บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 2/66 บริษัทฯ มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ จำนวน 10,243 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิเท่ากับ 4,438 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.7 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ที่มีรายได้ที่เติบโตดี ส่งผลให้เกิดการประหยัดต่อขนาด และมีความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นจากการตัดจำหน่ายค่าธรรมเนียมจัดการเงินกู้ที่เกิดขึ้นครั้งเดียว จากการชำระคืนเงินกู้ยืมก่อนกำหนดของบริษัทซีพี แอ็กซ์ตร้า เพื่อลดต้นทุน และความเสี่ยงในการบริหารค่าใช้จ่ายทางการเงิน ในอนาคตสำหรับกำไรต่อหุ้นตามงบการเงินรวมในไตรมาส 2 ปี 2566 มีจำนวนเท่ากับ 0.48 บาท
สำหรับต้นทุนในการจัดจำหน่ายและค่าใช้จ่ายในการบริหารเท่ากับ 45,867 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ค่าใช้จ่ายกลุ่มต้นทุนในการจัดจำหน่ายมีจำนวน 38,430 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9 ในขณะที่ กลุ่มค่าใช้จ่ายในการบริหารมีจำนวน 7,437 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยประเภทค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นหลักๆ ประกอบด้วย ค่าสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนพนักงาน และค่าโฆษณาและส่งเสริม การขาย รวมถึงการขยายสาขา อย่างไรก็ตาม แต่ละกลุ่มธุรกิจยังคงมีการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างระมัดระวังและมีประสิทธิภาพ
คาดการณ์และแนวโน้มธุรกิจร้านสะดวกซื้อในปี 2566
นอกจากนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายการขยายสาขา โดยพัฒนาช่องทางการจำหน่ายสินค้าและบริการ ทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งรวมถึงการขยายเครือข่ายร้านสาขา ต่อเนื่องไปตามการขยายตัวของชุมชน โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แหล่งท่องเที่ยว และทำเลที่มีศักยภาพอื่นๆ เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ปรับเข้าสู่วิถี ชีวิตใหม่ (New Normal) และอำนวยความสะดวกและเข้าถึงความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด โดยบริษัทวางแผนที่จะลงทุนเปิดร้านสาขาใหม่ในประเทศไทยอีกประมาณ 700 สาขาในปี 2566 และมีเป้าหมายที่จะเปิดร้าน สาขาในประเทศกัมพูชาให้ครบ 100 สาขา รวมถึงเปิดสาขาแรกใน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปี 2566
ขณะเดียวกัน อัตราการเติบโตของรายได้ ส่วนใหญ่มาจากอัตราการเติบโตของยอดขายจาก ร้านสาขาใหม่ และอัตราการเติบโตของยอดขายเฉลี่ยจากร้านเดิม รวมถึง ยอดขายจากช่องทางอื่นๆ อาทิ 7-Delivery, All Online และ Vending Machine ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ อาทิ ระดับของอัตราเงินเฟ้อ ราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงาน และ การขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศ เป็นต้น
พร้อมกันนี้ บริษัทตั้งเป้าขยายอัตรากำไรขั้นต้นให้ได้อย่างต่อเนื่องจากปีก่อน โดยเน้นการ พัฒนาระบบในการคัดสรรสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น และผลักดันให้มีสัดส่วนของสินค้าที่กำไรขั้นต้นสูงเพิ่มขึ้น ทั้งจากสินค้ากลุ่ม อาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภค
และคาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 12,000-13,000 ล้านบาท แบ่งเป็น การเปิดร้านสาขาใหม่ 3,800-4,000 ล้านบาท การปรับปรุงร้านเดิม 2,900-3,500 ล้านบาท โครงการใหม่บริษัทย่อยและศูนย์กระจายสินค้า 4,000-4,100 ล้านบาท และสินทรัพย์ถาวร และระบบสารสนเทศ 1,300-1,400 ล้านบาท