ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 26 ม.ค.66 ปิดที่ 1,671.34 จุด ลดลง 10.77 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 72,405.67 ล้านบาท ต่างชาติซื้อสุทธิ 1,195.62 ล้านบาท
บล.เอเซียพลัส ออกบทวิเคราะห์ระบุว่า เริ่มเห็นความเสี่ยงที่กดดันตลาดหุ้นไทยจาก 2 ทาง 1.มีแนวโน้มการปรับประมาณการกำไร ปี 66 ลง จากข้อมูล Earning Preview Q4/65 จำนวน 22 บริษัท (มีสัดส่วน 25% ของ Market Cap รวม) ลดลง 30% QoQ, 34% YoY รายงานกำไรของบริษัทจดทะเบียนออกมาต่ำกว่าคาดหลายบริษัท อีกทั้งยังเริ่มเห็นการปรับ EPS66F จาก Bloomberg Consensus ลง
2.ความเสี่ยงที่ กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยได้อีกในช่วงที่เหลือของปี เริ่มจากเมื่อวันที่ 25 ม.ค.66 กนง. มีการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% เป็น 1.5% ตามกลไกจะกดดัน P/E ตลาดลดลง และกดดันดัชนีเป้าหมายย่อตัวลงจาก 1,820 จุด เหลือ 1,740 จุด และยังมีความเสี่ยงที่ กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยอีกในช่วงที่เหลือของปี
ทั้ง 2 ปัจจัย ล้วนกดดันให้ดัชนีเป้าหมายย่อตัวลง หรือ Upside ของตลาดแคบลง เริ่มจากหากมีการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปี จะกดดัน Target SET Index โดยหากอิง EPS66F ที่ระดับ 99.2 บาท/หุ้น และ Market Earning Yield Gap ระดับ 4.20% ซึ่งถ้ามีการขึ้นดอกเบี้ยแต่ละครั้ง (ดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลงไป 0.25% เทียบเท่า EPS ที่ลดลง 4.2%) จะกระทบตลาดหุ้นไทยดังนี้
ขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้ง หรือ 0.25% จะกดดัน Target SET ลดลงอีก 73 จุด บนฐาน P/E ที่ 16.81 เท่า, ขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง หรือ 0.50% จะกดดัน Target SET ลดลงอีก 67 จุด บนฐาน P/E ที่ 16.13 เท่า, ขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้ง หรือ 0.75% จะกดดัน Target SET ลดลงอีก 62 จุด บนฐาน P/E ที่ 15.50 เท่า
และหากเอเซียพลัสคิดในอีกมุมหนึ่งคือคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% และ Market Earning Yield Gap ระดับ 4.20% แต่ขยับ EPS ลดลงทุกๆ 1% จะกดดัน Target SET 17 จุด
ซึ่งฝ่ายวิจัยฯ คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสขึ้นอีก 1 ครั้งในปีนี้ (1.75%) ขณะที่ EPS66F ที่ระดับ 99.20 บาท/หุ้น มีโอกาสเกิด Downside หากจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไทยไม่เป็นไปตามคาดที่ตั้งไว้ จะกระทบกลุ่มเปิดเมืองอย่างค้าปลีกท่องเที่ยว โรงแรม สายการบิน
ขณะที่กำไรของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังคงกังวลกับการตั้งสำรอง (NPL) และกลุ่มพลังงานที่ราคาน้ำมันดิบโลก Dubai ไม่สามารถกลับไปทำจุดสูงสุดที่ระดับ 120เหรียญฯ เช่นกลางปี 65 ส่งผลให้ Upside ของ SET Index จำกัดมากขึ้น!!
อินเด็กซ์ 51