BBIK ตั้งเป้ารายได้นิวไฮ 7 ปีซ้อน ลุยปิดดีลใหม่พร้อมบุกสหรัฐฯ ดันบ.ลูกเข้าตลาดหุ้น

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

BBIK ตั้งเป้ารายได้นิวไฮ 7 ปีซ้อน ลุยปิดดีลใหม่พร้อมบุกสหรัฐฯ ดันบ.ลูกเข้าตลาดหุ้น

Date Time: 14 มี.ค. 2566 09:37 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • BBIK ตั้งเป้าปี 66 โต 120% ทำนิวไฮ 7 ปีซ้อน เล็งขยายธุรกิจในสหรัฐฯ และปิดดีลใหม่ในไทย พร้อมก้าวสู่ดัชนี SET100 เตรียมนำบริษัทลูกเข้าตลาด

BBIK ตั้งเป้าผลประกอบการปี 66 โต 120% ทำนิวไฮ 7 ปีซ้อน หลังควบรวมสำเร็จ 2 บริษัท เผยอยู่ระหว่างศึกษาการขยายธุรกิจในสหรัฐฯ คาดเห็นความชัดเจนในปีนี้ พร้อมก้าวสู่ดัชนี SET100 เตรียมนำบริษัทลูกเข้าตลาดในอีก 3-4 ปีข้างหน้า

นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บลูบิค กรุ๊ป (BBIK) กล่าวว่า ปี 2566 จะเป็นปีแรกที่บริษัทสามารถเติบโตแบบ Inorganic Growth หลังปิดดีลควบรวมกิจการบริษัท วัลแคน ดิจิทัล เดลิเวอรี่ จำกัด (VDD) และบริษัท อินโนวิซ โซลูชั่นส์ จำกัด (Innoviz) เสร็จสิ้น ทำให้สามารถบันทึกรายได้และกำไรของทั้งสองบริษัทได้ตั้งแต่ไตรมาส 1/66 อีกทั้งกลุ่มบริษัทยังได้รับอานิสงส์จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก BOI อีกด้วย ดังนั้นบริษัทประเมินว่าผลประกอบการปี 2566 จะโตได้ถึง 120% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 100% ซึ่งจะเป็นการทำนิวไฮต่อเนื่อง 7 ปีซ้อนต่อจากปี 2565 ที่ทั้งรายได้และกำไรของบริษัทโตทุบสถิติต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสม (CAGR) ถึง 70% ต่อปี ถือเป็นการเติบโตในอัตราที่สูงและเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ


ขณะเดียวกันบริษัทมีแผนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ 5 ปีต่อจากนี้ด้วย “Growth at Scale” ที่จะยกระดับการให้บริการแบบครบวงจรที่ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าทั้งขนาดใหญ่และกลาง จากการทำงานร่วมกันระหว่างบริษัทในเครือ ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการรับงานขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าหลายร้อยล้านบาทและเป็นตลาดที่มีคู่แข่งน้อยราย และเปิดโอกาสรุกเข้าสู่ธุรกิจใหม่ทั้งตลาดในและต่างประเทศที่มีขนาดใหญ่กว่าไทยหลายเท่าตัว อีกทั้งยังช่วยให้กลุ่มบริการหลักรองรับความต้องการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันที่ยังเติบโตแรง ซึ่งคาดว่าในระยะกลางหรือประมาณอีก 3 ปี รายได้ของบริษัทจะสามารถเติบโตเพิ่มขึ้นได้ถึง 4 เท่าจากฐานของปี 2565


บริษัทมีแบ็คล็อก ณ วันที่ 31 ธันวาคม มูลค่าราว 979 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น บลูบิคจำนวน 454 ล้านบาท บริษัทร่วมค้ากับ OR และ BE8 จำนวน 157 ล้านบาท และ VDD กับ Innoviz 368 ล้านบาท โดยมูลค่าแบ็คล็อกของ VDD และ Innoviz ที่บันทึกเป็นรายได้เข้าบริษัทแม่ จะเป็นมูลค่าแบ็คล็อกคงเหลือ ณ วันที่ปิดดีลเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีมองว่าบริษัทในเครือทุกบริษัทมีโอกาสที่จะสามารถไปเติบโตเองได้ผ่านการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ (IPO) ภายใน 3-4 ปีข้างหน้า

“หลังจากปลดล็อกปัญหาจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีไม่เพียงพอ โดยมีอัตรากำลังที่เพิ่มขึ้นจาก 350 เป็น 800 ชีวิตแล้ว การเข้าซื้อกิจการของ VDD และ Innoviz ยังสร้างการเติบโตแบบ Inorganic growth ให้กับบลูบิคเป็นปีแรกด้วย ดังนั้นการเติบโตของผลประกอบการนับจากนี้ของบริษัทจะเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ สามารถรองรับการขยายบริการทั้งในและต่างประเทศ และบรรลุเป้าหมายการได้รับคัดเลือกเข้าดัชนี SET100 ตามแผนที่วางไว้” นายพชร กล่าว


อีกทั้งบริษัทกำลังศึกษาโอกาสทางธุรกิจในประเทศสหรัฐอเมริกาผ่านการตั้งบริษัทลูก ในธุรกิจผู้ให้บริการระบบจัดการ IT Development Outsoucing ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในปีนี้ อย่างไรก็ดีมองว่า วิกฤติธนาคารในสหรัฐฯ ไม่กระทบต่อการเข้าลงทุน และถือเป็นโอกาสดีเนื่องจากจะสามารถหาบุคลากรมาทำงานได้ง่ายขึ้น และยังมีแผนการขยายธุรกิจไปต่างประเทศต่อเนื่องในธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตและส่งเสริมบริการหลักให้แข็งแกร่งขึ้น อาทิ Big Data การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มและโซลูชันที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของแต่ละอุตสาหกรรม และบริษัทคาดว่าจะสามารถปิดดีลใหม่เพิ่มขึ้นเร็วๆ นี้ในประเทศไทย


นอกจากนี้มองว่าการแข่งขันที่รุนแรงทำให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมากขึ้น เพราะการดำเนินงานที่ช้าและไม่สอดรับกับอัตราความเร็วของการทำธุรกิจในยุคดิจิทัล อาจทำให้องค์กรต้องพบกับอัตราต้นทุนค่าเสียโอกาสทางธุรกิจมูลค่ามหาศาล จนถึงต้องออกจากธุรกิจหรือเสียตำแหน่งผู้นำในอุตสาหกรรม ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงมุ่งมั่นในการขยายธุรกิจและบริการให้สอดรับกับเทรนด์การทำธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ลูกค้าสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ