สมาคมนักวิเคราะห์ฯ หั่นเป้าดัชนีหุ้นไทยปีนี้ เหลือ 1,606 จุด แนะรัฐเร่งออกโครงการลงทุน

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

สมาคมนักวิเคราะห์ฯ หั่นเป้าดัชนีหุ้นไทยปีนี้ เหลือ 1,606 จุด แนะรัฐเร่งออกโครงการลงทุน

Date Time: 2 ต.ค. 2566 16:27 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • - สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ลดเป้าดัชนีตลาดหุ้นไทยสิ้นปี 2566 อยู่ที่ 1,606 จุด จากเดิมคาด 1,630 จุด หลังแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยผิดคาด ราคาพลังงานพุ่ง และรัฐบาลเบิกงบช้ากว่าคาด
  • - แนะรัฐเร่งออกโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมช่วยเหลือภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยว และออกนโยบายช่วยเหลือภาคประชาชน
  • - พร้อมใจแนะเลี่ยงลงทุนหุ้น DELTA หลังมูลค่าเกินปัจจัยพื้นฐานไปมาก

Latest


สมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการและกรรมการผู้อำนวยการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เปิดเผยว่า ผลการสํารวจความเห็นสมาชิกนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนรวม 26 สํานัก เกี่ยวกับมุมมองการลงทุนในไตรมาส 4/66 ประเมินเป้าหมายดัชนีสิ้นปีลดลง เฉลี่ยที่ระดับ 1,606 จุด จากเดิมคาดที่ 1,630 จุด คาดทำจุดสูงสุดของเฉลี่ยที่ระดับ 1,619 จุด ส่วนจุดต่ำสุดอยู่ที่ 1,468 จุด


โดยสะท้อนปัจจัยกดดันหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% กดดัน Valuation ในตลาดหุ้นไทย สวนทางนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เคยคาดการณ์ไว้ ซึ่งนักวิเคราะห์บางสำนักคาดการณ์ไว้ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทุกๆ 0.25% จะกระทบต่อดัชนีตลาดหุ้นไทย 25-50 จุด


พร้อมกันนี้ ยังมีปัจจัยกดดันจากราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับสูง คาดจะกระทบต่อต้นทุนบริษัทจดทะเบียนในภาพรวม รวมถึงมองว่าการจัดตั้งรัฐบาลที่มีความล่าช้า ส่งผลให้การเบิกจ่ายงบประมาณช้ากว่าคาด


ทั้งนี้ ยังได้แนะนําไปยังรัฐบาลใหม่ เกี่ยวกับนโยบายที่จะมีผลบวกต่อภาวะเศรษฐกิจ มีความคุ้มค่ากับผลกระทบทางงบประมาณ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แยกเป็นการลงทุนภาครัฐที่หนุนศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ เร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น Land Bridge ถัดมาคือด้านการช่วยเหลือภาคธุรกิจ ได้แก่ นโยบายกระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศ โปรโมตและกระตุ้นการท่องเที่ยวไทย ดึงเงินลงทุนต่างชาติเข้ามาในอุตสาหกรรม New S-Curve และตามมาด้วยเสนอนโยบายช่วยเหลือภาคประชาชน ได้แก่ เร่งพัฒนาแรงงานไทย กระตุ้นการจ้างงาน ลดการแจกเงินทั่วไป เพิ่มการแจกเงินเฉพาะกลุ่ม รวมถึงช่วยเหลือภาระหนี้ของเกษตรกร ข้าราชการ


ขณะเดียวกัน ยังคาดการณ์กําไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ปี 2566 ของตลาดเฉลี่ยที่ 89.04 บาท ปรับลดจากผลสํารวจครั้งก่อน ซึ่งอยู่ที่ 93.21 บาทต่อหุ้น และครั้งนี้คาดการณ์ EPS Growth ของปี 2566 อยู่ที่ 6.51% ส่วนทางด้านคาดการณ์กําไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ปี 2567 ของตลาดเฉลี่ยจะขึ้นไปที่ 99.47 บาท และคาดว่า EPS Growth ของปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 12.03%


ส่วนคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2566 ลดลงมาเหลือ 2.85% จากเดิมที่ 3.38% (ก.ค. 66) ส่วนจีดีพีปี 2567 มองเป็นบวก คาดสามารถเติบโตได้ที่ 3.56% พร้อมคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ในปี 2567 มีนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ถึง 77.28% ที่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ 2.50%


สําหรับปัจจัยที่มีผลต่อทิศทางการลงทุนจนถึงสิ้นปี 2566 แบ่งเป็น ปัจจัยบวก นําโดยความคาดหวังผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนปี 2567 รองลงมาคือเศรษฐกิจภายในประเทศที่กําลังจะฟื้นตัว ต่อมาคือปัจจัยทางการเมืองในประเทศที่มีความชัดเจนขึ้น และเม็ดเงินลงทุนต่างชาติจะไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไทย


ส่วนปัจจัยด้านลบ นําโดยปัจจัยด้านการเมืองในต่างประเทศ รองลงมาคือเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกา ตามมาด้วยปัจจัยด้านเศรษฐกิจของโลก และทิศทางดอกเบี้ยในประเทศ


อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่แนะนําให้มีการกระจายพอร์ตการลงทุนไปยัง หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ กองทุนตราสารหนี้ ทองคํา และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ และแนะนําให้เพิ่มน้ําหนักการลงทุนในหุ้นไทย หมวดธุรกิจ ค้าปลีก พาณิชย์ การแพทย์ และการท่องเที่ยว ในขณะที่ให้ลดน้ําหนักการลงทุนในหมวดธุรกิจไฟแนนซ์และปิโตรเคมี


นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ได้ลงความเห็นหุ้นที่ควรหลีกเลี่ยงลงทุน ได้แก่ หุ้นของ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น DELTA เนื่องจากราคาเกินมูลค่าปัจจัยพื้นฐานไปมาก (ข้อมูลวันที่ตอบแบบสอบถาม 21-27 ก.ย. 66).


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ