จับสัญญาณ KCG ก่อนเทรดพรุ่งนี้ บัวหลวง คาดกำไรปีนี้พุ่ง 64% พร้อมเปิด 5 ข้อควรรู้ก่อนซื้อ

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

จับสัญญาณ KCG ก่อนเทรดพรุ่งนี้ บัวหลวง คาดกำไรปีนี้พุ่ง 64% พร้อมเปิด 5 ข้อควรรู้ก่อนซื้อ

Date Time: 2 ส.ค. 2566 11:33 น.

Video

“ไทยรัฐ โลจิสติคส์” ถอดคราบ “ยักษ์เขียว” มุ่งสู่ขนส่งครบวงจร | Thairath Money Talk

Summary

  • KCG เตรียมเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์วันแรก 3 ส.ค. 66 หลังเคาะราคาไอพีโอที่ 8.50 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นพีอีที่ระดับ 17.33 เท่า โดยมีบริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน นักวิเคราะห์คาดกำไรปีนี้พุ่ง 64% พร้อมเปิด 5 ข้อควรรู้ก่อนซื้อ

Latest


ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับการเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ ของบริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KCG ในวันพรุ่งนี้ (3 ส.ค. 66) หลังเคาะราคาไอพีโอที่ 8.50 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นพีอีที่ระดับ 17.33 เท่า โดยมีบริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน


ทั้งนี้ KCG ถือเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเนยและชีส และเจ้าของแบรนด์บิสกิตชั้นนำในไทย หรือคุกกี้กล่องแดงที่คุ้นตากัน ในชื่อ “อิมพีเรียลคุกกี้” เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อลงทุนในการก่อสร้างและพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้า KCG Logistics Park การลงทุนซื้อเครื่องจักรเพื่อขยายกำลังการผลิต การชำระคืนเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงิน และเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ


คาดปีนี้กำไรโต 64%


บทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ประเมินกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติปี 2566 คาดว่าอยู่ที่ 326 ล้านบาท หรือเติบโต 64% จากปีก่อน และกำไรสุทธิปี 2567 คาดอยู่ที่ 401 ล้านบาท โต 23% ส่วนกำไรสุทธิปี 2568 คาดอยู่ที่ 473 ล้านบาท โต 18% จากปีก่อน การเติบโตของกำไรมาจากการเติบโตของสินค้าเดิม สินค้าใหม่ ช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ อัตรากำไรขั้นต้นที่สูงขึ้น และการขยายกำลังการผลิต ดังนี้


การเติบโตจากกลุ่มธุรกิจเดิม (organic growth) มีการเติบโต 6-8% ต่อปี ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหาร ชีส เนย ยีส แป้ง และบิสกิต ที่เป็นผลดีจากการเปลี่ยนแปลงความชื่นชอบของผู้บริโภคที่ชอบการพบปะพูดคุย สังสรรค์ ตามร้านอาหารและคาเฟ่ใหม่ๆ นำไปสู่การ เปิดร้านอาหาร คาเฟ่ หรือ Kiosk ร้านขนมต่างๆ นอกจากนี้อุตสาหกรรมอาหารยังหนุนด้วยการท่องเที่ยวที่มีการฟื้นตัวอย่างก้าวกระโดดหลังจากภาวะวิกฤติโควิด


ขณะเดียวกันการเติบโตจากผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จาก 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่สำคัญของบริษัทฯ และสินค้านวัตกรรมจาก KCG Excellence Center รวมถึงการขยายตัวไปในช่องทางการขายออนไลน์ มีการเติบโตรวมกัน 5-7% ต่อปี


พร้อมกันนี้อัตรากำไรขั้นต้น (Gross margin) สำหรับปี 2566-2568 คาดเฉลี่ยที่ลำดับ ซึ่งเพิ่มข้ึนจาก 28.7% ในปีก่อน ต้นทุนส่วนใหญ่ของ KCG มาจากต้นทุนอาหาร ประกอบไปด้วย น้ำมัน เนย ชีส และน้ำมันปาล์ม โดยกำไรขั้นต้นปรับตัวลดลงกว่า 30% ในปี 2565 จากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น และในปี 2566-2568 คาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบลดลง


นอกจากนี้ผลประกอบการที่ผ่านมา KCG มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติเพิ่มข้ึนจาก 240 ล้านบาท ในปี 2562 เป็น 279 ล้านบาท ในปี 2563 และ 303 ล้านบาท ในปี 2564 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย 12.3% ต่อปี แม้ในภาวะวิกฤติโควิด หนุนโดยกลยุทธ์การบริหารพอร์ตโฟลิโอสินค้า และช่องทางการจัดจำหน่ายที่สมดุล  โดยล่าสุด KCG รายงานกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติไตรมาส 1/66 ที่ 52.5 ล้านบาท เติบโต 104.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากยอดขายที่เพิ่มขึ้น


5 ข้อสำคัญ ก่อนซื้อ KCG


บล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์ว่า 5 ประเด็นสำคัญในการลงทุนในหุ้น KCG มีดังนี้


1.) KCG เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเนยและชีสแบรนด์อันดับ 1 ของไทย จากอยู่ในอุตสาหกรรมอาหารมากว่า 60 ปี มีส่วนแบ่งการตลาดผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์เนยและชีส คิดเป็น 55.0% และ 36.1% ตามลำดับ (สูงทิ้งห่างผู้เล่นอันดับ 2-5) และมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ใน 5 อันดับแรก สำหรับผลิตภัณฑ์ประกอบอาหาร และเบเกอรี่ และผลิตภัณฑ์บิสกิตอีกด้วย


2.) อุตสาหกรรมอาหารตะวันตกและเบเกอรี่ มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมอาหารได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นๆ แต่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และกลับมามีมูลค่าสูงกว่าช่วงก่อนวิกฤติโควิดได้ตั้งแต่ปี 2565 หนุนโดยการเปลี่ยนแปลงความนิยมของผู้บริโภคในอาหารตะวันตกและเบเกอรี่ที่มีมากขึ้น การขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ชีสสำหรับอาหารบรรจุสำเร็จ โดย Euromonitor คาดการณ์การเติบโตเฉลี่ยของมูลค่าตลาดเนยและชีสในประเทศไทยปี 2566-2569 อยู่ที่ 6-8% ต่อปี


3.) ธุรกิจ KCG มั่นคง ยืดหยุ่น ฟื้นตัวเร็วจากวิกฤติโควิด คาดการณ์กำไรโตเฉลี่ย 20.3% ต่อปี (CAGR) มีความโดดเด่นเรื่องความหลากหลายของกลุ่มสินค้า (เนยและชีส, ผลิตภัณฑ์ประกอบ อาหารและเบเกอรี่, บิสกิต) กลุ่มลูกค้า (ราคาสินค้าคุณภาพสูง, ราคามาตรฐาน, ราคาประหยัด) กลุ่มผู้จัดหาวัตถุดิบ (160 บริษัท) และช่องทางการจัดจำหน่าย (B2B, B2C, Online, ส่งออก) ทำให้เกิด economies of scale พร้อมทั้งสามารถปรบกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ ของไทยและโลก


4.) ในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรม KCG มีความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเติบโตไปกับเมกะเทรนด์ จากมีกลยุทธ์ที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมให้ดียิ่งข้ึน รวมถึงการพัฒนา และออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการและรสนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เสริมความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจ ผ่าน KCG Excellence Center และเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมในรูปแบบใหม่ ภายใต้ตอนเซปต์ “Beyond Dairy” โดยการต่อยอดผลิตภัณฑ์เนยและชีสรูปแบบเดิมให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ในตลาด


5.) KCG มีแผนขยายกำลังการผลิตรองรับการเติบโต โดยมีแผนการลงทุนเพื่อก่อสร้าง และพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้า KCG Logistics Park แผนการขยายกำลังการผลิต โรงงานชีส เนย และการเพิ่มระบบ Automation ในการผลิต คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2566-2567 โดยจะสามารถรองรับความต้องการผลิตภัณฑ์ของลูกค้าได้ถึงปี 2572.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ