ปัญหาค่าไฟฟ้าที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่องกำลังส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการธุรกิจให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างมากไม่เว้นแม้กระทั่งร้านสะดวกซื้ออย่าง เซเว่นอีเลฟเว่น หรือ 7-ELEVEN ที่กำลังเผชิญปัญหาค่าไฟ จนต้องปรับแผนลดอุณหภูมิภายในร้าน และใช้โซลาร์ รูฟท็อป
น.ส.จิราพรรณ ทองตัน หัวหน้าสำนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) (CPALL) เปิดเผยว่า จากความกังวลของนักลงทุนเรื่องต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะด้านค่าไฟ บริษัทมีการจัดการต้นทุนด้านผ่านการทำ ESG และ Energy Saving ผ่านร้านสะดวกซื้อ “7-Eleven” ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 2,000 สาขาแล้วที่มีการติดตั้ง Solar rooftop ที่ช่วยในการประหยัดการใช้พลังงานในร้านเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการปรับอุณหภูมิในร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ให้เหมาะสมกับช่วงเวลาเพื่อลดจำนวนยูนิตการใช้ไฟลง อย่างไรก็ดีแนวโน้มต้นทุนค่าพลังงานและก๊าซก็ปรับตัวลดลงด้วย คาดว่าจะส่งผลดีต่อกำไรในช่วงที่เหลือของปี
ส่วนต้นทุนจากดอกเบี้ยบริษัทมีแผนการบริหารจัดการต้นทุนส่วนนี้โดยการออกหุ้นกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม ในระดับไม่เกิน 4% ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีการออกหุ้นกู้แล้วจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่ใกล้ถึงกำหนดชำระราว 2.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ระดับ 0.9 เท่า
ขณะเดียวกันบริษัทคาดว่ารายได้ในปี 66 จะสามารถเติบโตได้ราว 3-4% สอดคล้องกับอัตราการเติบโตของประเทศ (GPD) และได้ประโยชน์บางส่วนจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น แม้อาจไม่ได้เห็นการเติบโตแบบ double digit เหมือนกับปีที่ผ่านมาจากฐานที่ต่ำ แต่เชื่อว่าจะสามารถมี upside ได้จากปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากระตุ้นการเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิม
โดยมองว่าการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะจากลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวจีนที่มีการประเมินว่าจะเข้ามาในปีนี้กว่า 20-25 ล้านคน แม้ว่าในช่วงสิ้นปีจำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมจะยังไม่กลับไปที่ระดับเดิมก่อนช่วงโควิด-19 แต่เชื่อว่ามีแนวโน้มในการฟื้นตัวที่ดีและกลับมาในระดับปกติได้ที่ราว 40 ล้านคนต่อปี
ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการบริโภคภายในประเทศ และการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนให้เติบโตมากขึ้น อีกทั้งยังมีปัจจัยเชิงบวกชั่วคราวจากการเลือกตั้ง โดยเชื่อว่าร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven จะได้รับอานิสงส์จากแคมเปญการหาเสียงทั่วประเทศ
นอกจากนี้ บริษัทตั้งงบลงทุนปีนี้ไว้ราว 1.2-1.3 หมื่นล้านบาท สำหรับกลุ่มธุรกิจที่สนับสนุนร้านสะดวกซื้อ ศูนย์กระจายสินค้า การรีโนเวตสาขาเดิม และขยายสาขาร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven เพิ่มอีก 700 สาขา จากสิ้นปี 65 อยู่ที่ 13,838 สาขา โดยเชื่อว่าจะสามารถทำให้ยอดขายเติบโตขึ้นได้ราว 5-6% จากปัจจุบันสาขาของร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven แบ่งเป็นสัดส่วนสาขาของบริษัท 49% และสาขาพาร์ตเนอร์อีก 51% โดยกระจายอยู่ในต่างจังหวัด 57% และกรุงเทพฯ 43%
ทั้งนี้บริษัทยังมองถึงโอกาสในการขยายสาขาไปต่างประเทศ จากการได้รับสิทธิ์ในการเปิดสาขาแล้ว 2 ประเทศ คือลาวและกัมพูชา บริษัทมีแผนในการขยายสาขาในประเทศกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันมี 42 สาขา ส่วนในประเทศลาวมีแผนเปิดในปีนี้ 1-2 สาขา คาดว่าจะเห็นสาขาแรกได้ภายในช่วงครึ่งแรกของปีนี้
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าจะมีการเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิมเพิ่มขึ้น และมีความสามารถทำกำไรได้มากขึ้น จากประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตในภาวะปกติ มีการเดินทางเพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับขึ้นราคาสินค้าบางส่วนให้เหมาะสมกับต้นทุน
“พฤติกรรมของลูกค้ามีการกลับไปใช้ชีวิตในภาวะปกติมากขึ้น แต่พฤติกรรมปรับเปลี่ยนไปในแบบที่เรียกว่า New Normal แม้บางบริษัทจะให้ทำงานที่บ้านมากขึ้น ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยลดลง แต่ลูกค้ามีพฤติกรรมการซื้อที่ชิ้นใหญ่ขึ้นและมากชิ้นขึ้นขึ้นด้วย ทำให้เชื่อว่ามีโอกาสที่ยอดขายต่อร้านต่อวันจะขึ้นไปอยู่ในระดับก่อนช่วงโควิด-19 ที่ 80,000 บาท/ร้าน/วัน” น.ส.จิราพรรณ กล่าว
ด้านนักวิเคราะห์บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ว่า โมเมนตัมกำไรไตรมาสที่ 1/66 คาดแค่ทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยกดดันจากทิศทางค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ทรงตัวสูง โดยธุรกิจร้านสะดวกซื้อจะถูกกดดันจากค่าไฟที่ปรับขึ้น ส่งผลให้กระทบต้นทุนเพิ่มขึ้น 200 ล้านบาทต่อเดือนจากไตรมาส 1/65
อย่างไรก็ดีคงคำแนะนำ “TRADING BUY” โดยมีราคาเป้าหมายปีนี้ ที่ 70 บาท ทั้งนี้แม้คาดการณ์เติบโตของกำไรปี 66 จะโดดเด่นที่ระดับ 40% แต่ให้น้ำหนักจะเกิดในช่วงครึ่งหลังของปี จึงคงคำแนะนำเป็นรอซื้อเมื่ออ่อนตัว