ความเคลื่อนไหวราคาหุ้นของ บริษัท พี.เอส.พี.สเปเชียลตี้ส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PSP ในช่วงเปิดการซื้อขายเป็นวันแรกช่วงเช้าวันนี้ เปิดตลาดที่ราคา 9.40 บาท เพิ่มขึ้น 51% จากราคาไอพีโอที่ 6.20 บาท และได้ทำราคาสูงสุดที่ 12.00 บาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 93% ระหว่างช่วงการซื้อขาย
สินธุ์ ครองพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พี.เอส.พี.สเปเชียลตี้ส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PSP เปิดเผยว่า ราคาเปิดหุ้น PSP วันนี้เหนือความคาดหมาย จากที่ผ่านมาภาวะตลาดหลักทรัพย์ซบเซามาต่อเนื่อง ซึ่งรู้สึกดีใจที่หุ้นของเราได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ที่สะท้อนจากราคาปรับตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดดในวันนี้
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าผลประกอบการในระยะยาว โดยรักษาอัตราการเติบโตของรายได้เฉลี่ยที่ระดับ 20% ต่อปี ใกล้เคียงกับในอดีตที่ผ่านมา จากการรักษายอดขายจากฐานลูกค้าในตลาดเดิมที่มีอยู่ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มุ่งเน้นความสามารถในการทำกำไรมากขึ้น พร้อมกับอยู่ระหว่างศึกษาการเข้าซื้อกิจการ (M&A) เพื่อให้สามารถรักษาระดับการเติบโตได้
นอกจากนี้ บริษัทมีแผนขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศมากขึ้น โดยคาดว่าสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศจะขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 30% จากปัจจุบันอยู่ที่ 15% ของรายได้รวม จากได้รับประโยชน์สูงสุด จากกิจกรรมการผลิตในภูมิภาคอาเซียนที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงลงทุนเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วย
สำหรับจุดเด่นของหุ้น PSP นั้น บริษัทเป็นผู้ให้บริการโซลูชันธุรกิจผลิตภัณฑ์หล่อลื่นแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการจัดหาวัตถุดิบ การออกแบบผลิตภัณฑ์ การผลิตผลิตภัณฑ์ การบรรจุผลิตภัณฑ์ การจัดเก็บและศูนย์กระจายสินค้า การให้บริการจัดการด้านโลจิสติกส์
จับตาหุ้น อาจพุ่งเกินเหตุ
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ระบุว่า ประเมินมูลค่าเบื้องต้นด้วยวิธี P/E ของอุตสาหกรรมที่ประมาณ 16 เท่าได้มูลค่าเหมาะสมที่ 6.80 บาท โดยบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง บริษัทปิโตรเคมีบางบริษัทมีธุรกิจผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นและมีแบรนด์เป็นที่รู้จัก เช่น PTT, Shell, Chevron ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดน้ำมันหล่อลื่นสำหรับยานยนต์ในประเทศไทยราวร้อยละ 22.7, 19.3 และ 5.3 ตามลำดับ ซึ่ง PSP อยู่ที่ร้อยละ 13.2 แต่ทั้งนี้การเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ทำได้ยาก เนื่องจากต้องขอใบอนุญาต ใช้ความเชี่ยวชาญ และเงินลงทุนที่สูง ซึ่งบริษัทมีความได้เปรียบในการมีธุรกิจครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain) และมีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมผลิตน้ำมันหล่อลื่น รวมทั้งมีส่วนแบ่งทางการตลาดของน้ำมันหล่อลื่น น้ำมันผสมยาง และน้ำมันหม้อแปลงรวมสูงที่สุดในประเทศไทย
นอกจากนี้ ทำเลที่ตั้งของบริษัทติดกับแม่น้ำ มีท่าเรือเป็นของตัวเอง ทำให้สามารถขนส่งวัตถุดิบและสินค้าได้อย่างสะดวก และช่วยประหยัดต้นทุนการขนส่งได้ รวมทั้งมีจุดแข็งด้านการวิจัยพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ และควบคุมคุณภาพให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้า ซึ่งในปัจจุบันบริษัทมีสูตรการผลิตน้ำมันหล่อลื่นกว่า 1,000 สูตร ขณะที่กำลังการผลิตของบริษัทและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ พร้อมสำหรับการเติบโตในอนาคตแล้ว ดังนั้นการระดมทุนตามวัตถุประสงค์จึงมีความเหมาะสม แต่มีประเด็นที่ต้องติดตามต่อ
ขณะที่สัดส่วนหลักของบริษัทอยู่ในธุรกิจยานยนต์ ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยมีภาพรวมที่ดีขึ้นในปีนี้ จากยอดผลิตรถยนต์ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา เติบโต 4.72% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง จากส่วนแบ่งทางการตลาดของรถยนต์ EV เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามอุปสงค์รถยนต์ EV ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันหล่อลื่นลดลง แต่ความต้องการน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยบริษัทมองว่ามีผลกระทบต่ออุปสงค์น้ำมันหล่อลื่นน้อย เนื่องจากยานยนต์ไฟฟ้าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปีในการเจาะตลาดประเทศไทย
ในแง่ของรายได้ รายได้ของบริษัทเติบโตขึ้นทุกปี แต่ผันผวนตามราคาวัตถุดิบ เช่น น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน ซึ่งบริษัทปรับราคาผลิตภัณฑ์ตามต้นทุนวัตถุดิบ รวมทั้งมีเป้าหมายในการเพิ่มยอดขายผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูง เช่น ผลิตภัณฑ์หล่อลื่นสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร และเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศ ซึ่งมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าในประเทศ จาก 15% เป็น 25% ภายในปี 2569 จึงคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตต่อไปได้
ส่วนต้นทุนขายของบริษัทที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา มีแนวโน้มลดลงในระยะถัดไป จากราคาน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่เริ่มลดลง ขณะที่อัตรากำไรสุทธิจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย หลังจากต้นทุนขายเริ่มต่ำลง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่บริษัทมีการตุนวัตถุดิบในช่วงกลางปี 65
ปัจจัยที่ต้องติดตามต่อ 1) การจ่ายชำระหนี้สินและการดำรงอัตราส่วนทางการเงินตามเงื่อนไขของสถาบันการเงิน 2) ความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์หล่อลื่นชนิดใหม่ 3) การเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่างประเทศ ส่วนความเสี่ยง 1) อุปสงค์การใช้รถยนต์ EV 2) ราคาและปริมาณเชื้อเพลิงในตลาดโลก 3) การกู้ยืมและความสามารถในการชำระดอกเบี้ย