“เพจหลอกลงทุน” อาละวาดหนัก ความเสียหายพุ่ง 1.15 หมื่นล้าน ตลท.จับมือพันธมิตร เร่งปราบปราม

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

“เพจหลอกลงทุน” อาละวาดหนัก ความเสียหายพุ่ง 1.15 หมื่นล้าน ตลท.จับมือพันธมิตร เร่งปราบปราม

Date Time: 24 ก.ค. 2566 16:59 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • “เพจหลอกลงทุน” เกิดขึ้นจำนวนมาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์กรภาคตลาดทุน องค์กรธุรกิจ และหน่วยงานรัฐ ประกาศเจตนารมณ์ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” เร่งปราบปราม-ป้องกัน

สถานการณ์ปัญหาที่มิจฉาชีพแอบอ้างบริษัทจดทะเบียนชื่อดัง หรือหน่วยงานในภาคตลาดทุน เพื่อหลอกลวงให้ประชาชนเข้ามาลงทุนผ่านสื่อโซเชียลมีเดียเกิดขึ้นจำนวนมาก ด้วยการการันตีผลตอบแทนระดับสูง สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนที่หลงเชื่อ รวมถึงกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง


ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์กรภาคตลาดทุน องค์กรธุรกิจ และหน่วยงานรัฐ ประกาศเจตนารมณ์ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” แลกเปลี่ยนข้อมูล ตรวจสอบและชี้เป้าข่าวปลอม พร้อมรณรงค์เตือนตอกย้ำประชาชนสร้างภูมิคุ้มกันด้วยสติ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพหลอกลงทุน


นำโดย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงาน ก.ล.ต. สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี


นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ข้อมูลจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโลยี (บก.ปอท.) ระบุว่า คดีอาชญากรรมออนไลน์ที่คนตกเป็นเหยื่อสูงสุดในช่วงที่ผ่านมา (1 มีนาคม 2565 ถึง 28 มิถุนายน 2566) หนึ่งในนั้นคือ คดีหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ สูงถึง 23,545 ครั้ง สร้างมูลค่าความเสียหายสูงสุด 1.15 หมื่นล้านบาท


ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในฐานะแพลตฟอร์มการลงทุนของประเทศ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาคตลาดทุน ริเริ่มโครงการ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” โดยในเฟสแรก จะร่วมกันสื่อสารโดยตีแผ่ข้อเท็จจริง ชี้เป้าข่าวเท็จ ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ สร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้ลงทุนและประชาชนไม่ให้เป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ผ่านช่องทางของพันธมิตร และสื่อในหลากหลายรูปแบบที่เข้าถึงประชาชนในวงกว้าง และในเฟสถัดไปจะมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งภาคตลาดทุนและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อพัฒนากระบวนการในการจับปลอมหลอกลงทุนได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


ทั้งนี้ เชื่อว่าผู้กระทำความผิดส่วนใหญ่ไม่ได้อาศัยอยู่ในประเทศไทย จึงต้องเร่งการดำเนินการเพื่อป้องกันความเสียหายให้ได้รวดเร็วที่สุด ซึ่งโครงการดังกล่าวจะนำมาสู่ความร่วมมือในการส่งต่อข้อมูลได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการตรวจสอบ และนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดได้เร็วยิ่งขึ้น


นายภากร กล่าวอีกว่า สำหรับภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยปัจจุบันนั้น มองว่านักลงทุนให้ความสำคัญกับการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนเป็นสำคัญ ซึ่งแต่ละบริษัทอาจมีความแตกต่างกัน เช่น บางบริษัทอาจอิงการทำธุรกิจในต่างประเทศเป็นหลัก ทำให้เชื่อว่าประเด็นการเมืองในประเทศนั้น ไม่ได้กระทบต่อตลาดหุ้นไทยมากนัก


ที่ผ่านมาตลอด 20-30 ปีนั้น ตลาดหุ้นไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเผชิญกับสภาวะทางการเมืองแบบใด ขณะที่การไหลเข้าออกของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจในประเทศไทยมีการเติบโตได้ดี เชื่อว่าเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติจะไหลเข้ามาอีกครั้ง


ด้าน นายธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) กล่าวว่า กลโกงหลอกให้ลงทุนทางออนไลน์ เป็นหนึ่งในภัยคุกคามซึ่งสร้างความเสียหายต่อประชาชนจำนวนมาก โดยมักแอบอ้างชื่อหรือโลโก้ของ ก.ล.ต. หน่วยงาน บริษัท รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องในภาคตลาดทุน ผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยในช่วงครึ่งปีแรก สำนักงาน ก.ล.ต. มีการกล่าวโทษผู้กระทำผิดเกี่ยวกับคดีดังกล่าวแล้วร่วม 10 ราย และอยู่ระหว่างขั้นตอนการส่งเรื่องไปยังศูนย์ต้านข่าวปลอมอีก 37 ราย


ขณะเดียวกัน ก.ล.ต. ตระหนักถึงปัญหาของภัยหลอกลวงที่ขยายวงกว้างมากขึ้นในปัจจุบัน และที่ผ่านมาได้ดำเนินการในหลายมิติเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนและประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่เพียงพอและสามารถปกป้องตนเองจากภัยดังกล่าว ซึ่งโครงการดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังของทุกภาคส่วน ที่จะช่วยกันป้องปรามการหลอกลงทุน


ด้าน นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วันนี้เหมือนตกเป็นผู้ต้องหา ที่ทำให้หลายคนต้องสูญเสียทรัพย์เป็นวงกว้าง จากการหลงเชื่อสิ่งที่มิจฉาชีพนำสิ่งต่างๆ ไปแอบอ้าง ซึ่งทางบริษัทได้ออกประกาศเตือนไปตั้งแต่ปีที่แล้ว และมีการดำเนินคดีมิจฉาชีพอย่างต่อเนื่องมากกว่า 50 ราย


ทั้งนี้ อยากเน้นย้ำว่า ไม่เคยมีการชวนใครมาลงทุนใดๆ ทั้งโดยส่วนตัว หรือในนามบริษัท และข้อความการชักชวนลงทุนบนสื่อโซเชียลมีเดียที่ทุกคนเห็นนั้นเป็นของปลอมทั้งสิ้น ซึ่งทำออกมาแนบเนียนมาก อย่างไรก็ดี หากมีผู้สนใจลงทุนจริงๆ มีเพียงช่องทางเดียวคือการลงทุนในหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเท่านั้น


ปัจจุบันการจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ลดลงไปนั้นเป็นไปได้ยาก หากการบังคับใช้กฎหมายยังมีความไม่เด็ดขาด ขณะที่เคสการหลอกลวงก็มีจำนวนมาก ทำให้ภาครัฐมีบุคลากรไม่เพียงพอต่อการจัดการ


ดังนั้น วิธีการที่เห็นว่าสมควรทำคือการยึดแนวทางการจัดการของประเทศจีน หรือประเทศสิงคโปร์ เป็นแบบอย่าง ซึ่งมีความเด็ดขาดในการจัดการอาชญากรรมทางไซเบอร์ผ่านกฎหมาย และมีการดำเนินการอย่างจริงจัง ประกอบกับจะต้องมีความร่วมมือกับต่างประเทศ ในการประสานงานหาผู้กระทำผิด เพื่อนำไปสู่การจับกุมและนำตัวมิจฉาชีพมาลงโทษ ซึ่งหากแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้ ความเสียหายจะบานปลาย อาจมีมูลค่าถึงแสนล้านบาทต่อปี.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ