ใกล้เข้ามาแล้ว สำหรับฤดูกาลประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3/66 ของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยคาดว่าจะเริ่มด้วย บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO ในช่วงเช้าวันที่ 12 ตุลาคมนี้ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ต่างคาดการณ์ว่าผลงานของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ จะยังได้รับประโยชน์จากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น แม้มองว่าจะใกล้เข้าสู่จุดสูงสุดของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า คาดกำไรสุทธิไตรมาส 3/66 ของกลุ่มธนาคารจะอยู่ที่ 4.72 หมื่นล้านบาท ลดลง 5% จากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุของการปรับลดลงเชิงไตรมาส คาดจะมาจากรายการที่ไม่ใช่รายการหลัก เช่น กำไรจากการปรับจากมูลค่าของหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของพอร์ตลงทุนที่ลดลง แต่คาดสัดส่วนรายการหลักจะเพิ่มขึ้น เช่น อัตราส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) และสัดส่วนต้นทุนต่อรายได้ ส่วนปัจจัยหนุนการเติบโตของกำไรสุทธิเมื่อเทียบกับปีก่อน คาดจะมาจาก NIM ที่สูงขึ้น จากอัตราเงินกู้มาตรฐานที่เพิ่มขึ้น 0.50-0.70% จากปีก่อน
ทั้งนี้ คาดคุณภาพสินทรัพย์อ่อนตัวลง แต่ของธนาคารบางแห่งยังแข็งแกร่ง โดยคาดว่าสัดส่วนหนี้เสีย (NPL) จะเริ่มปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้งในไตรมาส 3/66 มาอยู่ที่ 3.5% จาก 3.4% ในไตรมาส 2/66 จากสินเชื่อ SME และรายย่อย พร้อมคาดว่าทั้งการตัดจำหน่ายและการขายหนี้เสียจะปรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3/66
อย่างไรก็ดี คาดว่าต้นทุนความเสี่ยงของสินเชื่อที่ไม่ได้รับการชำระคืนเงินต้น (credit cost) จะทรงตัวจากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 0.22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 1.44% และคาดว่าธนาคารที่มีสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น เช่น KKP, SCB และ BAY จะรายงานหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าธนาคารที่มีสัดส่วนสินเชื่อธุรกิจระดับสูง เช่น KTB, TTB และ BBL
สำหรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดว่าธนาคารส่วนใหญ่จะเริ่มปรับเพิ่มปรับขึ้นอัตราเงินกู้ MLR/MOR/MRR ต่อไป และมองว่าการปรับขึ้นดังกล่าวถือเป็นนัยเชิงบวกเล็กน้อย เนื่องจากคาดจะช่วยกระตุ้น NIM ให้สูงขึ้นในไตรมาส 4/2566 จะช่วยบรรเทาผลกระทบโดยเฉพาะของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่โดยปกติค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจะสูงขึ้น เช่น BBL, BAY, SCB และ KTB สำหรับธนาคารขนาดเล็กคาดว่า TISCO จะยังคงกำไรสุทธิให้อยู่ในระดับเดิมไว้ได้จากอัตราสำรองต่อหนี้สูญ (coverage ratio) ระดับสูงและการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ ขณะที่คาดว่า KKP จะประสบกับความยากลำบากมากขึ้นจาก NIM ที่ลดลงและ credit cost ที่สูง
นอกจากนี้ บล.กสิกรไทย ปรับลดมุมมองของกลุ่มธนาคารลงเป็นกลางจากบวก ขณะที่ยังเลือก KTB และ BBL เป็นหุ้นเด่นสำหรับในปี 2567 คาดว่ากลุ่มจะน่าสนใจน้อยลง จากความเป็นไปได้ที่น้อยลงที่จะเพิ่ม NIM และลดต้นทุน ขณะที่คาดอัตราดอกเบี้ยนโยบายใกล้แตะระดับสูงสุดแล้ว โดยชอบธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มากกว่าขนาดเล็ก จากประโยชน์ที่คาดได้รับจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงขึ้น และผลบวกทางอ้อมต่อสินเชื่อธุรกิจจากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรที่สูงขึ้นในตลาด
ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกันว่า ฝ่ายวิจัยประเมินกำไรสุทธิกลุ่มธนาคาร (8 ธนาคาร) งวดไตรมาส 3/66 น่าจะอยู่ที่ราว 6 หมื่นล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาสก่อน แต่เติบโต 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งคาด BBL และ KTB อัตราการเติบโตจากไตรมาสก่อนสูงกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่ม ด้านภาพรวมการดำเนินงานมองว่า NIM ยังมีแรงหนุน จากดอกเบี้ยขาขึ้น แต่รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยถูกกดดันจากมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุนตามภาวะตลาดสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก ในเชิงคุณภาพสินทรัพย์ประเมินยังอยู่ในวัฏจักรขาขึ้นของ NPL จาก SME และสินเชื่อรายย่อย ทั้งเช่าซื้อรถยนต์และกลุ่ม HIGH YIELD
ปัจจุบันถือว่าหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังมีราคาที่ไม่แพง รวมทั้งคาดหวังอัตราผลตอบแทนในระดับมากกว่า 3% สำหรับกลยุทธ์การลงทุนหุ้นในกลุ่มเน้นเลือกลงทุนธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ อย่าง BBL จากคุณภาพสินทรัพย์แกร่งกว่ากลุ่ม สะท้อนผ่านอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารสูงสุดในกลุ่มฯ ประกอบกับสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยต่ำกว่ากลุ่มฯ จึงได้รับผลกระทบจากมาตรการ แก้หนี้ครัวเรือนของ ธปท. ต่ำกว่ากลุ่มฯ ส่วนธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก ชอบ TISCO ที่ซึ่งมีอัตราผลตอบแทนสูงกว่ากลุ่ม
นอกจากนี้ หากภาพรวมกำไรสุทธิไตรมาส 3/66 ออกมาตามคาดจะทำให้กำไรสุทธิ 9 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท เติบโต 15% จากปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน 80.5% ของประมาณการกำไรทั้งปีของฝ่ายวิจัยที่ 2.2 แสนล้านบาท หรือเติบโต 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เชื่อว่ายังสอดคล้องกับทิศทางกำไรสุทธิกลุ่มในไตรมาสที่ 4/66 ที่จะอ่อนตัวตามฤดูกาล จากค่าใช้จ่ายการตลาดของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ประกอบกับแนวโน้ม Credit cost มีโอกาสกระตุกตัวขึ้น เพราะเป็นช่วงก่อนสิ้นสุด มาตรการปรับโครงสร้างนี้ระยะยาวสิ้นปีนี้ จึงอาจเห็นการเร่งเคลียร์งบดุล (clean up balance sheet) ของแต่ละธนาคาร เพื่อเตรียมรองรับ NPL ระลอกใหม่ในปี 2567