จากลูกค้า สู่ เจ้าของ กรพัส สร้างธุรกิจแบบ “เก็บทุกเม็ด” ปั้น GFC สู่คลินิกผู้มีบุตรยากระดับ TOP

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

จากลูกค้า สู่ เจ้าของ กรพัส สร้างธุรกิจแบบ “เก็บทุกเม็ด” ปั้น GFC สู่คลินิกผู้มีบุตรยากระดับ TOP

Date Time: 25 ก.ย. 2566 07:00 น.

Video

บุกโรงงาน PANDORA ช่างไทยผลิตจิวเวลรี่ แบรนด์โลกแสนล้าน | On The Rise

เคยรู้สึกไหม เวลาเราเข้าไปรับบริการ เช่นร้านอาหารแล้วได้รับการดูแลที่ไม่ดี แล้วมีความรู้สึกว่า อยากเป็นเจ้าของร้านเพราะคิดว่าเราทำได้ดีกว่านี้ ความคิดเช่นนี้เกิดขึ้นกับ กรพัส อัจฉริยมานีกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) (GFC) นักธุรกิจด้านเสื้อผ้าที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้รับการรักษาในด้านการมีบุตรยาก เจอประสบการณ์ที่ไม่ดีนัก 


และจนโชคชะตาได้นำมาพบกับคุณหมอ พิทักษ์ เลาห์เกริกเกียรติ ที่รักษาจนประสบความสำเร็จและชักชวนกันเพื่อเปิด GFC คลินิกผู้มีบุตรยาก และนำทุกปัญหาที่เคยเจอ มาปรับดูแลลูกค้าจนเป็นคลินิกชั้นนำของไทย


กรพัส เปิดเผยกับ #ThairathMoney ว่า ธุรกิจคลินิกผู้มีบุตรยากนั้น ผมมองว่าน่าสนใจมาก จุดเริ่มต้นของผมกับภรรยา เราต้องการมีลูก และเริ่มปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการมีบุตร ไปรักษาหลายที่ไม่ประสบความสำเร็จ พบประสบการณ์รักษาที่ไม่ดีนัก คนรอบตัวเจอปัญหาเช่นนี้เหมือนกันจึงมองว่าเป็นโอกาส


“ผมต้องบอกว่าผมเป็นหนึ่งในเคสที่เคยไม่สำเร็จและมีประสบการณ์ที่ไม่ดีนักกับการรักษา ก่อนที่จะเจอ อ.พิทักษ์ ซึ่งเรามองว่าอาจารย์สามารถทำให้เราสำเร็จได้ และน่าจะเป็นโอกาสทางธุรกิจจึงได้ชักชวนกันเปิด GFC”

จากการศึกษาคนรอบตัวเราเพื่อนๆ นักธุรกิจ มีปัญหาเรื่องการมีบุตรเยอะมาก พวกเขาพร้อมที่จะไปหาคุณหมอที่ทำให้สำเร็จได้ ระยะทางไกลแค่ไหนไม่ใช่ปัญหา ค่าใช้จ่ายไม่เกี่ยง ขอให้สามารถรักษาได้จริง  ประกอบกับเทรนด์ทั้งโลกเริ่มมีลูกช้าลง น้อยลงเรื่อยๆ จนปัจจุบันคนเริ่มเห็นว่า ประชากรเกิดใหม่น้อยจนเข้าสู่ผู้สูงอายุ และคนไม่พอใช้ ต้องเร่งกระตุ้นให้คนมีลูก 


จุดเริ่มต้น GFC 


ผมจึงปรึกษาภรรยาและได้ชวนคุณหมอพิทักษ์มาเปิด GFC โดยในจุดตั้งต้นนั้น มีผู้ร่วมก่อตั้งทั้งสิ้น 5 คน โดยมีคุณหมอพิทักษ์ เป็นฝั่งของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมีบุตรยาก มีคุณหมอ ประมุข วงศ์ธนะเกียรติ เป็นแพทย์ด้านสูตินารี และเป็นนักลงทุน ซึ่งเป็นฝั่งที่คุณหมอพิทักษ์ชักชวนมา และมีผู้ก่อตั้งด้านนักวิทยาศาสตร์ รวมถึงผมที่เป็นผู้เคยเป็นลูกค้ามาช่วยในด้านการบริหาร ซึ่งเรามองว่าเป็นส่วนผสมที่ลงทุน 

“เรามองว่าจุดเริ่มต้นของ GFC มีความหลากหลายและลงตัวทั้งแพทย์ผู้รักษา นักวิทยาศาสตร์ หมอนักลงทุน และผู้บริหารที่เคยเป็นลูกค้า ทำให้เราสามารถนำจุดเด่นมาร่วมกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจได้”

สำหรับธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัท แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 

1. การให้บริการตรวจเบื้องต้นก่อนให้คำแนะนำหรือรักษา 

2. การให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี IUI (Intrauterine insemination) 

3. การให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection)

4. การให้บริการตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อน (Next generation sequencing : NGS) 

5. การให้บริการแช่แข็งไข่และการฝากไข่

GFC เราบริหารโดยใช้มุมมองของคนไข้ สร้างความแตกต่างคลินิกทั่วไปที่หมอมาบริหาร มุมมองของหมอกับคนไข้จะไม่เหมือนกัน มีหลายเรื่องที่แชร์กับคุณหมอ คุณหมอจะตกใจว่า ทำไมคนไข้คาดหวังอะไรขนาดนั้น เพราะการบริการด้านมีบุตรยากเป็นเรื่องของการรักษา เราจะแชร์กลับไปว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การรักษา แต่มองว่าต้องสำเร็จ คนไข้จะติดตามตลอด 


ตอนผมเป็นคนไข้จะเก็บทุกเม็ด คนไข้หลายคนรักษาจนจำได้ ผมเคยมีประสบการณ์เรื่องการลืมจ่ายยา คุณหมอมองว่านิดหน่อยแต่เรามองว่าแย่มาก  

ซึ่งในการดูแลของ GFC คุณหมอจะใส่ใจในการอธิบายละเอียด บางเคสจะอธิบาย 40-50 นาที ซึ่งต่อหน้าคุณหมอคนไข้อาจจะบอกว่าเข้าใจ บางครั้งเขาเกรงใจ ไม่กล้าถาม หลังพบคุณหมอเสร็จก็จะมีทีม CRM เข้าไปประกบอีก ยิ่งในกรณีที่ล้มเหลว คนไข้บางรายอาจจะเศร้าอยู่ พอออกมาจะมีคำถามมากมายจึงต้องคอยอธิบายและสร้างกำลังใจ


เพราะสุดท้ายหากความล้มเหลว แล้วอธิบายให้เข้าใจบางครั้งเคสต่อไปอาจสำเร็จ ซึ่งเป็นจุดที่เรามองว่า สำคัญที่สุด 


คนไข้ที่มาหา GFC จะเป็นคนที่ไม่ประสบความสำเร็จากคลินิกอื่น และเห็นคู่ดาราที่เราทำแล้วประสบความสำเร็จก็จะมาหาเรา โดยเฉลี่ยจะอายุประมาณ 35 ปี พอมาตรวจสุขภาพมีความเสี่ยงและมีปัญหาสุขภาพให้มีลูกยาก ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นทุกปี 

สตรีตั้งครรภ์อายุเพิ่มขึ้นทุกปี 


การทำการตลาดของเราแม้จะได้ผลจากปากต่อปาก แต่ว่าเรามีช่องทางการทำการตลาดเยอะ โซเชียลมีเดีย มี Facebook Live ให้คุณหมอคุยกับคนไข้ เรามีคนไข้หลายคน แม้จะไม่ใช่คนไข้ของเราอยากขอความเห็นก็พร้อมที่จะอธิบายและสร้างคอมมูนิตี้ 

เติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป 


อย่างไรก็ตามภายในอนาคต GFC จะเน้นการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยการเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อขยายสาขา 2 จุด คือ คลินิก GFC สาขาสุวรรณภูมิ-พระราม 9 จากปัจจุบันที่คลินิกเราถูกใช้อย่างเต็มศักยภาพไปแล้ว และต้องการสร้างศูนย์ใหม่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการเติบโต มีสถานที่ฝึกอบรบนักวิทยาศาสตร์รองรับการเติบโตในอนาคต รวมถึงโอกาสของการเปิดรับคนไข้ต่างชาติด้วย


ส่วนสาขาที่ 2 คือ อุบลราชธานี จากการเก็บสถิติเราพบว่า มีคนไข้ในฝั่งนั้นเข้ามารักษากับ GFC จำนวนมาก เราจึงมองว่าหากไปตั้งสาขาที่นั่นจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการแน่นอน และเปิดโอกาสในตลาดใหม่ๆ ที่ใกล้กับประเทศเพื่อนบ้านด้วย 

นอกจากนี้ยังมองโอกาสการขยายสาขาในภูมิภาคอื่นๆ เพิ่มเติมในอนาคต 

เชื่อแข่งขันกับโรงพยาบาลได้


สำหรับด้านการแข่งขัน มักจะถูกตั้งคำถามว่า จะสามารถแข่งกับธุรกิจโรงพยาบาลได้หรือไม่ แผนกการดูแลด้านมีบุตรยากนั้นสำหรับโรงพยาบาล จะเป็นเพียงแค่หน่วยหนึ่งของการรักษา 

ซึ่งโรงพยาบาลมีรายรับและรายจ่ายหลายส่วน ทำให้ทุกแผนกไม่ใช่ว่าจะมีกำไร ส่วน GFC เรามีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ สามารถบริหารต้นทุนได้ดีกว่า ซึ่งจุดนี้คือข้อได้เปรียบและแข่งขันได้ อีกทั้งในระยะหลังเราพบว่า คนไข้เริ่มหันไปหาคลินิกเฉพาะทางมากขึ้น ดังนั้นด้วยจุดเด่นที่มีอยู่จะทำให้เราสามารถแข่งขันได้ 


 


 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ