ทริสเรทติ้ง ปรับลดเครดิต อนันดา เหลือ BB+ จาก BBB- เซ่นปม แอชตัน อโศก

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ทริสเรทติ้ง ปรับลดเครดิต อนันดา เหลือ BB+ จาก BBB- เซ่นปม แอชตัน อโศก

Date Time: 3 ส.ค. 2566 14:35 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • ทริสเรทติ้ง ลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ของ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) มาอยู่ที่ระดับ "BB+" จากระดับ "BBB-" หลังเห็นถึงแนวโน้มผลกระทบในด้านลบจากคำพิพากษาดังกล่าวที่จะมีต่อชื่อเสียงและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จากปม "แอชตัน อโศก"

ทริสเรทติ้ง ลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ของ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) มาอยู่ที่ระดับ "BB+" จากระดับ "BBB-" และลดอันดับเครดิตหุ้น กู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน ไม่มีประกันและไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการ (Hybrid Debentures) ของ บริษัทมาอยู่ที่ระดับ "B+" จากระดับ "BB"


ทั้งนี้ ในส่วนอันดับเครดิต Hybrid Debentures ของ บริษัทนั้น ทริสเรทติ้งจัดให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของบริษัท 3 ขั้น ซึ่งสะท้อนถึงสถานะด้อยสิทธิอย่างมากของตราสาร รวมถึงความเสี่ยงในการขอเลื่อนการชำระดอกเบี้ยที่เพิ่มมาก ขึ้นสำหรับ Hybrid Debentures ที่ออกโดยบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตองค์กรในระดับ NonInvestment Grade


ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังออกประกาศ "เครดิตพินิจ" แนวโน้ม "Negative" หรือ "ลบ" สำหรับอันดับเครดิตองค์กรและอันดับเครดิตหุ้นกู้ของบริษัทอีกด้วย 


ทั้งนี้ การลดอันดับเครดิต องค์กรและหุ้นกู้รวมทั้งการประกาศเครดิตพินิจดังกล่าวนี้สืบเนื่องมาจากคำพิพากษาของศาล ปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 27 กรกฏาคม 2566 ซึ่งให้ใบอนุญาตการก่อสร้างของ "โครงการแอชตัน อโศก" (Ashton Asoke) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในการนี้ การลดอันดับเครดิตจึงสะท้อนถึงผลกระทบที่อาจเกิดจากคำพิพากษาของศาลฯ ที่จะมีต่อสถานะทางเครดิตของบริษัท โดยมีแนวโน้มที่สถานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทที่อ่อนแออยู่แล้วจะถดถอยลงไปอีก รวมถึงจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการกู้ยืมใหม่ (รีไฟแนนซ์) อีกด้วย


ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาก่อนหน้าของศาลปกครองกลาง โดยที่ดินที่ เป็นทางเข้าของโครงการแอชตัน อโศก ซึ่งเป็นที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นั้นไม่อาจนำมาให้เอกชนใช้ในการพัฒนาโครงการได้ดังนั้น ใบอนุญาตการก่อสร้างที่ออก โดยหน่วยงานใดๆ ของรัฐนั้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากโครงการไม่มีสิทธิในทางเข้าออก อาคารของโครงการที่ถูกต้องตามกฎหมาย


ทริสเรทติ้งมองเห็นถึงแนวโน้มผลกระทบในด้านลบจากคำพิพากษาดังกล่าวที่จะมีต่อชื่อเสียงและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่จะมีต่อโครงการที่พัฒนาโดยบริษัท โดยกรณีดังกล่าวอาจจะเพิ่มความยากลำบากต่อบริษัทในการขายและโอนโครงการที่แล้วเสร็จต่อไปในอนาคต นอกจากนี้การรับรู้ในเชิงลบของตลาดทุนก็อาจจะส่งผลต่อความสามารถในการออกหุ้นกู้ใหม่ของบริษัทด้วยเช่นกัน


ในปัจจุบัน โครงการแอชตัน อโศก มีห้องชุดที่ยังขายไม่ได้มูลค่ารวมทั้งสิ้น 828 ล้านบาทจากมูลค่าโครงการทั้งสิ้นที่จำนวน 6.5 พันล้านบาท บริษัทถือหุ้น 51% ในโครงการแอชตัน อโศก ในขณะที่ SEA Investment Five Pte. Ltd. (บริษัทลูกของ Mitsui Fudosan Co., Ltd.) ถือหุ้นในส่วนที่เหลือ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทอาจจะต้องบันทึกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขาดทุนจากสินค้าคงเหลือที่ ประมาณ 300-400 ล้านบาทสำหรับงบการเงินในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 นอกจากนี้ บริษัท อาจจะต้องจัดสรรงบประมาณจำนวนมากเพื่อใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว โดยในสถานการณ์ที่ เลวร้ายที่สุดนั้น บริษัทอาจจะตัองชดใช้ความเสียหายให้แก่ลูกบ้านหากปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ในกรณีนี้ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะทำการฟ้องร้องต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากโครงการดังกล่าวต่อไป ซึ่งโดยปกตินั้นจะใช้เวลานานหลายปีกว่าที่จะมีข้อสรุป


ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2566 บริษัทมียอดภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 18 เดือนข้างหน้าจำนวน 1.34 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบด้วยเงินกู้ โครงการจำนวน 4.6 พันล้านบาทและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันอีกจำนวน 7.8 พันล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีสิทธิที่จะไถ่ถอนหุ้นกู้ Hybrid Debentures ที่จำนวน 1 พันล้านบาทในช่วงเดือนมีนาคม 2567 อีกด้วย


บริษัทมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้และไม่สามารถยกเลิกได้จำนวนประมาณ 2.7 พันล้านบาทและเงินสดในมือจำนวน 4.8 พันล้านบาท นอกจากนี้ บริษัท ยังมีที่อยู่อาศัยที่สร้างแล้วเสร็จเหลือขายในโครงการที่ปลอดภาระหนี้ซึ่งมีมูลค่าขายรวมทั้งสิ้นอีกประมาณ 2.1 พันล้านบาทซึ่งสามารถนำมาใช้เป็น หลักประกันสำหรับวงเงินกู้ใหม่ได้หากมีความจำเป็น อีกทั้งบริษัทยังมีแผนการจะขายเงินลงทุนซึ่งคาดว่าจะได้รับเงินสดสุทธิเข้ามาที่ประมาณ 3 พันล้านบาทเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่บริษัทอีกด้วย


ทริสเรทติ้งจะทำการทบทวนเครดิตพินิจของบริษัทอีกครั้งเมื่อปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไข และทริสเรทติ้งได้ทำการประเมินอย่างถี่ถ้วนเกี่ยวกับผลกระทบที่จะมีต่อสถานะเครดิตของบริษัทแล้ว ในระหว่างนี้ทริสเรทติ้งจะคอยติดตามพัฒนาการเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและจะพิจารณา ดำเนินการทบทวนอันดับเครดิตที่เหมาะสมต่อไป


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ