วิทยุการบิน เป็นธุรกิจจัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจ “ผูกขาด” เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการจราจรของน่านฟ้าในแต่ละประเทศ เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงของแต่ละประเทศ จึงเป็นเรื่องยากที่บริษัทจากประเทศหนึ่ง จะได้รับสัมปทานในการบริหารจัดการเส้นทางบินของอีกประเทศหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้
โดย บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ “SAV” บริษัทลูกในกลุ่ม สามารถ คอร์ปอเรชั่น เป็นบริษัทสัญชาติไทย ที่เข้าไปให้บริการด้านวิทยุการบินบนน่านฟ้า ของกัมพูชา โดยได้รับสัมปทานตั้งแต่ปี 2001–2051 ซึ่งน่าจะมีเอกชนไม่กี่แห่งในโลกที่สามารถเข้าไปบริหารด้านการบินของประเทศอื่นได้
SAV รับรายได้จากเครื่องบินทุกลำที่ผ่าน กัมพูชา
ธีระชัย พงศ์พนางาม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAV เล่าจุดเริ่มต้นของการเริ่มไปให้บริการวิทยุการบิน ในประเทศกัมพูชา กับไทยรัฐมันนี่ ว่า จุดเริ่มต้นของการเข้าไปให้บริการวิทยุการบิน ต้องย้อนกลับไปช่วงปี 2542 ประเทศกัมพูชา มีแนวคิดจะยกระดับด้านการบิน มีการก่อสร้างสนามบินหลายแห่ง แต่ยังขาดในเรื่องวิทยุการบินที่ไม่สามารถลงทุนได้
“จุดเริ่มต้นการเข้าไปลงทุนในกัมพูชา คือ ในช่วงนั้นกัมพูชามีการพัฒนาประเทศและมีการก่อสร้างสนามบินหลายแห่ง แต่ยังติดขัดในเรื่องการควบคุมทางเดินอากาศ หรือวิทยุการบิน เราจึงเสนอเข้าไปติดตั้งและพัฒนาระบบให้กับทางกัมพูชา”
ซึ่งทางกลุ่มสามารถได้เสนอเข้าไปจะติดตั้งระบบการสื่อสารให้แลกกับสัมปทานในการดูแลด้านวิทยุการบินบนน่านฟ้ากัมพูชา โดยดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อบริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จํากัด (“CATS”) ซึ่ง SAV ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน ร้อยละ 100.00
ผลดังกล่าวทำให้ SAV ได้รับสัญญาสัมปทานในการบริหารจัดการน่านฟ้ากัมพูชาตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา โดยมีสัญญาสัมปทานให้บริการไปถึงปี 2594 หรือนับรวมเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 49 ปี
โดยปัจจุบันให้บริการทั้งสิ้น 6 แห่ง ได้แก่
แบ่งเป็นเที่ยวบินทั้งในและระหว่างประเทศ
สนามบินนานาชาติพนมเปญ (Phnom Penh International Airport)
สนามบินนานาชาติเสียมเรียบ (Siem Reap International Airport)
สนามบินนานาชาติสีหนุ (Sihanouk International Airport)
ให้บริการในประเทศ ได้แก่
สนามบินพระตะบอง (Battambang Airport)
สนามบินเกาะกง (Koh Kong Airport)
สนามบินสตึงเตรง (Stung Treng Airport)
สำหรับการรับรายได้นั้น ธีระชัย เผยว่า SAV จะทำหน้าที่ใน 4 ส่วน คือ 1. การบริหารจราจรทางอากาศ 2. การบริการระบบสื่อสาร ระบบช่วยการเดินอากาศ และระบบติดตามอากาศยาน 3. การบริการข่าวสารการเดินอากาศ 4. การบริการด้านออกแบบแบบแผนการบิน และการบริการด้านแผนที่การเดินอากาศ
การสร้างได้นั้นมี 3 ส่วน คือ 1. รายได้ค่าบริการสำหรับเที่ยวบินที่บินขึ้น-ลงในประเทศ 2. รายได้ค่าบริการสำหรับเที่ยวบินที่บินขึ้น-ลงระหว่างประเทศ 3. รายได้ค่าบริการสำหรับเที่ยวบินที่บินผ่านเขตน่านฟ้ากัมพูชา โดยในด้านรายได้นั้นจะมีการแบ่งสัดส่วนรายได้กัน ระหว่างบริษัท กับทางรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งการเติบโตนั้นจะเป็นไปตามความต้องการเดินทางทางอากาศที่จะเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ
การเก็บค่าบริการวิทยุการบริการทางการบิน จากการผ่านน่านฟ้ากัมพูชา นับเป็นหัวใจหนึ่งของการเติบโต ผู้บริหาร ของ SAV เผยว่า SAV โตได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ศักยภาพของสนามบินของกัมพูชา แต่ใช้การเติบโตของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเวียดนาม และ ฟิลิปปินส์ ที่มีการเติบโตของเที่ยวบินระหว่างประเทศมากขึ้น
ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการท่องเที่ยวไทยที่นักท่องเที่ยวจากเวียดนามให้ความนิยมเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ยังนับไปถึงการเดินทางของชาวเวียดนาม หรือฟิลิปปินส์ ไปยังทวีปยุโรป ที่จะช่วยให้การเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความต้องการใช้เครื่องบินและการเดินทางของเวียดนามในเวลานี้ ทะลุช่วงเวลาก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 ไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม SAV เปรียบเหมือนหัวใจของกลุ่ม สามารถ จึงมีคำถามว่า ทำไม กลุ่มสามารถ เลือกที่จะนำธุรกิจตัวนี้เข้าตลาดหุ้น ธีระชัย ตอบกับ Thairath Money ว่า ในกลุ่มสามารถเรามีการจัดโครงสร้างองค์กร และเราเชื่อมั่นในแวลูที่ซ่อนอยู่ใน SAV ซึ่งการเข้าตลาดหุ้นครั้งนี้จะเป็นการปลดล็อกมูลค่าของ SAV
“เรามองว่าการเข้าตลาดหุ้นจะช่วยปลดล็อกให้กับ SAV ในด้านแวลูที่ซ่อนอยู่อีกมาก ซึ่งทิศทางของธุรกิจก็มีความชัดเจนอยู่แล้ว เมื่อเข้าตลาดหุ้นและหากมีการตอบรับที่ดี สิ่งเหล่านี้จะสะท้อนกลับมาที่บริษัทแม่ด้วย”
อย่างไรก็ตาม SAV อยู่ระหว่างการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยจะเสนอขายหุ้น จำนวนไม่เกินร้อยละ 35.00 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัทฯ ในครั้งนี้ โดยแบ่งออกเป็น
1. หุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 64,000,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 10.00 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัทฯ ในครั้งนี้
2. หุ้นสามัญเดิมและจัดสรรหุ้นส่วนเกิน จำนวนไม่เกิน 181,500,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 28.36 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัทฯ
โดยมีที่ปรึกษาทางการเงินเป็นบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส และคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น ในช่วงกันยายนนี้