจะช่วยสร้างยอดขายให้กับลูกค้าได้เท่าไร ยอดขายต่อสาขาจะเติบโตอย่างไร และด้วยวิธีการไหน ซึ่งเป็นเอเจนซี่ที่ช่วยการันตี ยอดขาย หรือ ผลตอบแทนจากการลงทุนของลูกค้า (ROI) หากจบแคมเปญแล้ว ยังไม่ได้ถึงเป้าหมาย เราจะมีซ่อมให้เพื่อให้ได้ตามเป้าที่คุยกันไว้

“สิ่งที่เราแตกต่างจากคนอื่น คือ เรากล้าการันตี KPI เรามองว่า ต้องทำให้เห็นว่าลูกค้าจ่ายเงินเขาจะได้อะไร ต้องชี้วัดได้ เป็นจุดหนึ่งที่เราสร้างความได้เปรียบในการเข้าไปดูแลลูกค้า” ภักดี กล่าว

 

 

มาตรฐานระดับโลกที่ถูกเซตตั้งแต่วันแรก

 

ทั้งนี้การถูกจัดวางมาตรฐานการให้บริการให้สามารถวัดผลตอบแทนการลงทุนได้นั้น เป็นข้อกำหนดของลูกค้าบริษัทข้ามชาติ ซึ่งเขาจะต้องมีข้อมูลในการนำเสนอผลตอบแทนการลงทุนกลับไปยังบริษัทแม่ในต่างประเทศ ดังนั้นในเกณฑ์การเข้ารับงานแต่ส่วนจะมีข้อนี้ทั้งหมด ซึ่งในจุดเริ่มต้นของ MCA เรามีฐานลูกค้าเป็นต่างชาติ ซึ่งมีส่วนช่วยให้เราใช้เกณฑ์นี้ตั้งแต่แรก ด้วยมาตรฐานดังกล่าว ช่วยให้บริษัท สามารถรับงานได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

 

จุดเริ่มต้นของการเข้าตลาดหลักทรัพย์

              สำหรับแนวคิดการเข้าตลาดหลักทรัพย์นั้น ในช่วงที่ผ่านมาต้องย้อนกลับไปในช่วง บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน) หรือ AU เข้าไอพีโอในช่วงปี 2559 ซึ่งในเวลานั้นเป็นข่าวที่ดังมาก ซึ่งตนก็มีความสนใจ พบว่า ทั้ง 2 บริษัทมีรายได้และกำไรที่ใกล้เคียงกัน  และลองนำผลการดำเนินงานของ MCA ที่ผ่านมา ให้กับผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินได้ดู และถามว่า สามารถเข้าจดทะเบียนได้หรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบว่าได้ ก็เลยเดินหน้าในการเตรียมความพร้อมเข้าจดทะเบียนตั้งแต่วันนั้น

              โดย ภักดี มองว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีข้อดีหลายส่วน ทั้งการทำให้บริษัทมีระบบการจัดการที่ดีมากขึ้น โดยนำ ERP เข้ามาใช้ จัดระบบระเบียบด้วยบัญชี ให้มีมาตรฐาน และการระดมทุนจะช่วยย่นแผนที่เรามองว่าจะอาจจะใช้เวลาในการลงทุนอาจใช้เวลา 5 ปี แต่การได้รับเงินทุนจะช่วยให้เราโตได้เร็วขึ้น รับงานได้ขนาดที่ใหญ่ขึ้น ช่วยสร้างความเชื่อถือให้กับพันธมิตรทางธุรกิจด้วย

 

              อย่างไรก็ตาม บริษัทอยู่ระหว่างการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย MCA จะเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไป จำนวน 60 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็น 26.09% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายในครั้งนี้ เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ใน ต.ค. นี้

 

สำหรับการเติบโตของบริษัทที่ผ่านมา บริษัทยังสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะผ่านช่วงสถานการณ์ COVID-19 ที่เข้ามามีผลกระทบกับบริษัทโดยตรง แต่บริษัทยังปรับตัวและสามารถรักษาผลการดำเนินงานที่ดีและไม่ขาดทุนได้ ซึ่งหลังจากนี้อุตสาหกรรมและการจับจ่ายจะมีมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีและเป็นขาขึ้น ช่วยสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ MCA ด้วย

 

 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ