ในช่วงที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนถูกบั่นทอน ผลตอบแทนของดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ลดลง 11% จากต้นปี แย่กว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นในเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2% สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำมาก แม้หน่วยงานที่ กี่ยวข้องจะออกมาสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดทุนแต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นทำให้สภาพคล่องลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดเหลือเพียง 4.7 หมื่นล้านบาทต่อวัน ในไตรมาส 2/66 จาก 6.3 หมื่นล้านบาทต่อวันในไตรมาสก่อน
นอกจากจะเป็นเพราะการจัดตั้งรัฐบาลที่ใช้เวลานานเกินไป ยังมีประเด็นธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ESG ที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสำคัญในปัจจุบัน และความผันผวนของหุ้นขนาดเล็ก ยังไปบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้แย่ลงไปกว่าเดิมด้วย กดดันให้กระแสเงินทุนไหลออก และสร้างความผันผวนให้กับตลาดทุนไทยด้วย
บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ คาดว่าจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1.5 เดือนที่ความเชื่อมั่นและสภาพคล่องในการซื้อขายจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ขณะที่ผลการทดสอบชุดหุ้นใน Yuanta Universe ที่ได้ Yuanta ESG Rating ระดับสูง ยังให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดภายใต้ความผันผวนที่ไม่ต่างกัน ซึ่งสะท้อนว่าหุ้นชุดนี้ได้รับผลกระทบจากความเชื่อมั่นที่ลดลงในระดับจำกัด เราจึงนำปัจจัยด้าน Yuanta ESG Rating + CG Score + แนวโน้มผลประกอบการ มาคัดกรองชุดหุ้นที่น่าสนใจเพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุนระหว่างรอความเชื่อมั่นฟื้นตัว 11 หลักทรัพย์ ได้แก่ ADVANC, AOT, BEM, CENTEL, CPALL, OSP, SCB, SCC, WHA, MAJOR และ SABINA
นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ Thairath Money ว่า ปัจจุบันใน Yuanta Universe มีการรวบรวมข้อมูลของหุ้นทั้งหมดจำนวนราว 170 หุ้น ซึ่งมีการให้คะแนนด้าน ESG ไปแล้วกว่า 90% และได้นำคะแนนที่ได้นั้นมาจัดอันดับ
ในเกณฑ์การคัดกรองหุ้นกลุ่มดังกล่าวจะให้น้ำหนักกับ CG Score หรือคะแนนด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของ ESG ที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบันของตลาดหุ้นไทยที่มีความไม่เชื่อมั่นเรื่องธรรมาภิบาลของบริษัท จากกรณีของ STARK และ MORE ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้
สำหรับเกณฑ์การจัดอันดับ และให้คะแนน ที่ได้มาซึ่งรายชื่อทั้ง 11 หุ้นนั้น พิจารณาจาก ESG Rating ประกอบด้วยการดูแลสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม และธรรมาภิบาล ร่วมกับ CG Score หรือคะแนนด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี และแนวโน้มผลประกอบการที่คาดว่าจะมีการเติบโตในปีนี้จนถึงปีหน้า ซึ่งอยู่ในคอนเซปต์ “หุ้นที่ถูก ดี และมีคุณภาพ”
อย่างไรก็ดี เมื่อวิเคราะห์ผลตอบแทน 3 ปีย้อนหลังของหุ้นกลุ่มที่ได้คะแนน ESG Rating ในระดับสูง จากการทำ Backtest พบว่ามีการให้ผลตอบแทนในระดับดี เฉลี่ยอยู่ที่ 6% ขณะที่ผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาทรงตัว หรือเฉลี่ยที่ -1%
นายณัฐพล กล่าวอีกว่า สำหรับความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยปัจจุบันถือว่ายังอยู่ในระดับที่ต่ำ จากกรณีของหุ้น MORE และ STARK ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา รวมไปถึงหุ้นขนาดกลาง-เล็ก มีราคาปรับตัวลดลงมาแรง ทำให้เกิดความสูญเสียต่อมูลค่าเงินลงทุนของนักลงทุน ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวกลับมาสักระยะหนึ่ง
ทั้งนี้ ยกตัวอย่างกรณีที่อินเดียสูญเสียความเชื่อมั่นเมื่อต้นปี 2566 ตอนนั้นตลาดหุ้นอินเดีย Underperform เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาค ซึ่งกว่าจะกลับมาเคลื่อนไหวสอดคล้องกับตลาดหุ้นในภูมิภาค ก็ใช้เวลาร่วมกว่า 2 เดือน
หากเทียบกับกรณีที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทย แม้การไม่ส่งรายงานผลประกอบการของ STARK จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม แต่ความเสียหายจริงที่เกิดขึ้นชัดเจน เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนหุ้นตัวอื่นๆ ด้วย ดังนั้นกว่าความเชื่อมั่นจะกลับมาชัดเจน คาดว่าจะอยู่ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม
อย่างไรก็ดี แนะนำนักลงทุนว่าสิ่งที่จะช่วยรับมือในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก คือการลงทุนในหุ้นที่ใส่ใจในหลักของการดำเนินธุรกิจที่มีการดูแลสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม และมีธรรมาภิบาล เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้มีความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจต่ำ ทำให้นักลงทุนสามารถลงทุนได้อย่างสบายใจมากขึ้น และไม่ต้องเผชิญกับความผันผวนรายวันด้วย.