ย้อนรอย 3 หุ้นฉาว สะเทือนตลาดหุ้นไทยครึ่งแรกปี 2566

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ย้อนรอย 3 หุ้นฉาว สะเทือนตลาดหุ้นไทยครึ่งแรกปี 2566

Date Time: 4 ก.ค. 2566 15:41 น.

Video

สาเหตุที่ทำให้ Intel อดีตยักษ์ใหญ่ชิปโลก ล้าหลังยุค AI | Digital Frontiers

Summary

  • ย้อนรอย 3 เคส หุ้นชื่อดัง สร้างผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมเกินกว่าแสนล้านบาท กับ "MORE : มอร์ รีเทิร์น กับการปล้นเงินโบรกเกอร์" "STARK : สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น ตกแต่งบัญชี เสียหายแสนล้าน" และ "ALL : ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ กับปัญหาหุ้นกู้"

ตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมา เกิดเหตุการณ์สร้างผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยเป็นจำนวนมาก วันนี้ #ThairathMoney จะพาไปย้อนรอย 3 เคส หุ้นชื่อดัง ที่ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 สร้างผลกระทบคิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมเกินกว่าแสนล้านบาท


MORE : มอร์ รีเทิร์น กับการปล้นเงินโบรกเกอร์   


เริ่มกันที่เคสแรก ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2565 คาบเกี่ยวถึงปีนี้ อย่าง บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE ที่ถือว่าสร้างความสะเทือนขวัญให้กับตลาดหุ้นไทย จากการสร้างความเสียหายอย่างมาก โดยเฉพาะกับบริษัทหลักทรัพย์ หรือ “โบรกเกอร์” เรียกได้ว่าเป็นการโกงโบรกเกอร์ครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทย ซึ่งนักลงทุนรายย่อยต่างก็เสียหายไปตามๆ กัน จากราคาหุ้นที่ผันผวนรุนแรง


เริ่มจากวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ได้พบปริมาณการซื้อขายหุ้น MORE ที่ผิดปกติ ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่ามีการตั้งซื้อขายหุ้นกระจายในหลายโบรกเกอร์ และมีกระแสข่าวว่านักลงทุนรายใหญ่ตั้งนอมินีมารับซื้อหุ้นที่ขายด้วยบัญชี Margin หรือการกู้เงินบริษัทหลักทรัพย์มาซื้อหุ้น มูลค่ารวมสูงกว่า 4,500 ล้านบาท 


ต่อมาเกิดการผิดนัดชำระค่าหุ้นจากนักลงทุนในโบรกเกอร์ “ฝั่งซื้อ” หลายแห่ง แม้สำนักหักบัญชีจะได้รับการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์จากบริษัทสมาชิกทุกรายแล้วก็ตาม

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ยังมีกรณีซ้อนขึ้นมาคือ กรณีบริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ นำเงินลูกค้าไปจ่ายค่าหุ้น MORE จนทำให้บริษัทมีฐานทุนไม่เพียงพอ อีกทั้งยังไม่นำเงินลูกค้าแยกออกจากกิจการ จนนำไปสู่การมีคำสั่ง ก.ล.ต.เพิกถอนใบอนุญาต และต้องปิดดำเนินการในที่สุด


ต่อมาตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้หารือร่วมกับบริษัทสมาชิก สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อตรวจสอบธุรกรรมเกี่ยวกับหุ้น MORE ที่อาจเข้าข่ายเป็นรายการที่ผิดปกติ และต่อมา ปปง.ได้ทำการอายัดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับรายการซื้อขายดังกล่าวมูลค่ารวมกว่า 5,000 ล้านบาท


ล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 สำนักงาน ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษกลุ่มบุคคลรวม 32 ราย กรณีการสร้างราคา หรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ MORE และพบข้อเท็จจริง รวมถึงพยานหลักฐานที่สนับสนุนให้เชื่อได้ว่ากลุ่มบุคคลนั้นร่วมกันกระทำการสร้างราคา หรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ MORE ในช่วงระหว่างวันที่ 18 ก.ค. - 10 พ.ย. 2565 ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างกระบวนการทางกฎหมาย


เหตุการณ์นี้ในครั้งนั้นนับว่าสร้างความเสียหายให้กับบริษัทหลักทรัพย์อย่างมาก เพราะทำให้โบรกเกอร์หลายแห่งต้องตั้งเงินสำรองเป็นจำนวนมาก และทำให้บริษัทหลักทรัพย์บางแห่งต้องปิดตัวลงไปด้วย


STARK : สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น ตกแต่งบัญชี เสียหายแสนล้าน


หลังจากผ่านวิกฤติหุ้น MORE ไม่นาน ความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นไทยก็ต้องเผชิญกับกรณีทุจริตใน บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK อีกครั้ง ซึ่งเคสนี้สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนรายย่อย ทั้งตลาดหุ้นและหุ้นกู้ จากการร่วมกันตกแต่งบัญชีลวงโลก สร้างทั้งออเดอร์และลูกหนี้ปลอม แถมมีการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้กรมสรรพากรเพื่อความแนบเนียน


ย้อนไปเมื่อปี 2562-2565 หลังจากที่บริษัทได้ทำการ backdoor listing เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สำเร็จ และเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจมาเป็นการขายสายไฟอย่างเต็มรูปแบบ ก็มีผลประกอบการที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาหุ้นเคลื่อนไหวได้ดี เนื่องจากเป็นที่น่าจับตาของนักลงทุนรายย่อยและกองทุนอย่างมาก


จุดเริ่มต้นของความอลเวงนี้เกิดจากแผนการเข้าซื้อหุ้นใน LEONI Kabel GmbH ในปี 2565 พร้อมเพิ่มทุนจดทะเบียนผ่านการจัดสรรหุ้นสามัญ เพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP) และการออกหุ้นกู้ แต่สุดท้ายก็มีการยกเลิกดีลซื้อธุรกิจในเวลาต่อมา


ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน 2566 STARK ขอเลื่อนส่งงบการเงินถึง 3 ครั้ง โดยให้เหตุผลว่าข้อมูลบางส่วนอยู่ระหว่างการดำเนินงาน พร้อมกรรมการและผู้บริหารทยอยลาออกต่อเนื่อง รวมถึง “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” และ “ชินวัฒน์ อัศวโภคี” ทำให้ “วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ” ต้องลงมาคุมเกมเอง 


ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์สั่งพักซื้อขายหุ้น ก่อนเปิดให้ซื้อขายอีกครั้งในช่วง 1-30 มิถุนายน 2566 นักลงทุนเทขาย ทำให้ราคาหุ้นดิ่งติดฟลอร์ต่อเนื่อง ส่งผลให้มูลค่าบริษัทลดลงอย่างมหาศาล


เรื่องราวต่างๆ ได้ถูกเฉลยในเดือนมิถุนายน 2566 หลัง STARK ได้แจ้งงบการเงินงวดปี 2565 และงบการเงินปี 2564 ฉบับที่ตรวจสอบบัญชีโดย PwC มายังตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรากฏว่าพลิกเป็นขาดทุนกว่า 15,000 ล้านบาท ด้านผู้สอบบัญชียังได้รายงานความผิดปกติหลายรายการที่ขัดต่อข้อเท็จจริง เช่น มีการสร้างรายได้และลูกหนี้เทียมจากบริษัทย่อย


ต่อมา สำนักงาน ก.ล.ต. พร้อมด้วยผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้บริหาร 9 องค์กรสำคัญในตลาดทุน ร่วมแถลงเกี่ยวกับการทุจริตตกแต่งบัญชี แจ้งและรายงานข้อมูลอันเป็นเท็จของ STARK ที่สร้างความเสียหายมหาศาลให้ตลาดทุน โดยเฉพาะเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้น เบื้องต้นประเมินความเสียหายว่าอาจจะสูงถึง 34,000 ล้านบาท จากหุ้นกู้ 5 รุ่น และความเสียหายจากการทุจริตงบการเงิน ยังไม่นับรวมมูลค่าตลาด (Market Cap) ที่ราคาหุ้น STARK ลดลงอย่างรวดเร็ว


ขณะที่ฝั่งผู้ถือหุ้นกู้ก็มีเสียหายไม่แพ้กัน จากบริษัทผิดนัดชำระผู้ถือหุ้นกู้จำนวน 2 รุ่น และยังเป็นเหตุให้เกิดการผิดนัดชำระไขว้กับหุ้นกู้ชุดที่เหลือ โดยสมาคมตราสารหนี้ไทย และสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนหุ้นไทย ได้สรุปความเสียหายจากกรณีผู้ถือหุ้น และหุ้นกู้ของ STARK พบว่ามีผู้เสียหายรวม 6,287 ราย มูลค่าความเสียหาย 13,000 ล้านบาท


ขณะที่ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ออกหมายเรียกอดีตผู้บริหาร STARK 2 ราย ได้แก่ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการบริษัท และนายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ อดีตกรรมการและ CFO บมจ.สตาร์คฯ เพิ่มรับทราบข้อกล่าวหาในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์


ALL : ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ กับปัญหาหุ้นกู้


หลังจากฝุ่นตลบได้ไม่นาน วี่แววของวิกฤติความเชื่อมั่นใหม่ที่นักลงทุนจะต้องเผชิญก็ได้เกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงต้นปี 2566 จากหุ้นของบริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALL หลังเจอปัญหาสภาพคล่อง เป็นเหตุให้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ พร้อมความเคลื่อนไหวราคาหุ้นดิ่งจนเหลือ 0.07 บาท สะเทือนทั้งตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นกู้


ล่าสุด ผู้แทนหุ้นกู้ส่งหนังสือให้ชำระหนี้หุ้นกู้โดยพลันจำนวน 4 ชุด โดยให้บริษัทชำระเงินต้นคงค้างทั้งหมดภายใต้หุ้นกู้ รวมถึงดอกเบี้ยที่ค้างชำระ ตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดสิทธิที่คำนวณจนถึงวันที่ผิดนัดให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ มูลค่าราว 1,483 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราบวกเพิ่ม 2% จากอัตราดอกเบี้ยปกติและจำนวนเงินนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไป จนกว่าบริษัทจะชำระหนี้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2566


อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามต่อว่าบริษัทจะสามารถดำเนินการชำระหนี้ดังกล่าวได้ตามกำหนดหรือไม่ และแนวทางในการบริหารจัดการของบริษัทจะเป็นอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อผู้ถือหุ้นกู้นับพันราย และบ่อนทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อไปในอนาคต.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ