SCGP กำไรไตรมาสแรกพุ่ง 171% ตลาดแพ็กเกจจิ้งฟื้นทั่วโลก กำเงิน 1.5 พันล้านซื้อกิจการในเวียดนามเพิ่ม

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

SCGP กำไรไตรมาสแรกพุ่ง 171% ตลาดแพ็กเกจจิ้งฟื้นทั่วโลก กำเงิน 1.5 พันล้านซื้อกิจการในเวียดนามเพิ่ม

Date Time: 25 เม.ย. 2566 16:39 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

ภาพรวมสถานการณ์ตลาดบรรจุภัณฑ์ในไตรมาสที่ 1/66 ที่ผ่านมา ฟื้นตัวได้ดีจากไตรมาสก่อน จากความต้องการที่สูงขึ้นในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม แม้ส่งออกสินค้าคงทนยังคงชะลอตัวจากกำลังซื้อของผู้บริโภคระดับโลกยังคงลดลง แต่การเปิดประเทศของจีนยังส่งผลให้ภาคการส่งออกยังฟื้นตัวเมื่อเทียบรายไตรมาส ด้านตลาดผลิตภัณฑ์ภาชนะบรรจุอาหาร อุปสงค์ในกลุ่มร้านอาหารจานด่วนเติบโตอย่างต่อเนื่อง และภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นในเอเชีย

ล่าสุดบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP แถลงผลประกอบการไตรมาสที่ 1/66 เติบโตจากไตรมาสก่อน โดยทำรายได้ 33,729 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% มีกำไรสุทธิ 1,220 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 171% จากไตรมาสก่อน ผลจากยอดขายบรรจุภัณฑ์ที่ทยอยฟื้นตัวจากความต้องการของตลาดในภูมิภาคอาเซียนที่สูงขึ้น การท่องเที่ยวและภาคบริการโต การเปิดประเทศของจีน รวมถึงต้นทุนที่ลดลง และจากการดำเนินกลยุทธ์ขยายธุรกิจโครงการควบรวมกิจการ (M&P) เสริมแกร่งธุรกิจต่อเนื่อง

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCGP กล่าวว่า การเติบโตดังกล่าวมาจากความต้องการกลุ่มบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศในอาเซียนและประเทศจีนที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และบรรจุภัณฑ์อาหารที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นหลังจากประชาชนคลายความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ของ SCGP ที่ขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์อย่างครบวงจร โดยเฉพาะการมุ่งเน้นขยายการลงทุนในธุรกิจบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ตลอดจนการปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อรับมือกับผลกระทบจากเศรษฐกิจและตลาดบรรจุภัณฑ์

ขณะเดียวกันยังมีแรงหนุนมาจากการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เพิ่มขึ้น และได้รับผลดีจากภาคการผลิตของจีนที่เริ่มฟื้นตัวหลังเปิดประเทศทำให้ปริมาณการส่งออกกระดาษบรรจุภัณฑ์ไปยังประเทศจีนเพิ่มขึ้น อีกทั้งต้นทุนต่างๆ ได้แก่ ราคาพลังงาน วัตถุดิบและค่าระวางเรือขนส่งสินค้าที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่ออัตรากำไรที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ยังคงมีความท้าทายจากเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังผันผวน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย รวมถึงความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง ทำให้การส่งออกสินค้าในกลุ่มสินค้าคงทนและสินค้าฟุ่มเฟือยชะลอตัว อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นสัญญาณบวกในการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป

สำหรับเป้าหมายผลประกอบการปี 2566 บริษัทตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 1.6 แสนล้านบาท โดยคาดว่าช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะสามารถเติบโตได้ดีกว่าช่วงครึ่งแรกของปี อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามผลประกอบการในไตรมาสที่ 2/66 ก่อนว่าจะมีทิศทางอย่างไร อาจมีการทบทวนเพื่อปรับเป้าหมายอีกครั้ง ทั้งนี้วางงบลงทุนไว้ราว 1.8 หมื่นล้านบาท โดยสัดส่วนครึ่งหนึ่งหรือราว 9 พันล้านบาทใช้สำหรับการรองรับโครงการควบรวมกิจการ (M&P) โดยตั้งเป้าปิดดีลปีนี้จำนวน 2-3 ดีล ซึ่งคาดว่าจะเข้ามาในช่วงครึ่งหลังของปี และงบลงทุนสำหรับการซ่อมบำรุงอีกราว 4-5 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือใช้สำหรับรองรับการขยายกิจการเดิมจำนวน 4 โครงการ

นอกจากนี้ยังมองถึงโอกาสและความท้าทายใหม่จากแผนการดำเนินงานภายใน มองว่าจะต้องระมัดระวังในการควบคุมต้นทุน ด้วยการพัฒนาระบบอัตโนมัติ การจัดซื้อสินค้ารวม และการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเงินทุนหมุนเวียนทั้งห่วงโซ่อุปทานด้วยเทคโนโลยี AI และ Data Analytics และตั้งเป้าลด Cash cycle

ขณะที่ความท้าทายจากภายนอก เห็นแนวโน้มของการบริโภคภายในอาเซียนและประเทศจีนปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ประกอบกับต้นทุนค่าขนส่งและพลังงานกำลังเข้าสู่สภาวะปกติ ในขณะที่ราคาวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลในภูมิภาคมีแนวโน้มทรงตัว ราคาเยื่อคาดว่าจะลดลงตามอุปสงค์ของธุรกิจสิ่งทอและเสื้อผ้าที่ชะลอตัวลง

ด้านนายดนัยเดช เกตุสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน SCGP กล่าวว่า ภาพรวมตลาดบรรจุภัณฑ์ในไตรมาสที่ 2/66 คาดว่ามีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะความต้องการภายในประเทศจากการขยายตัวของเศรษฐกิจและธุรกิจบริการ รวมถึงราคาวัตถุดิบที่เริ่มปรับตัวกลับเข้าสู่ระดับปกติและมีแนวโน้มทรงตัว ส่วนราคาพลังงานและค่าระวางเรือขนส่งมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการบริหารจัดการต้นทุน

ล่าสุดบริษัทแจ้งข่าวต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการแสดงเจตนาเข้าลงทุนใน Starprint Vietnam JSC ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษแข็งแบบพับได้ (Offset Folding Carton) ในประเทศเวียดนาม โดยคณะกรรมการบริษัทได้ มีมติเห็นชอบโครงการลงทุนเข้าซื้อหุ้นสามัญในสัดส่วนร้อยละ 70 ของ Starprint Vietnam JSC (SPV) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษแข็งแบบพับได้ (Offset Folding Carton) ที่มีชื่อเสียงในประเทศเวียดนาม โดยมีมูลค่ากิจการรวมไม่เกิน 1,050 พันล้านดอง หรือประมาณ 1,534 ล้านบาท โครงการควบรวมกิจการ (M&P) ดังกล่าวจะดำเนินการผ่านความร่วมมือกับบริษัท สตาร์เฟล็กซ์ จำกัด (มหาชน) (Starflex) บริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว (Flexible packaging) ที่มีฐานการผลิตในประเทศไทย ซึ่งจะลงทุนร้อยละ 25 ใน SPV หลังจากธุรกรรมนี้เสร็จสิ้น ธุรกรรมข้างต้นอยู่ระหว่างการดำเนินการ คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาสที่ 3/66 ทั้งนี้บริษัทจะเปิดเผยขนาดของรายการและโครงสร้างการถือหุ้นตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ว่าด้วยการได้มาและจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ต่อไป

SPV เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำด้านการผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์แบบพับได้ กล่องบรรจุภัณฑ์คงรูป คุณภาพสูง (Rigid boxes) และบรรจุภัณฑ์ที่เน้นความสวยงาม มีคุณภาพงานพิมพ์ที่โดดเด่น อีกทั้งยังมีฐานลูกค้าและความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ยาวนานกับบริษัทที่มีชื่อเสียงทั้งในระดับชาติและระดับโลกในตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคที่เติบโตอย่างรวดเร็วในปี 2565 SPV มีรายได้ 1,013 พันล้านดอง หรือประมาณ 1,480 ล้านบาท มีกำไรสุทธิหลังหักภาษี 92.5 พันล้านดอง หรือประมาณ 135 ล้านบาท และมีทรัพย์สิน 440 พันล้านดอง หรือประมาณ 643 ล้านบาท ทั้งนี้ SPV มีกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์ด้วยระบบพิมพ์แบบ Offset 16,500 ตันต่อปี และกล่องบรรจุภัณฑ์แบบคงรูป 8 ล้านกล่องต่อปี มีฐานการผลิต 2 แห่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม Long Binh (Amata) ในจังหวัด Dong Nai ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม

นอกจากนี้บริษัทฯ ได้ทุ่มเทในการพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันเพื่อตอบโจทย์เมกะเทรนด์และไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค โดยล่าสุดได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ (Joint Development Agreement หรือ JDA) กับ Origin Materials (ออริจิ้น แมตทีเรียลส์) บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำจากสหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมกันพัฒนา “Bio-based Plastic จากชิ้นไม้ยูคาลิปตัสสับ” ซึ่งเป็นนวัตกรรมระดับโลกในการนำชิ้นไม้ยูคาลิปตัสสับ มาผ่านกระบวนการแปรรูปด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง จนได้ Bio-PTA เพื่อนำไปผลิตเป็น Bio-PET ในการผลิตบรรจุภัณฑ์และสินค้าต่างๆ อาทิ บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม บรรจุภัณฑ์อาหาร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และรองรับการใช้ Bio-PET ในหลากหลายอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้วัตถุดิบยั่งยืน และสามารถนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้บริษัทฯ ยังคงมุ่งขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวคิด ESG 4 Plus อย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทฯ เป็นที่ยอมรับและได้รับการประเมินความยั่งยืนในระดับ Gold Class ผลการประเมินอยู่ในกลุ่มคะแนนสูงสุด 1% แรก (Top 1%) ในกลุ่มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์จาก S&P Global Corporate Sustainability Assessment (CSA) และเป็น Industry Mover หรือบริษัทจดทะเบียนที่มีพัฒนาการโดดเด่นและทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคงบนรากฐานของความยั่งยืน


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ