เปิดใจ พรอนงค์ เลขาฯ ก.ล.ต.คนใหม่ ภารกิจฟื้นเชื่อมั่นตลาดทุน สางปัญหา MORE-STARK

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เปิดใจ พรอนงค์ เลขาฯ ก.ล.ต.คนใหม่ ภารกิจฟื้นเชื่อมั่นตลาดทุน สางปัญหา MORE-STARK

Date Time: 10 ต.ค. 2566 15:42 น.

Video

วิธีเอาตัวรอดของ Wikipedia ไม่พึ่งโฆษณา ไม่มีค่าสมาชิก แต่อยู่มาได้ 23 ปี | Digital Frontiers

Summary

  • เปิดใจ พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คนใหม่ กับภารกิจสร้างความเชื่อมั่นของตลาดทุน ลุยสางปัญหาเคส MORE และ STARK พร้อมศึกษาตั้งกองทุนเยียวยาผู้เสียหาย

เป็นที่น่าจับตา หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง “พรอนงค์ บุษราตระกูล” ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คนที่ 8 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ท่ามกลางความท้าทายต่างๆ ที่เข้ามากระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทย โดยเฉพาะประเด็นของบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น MORE และ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น STARK 


พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า สิ่งที่เร่งด่วน คือการติดตามในประเด็นที่เป็นสาธารณะ ในกรณีใหญ่อย่าง MORE และ STARK หากพูดในบริบทของสำนักงาน ก.ล.ต. มองว่าได้ทำไปในระดับเต็มที่แล้ว และมีการตรวจสอบเชิงลึกอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทั้ง 2 เคส ได้ส่งต่อไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อดำเนินการต่อ หลังจากนี้ต้องมีการสื่อสารไปยังสาธารณะถึงความคืบหน้าในการดำเนินการต่างๆ ร่วมกันอีกครั้ง


ทั้งนี้ การสร้างความเชื่อมั่นของตลาดทุนในระยะถัดไป มองว่าประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ “ปราบ-ป้อง-ปราม” เพื่อจัดการความเสี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายอีกในอนาคต


ปราบ คือ การนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ และได้รับโทษอย่างเหมาะสม ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต.ให้ความมั่นใจว่ากระบวนการบังคับใช้กฎหมายปัจจุบันมีประสิทธิภาพ และจะมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อสื่อสารแก่สาธารณะต่อไป


ป้อง คือ การป้องกันไม่ให้เกิดกรณีแบบนี้ซ้ำอีก โดยเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วว่ามีจุดบกพร่องใด เพื่อยกระดับมาตรการป้องกันแก้ไข ทั้งในระดับเกณฑ์กำกับดูแล จนถึงในระดับบริษัทอย่างกรรมการตรวจสอบ ซึ่งมองว่าต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


ปราม คือ การดำเนินการไม่ให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง จากการพัฒนาระบบการตรวจสอบ และยกระดับการดำเนินการให้สามารถเข้าไปจัดการได้อย่างทันเวลา เมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดปกติ


อย่างไรก็ตาม สำนักงาน ก.ล.ต.จะมีการประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสีย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาวิธีดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และมีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม และระบบตลาดทุนในอนาคต


นอกจากนี้ ปัจจุบันอยู่ในกระบวนการศึกษาการตั้ง “กองทุนเยียวยาผู้เสียหาย” ซึ่งจะต้องนำมาสรุปผลและหาความเป็นไปได้ ว่าจะมีการดำเนินการในรูปแบบใด ภายใต้อำนาจหน้าที่ และบทบาทของสำนักงาน ก.ล.ต.


พรอนงค์ กล่าวอีกว่า สำหรับการดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ ในระยะเวลา 4 ปีข้างหน้า มองว่าบทบาทของสำนักงาน ก.ล.ต. จะยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาตลาดทุน และการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน เพื่อให้ตลาดทุนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทย ให้มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น


ขณะเดียวกัน มองว่าตลาดทุนจะเป็นช่องทางการระดมทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมของผู้ประกอบการทุกประเภทด้วยวิธีการระดมทุนที่มีความหลากหลาย พร้อมทั้งเป็นเครื่องมือในการออมระยะยาวของนักลงทุนด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ครอบคลุมทุกฐานความเสี่ยง อย่างไรก็ดี จะต้องสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจด้วย (Trust and Confidence) และต้องได้รับความร่วมมือจากองคาพยพในตลาดทุน


“ไม่อยากเห็นตลาดทุนเป็นแค่เรื่องของคนรวย อยากให้ตลาดทุนเป็นกลไกหลักในการที่ทำให้ประเทศไปสู่ความสามารถในการแข่งขัน และเป็นที่พึ่งให้ประชาชนไทยเข้ามาใช้ประโยชน์เพื่อส่งเสริมให้มีสุขภาพทางการเงินที่ดี” พรอนงค์ กล่าว


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ