SCGP หวังจีนเปิดประเทศดันบรรจุภัณฑ์สดใส พร้อมใช้ 5 กลยุทธ์ดันรายได้ทะลุ 1.6 แสนล้าน

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

SCGP หวังจีนเปิดประเทศดันบรรจุภัณฑ์สดใส พร้อมใช้ 5 กลยุทธ์ดันรายได้ทะลุ 1.6 แสนล้าน

Date Time: 24 ม.ค. 2566 18:11 น.

Video

โมเดลธุรกิจ Onlyfans ทำไมถึงมีแต่ได้กับได้ ? บริษัทมั่งคั่ง คนทำก็รวย | Digital Frontiers

Latest


นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยถึง ผลการดำเนินงานปี 2565 มีรายได้จากการขาย 146,068 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% จากปีก่อน เป็นผลจากการวางกลยุทธ์ขยายกำลังการผลิตและการควบรวมกิจการกับพันธมิตร (M&P) รวมถึงการปรับราคาสินค้าตามต้นทุนที่สูงขึ้น แม้บริษัทจะเน้นการคงอัตรากำไรสุทธิ แต่ทำกำไรได้เพียง 5,801 ล้านบาท ลดลง 30% จากปีก่อน ผลกระทบสำคัญจากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น การลดลงของปริมาณการขายและอุปสงค์กระดาษบรรจุภัณฑ์ทั่วโลกจากสภาพเศรษฐกิจ รวมถึงการปิดประเทศของจีนที่ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคอาเซียน

ขณะที่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 บริษัทได้รับผลกระทบจากความต้องการและราคาขายบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคลดลง โดยเฉพาะราคาขายกระดาษบรรจุภัณฑ์อินโดนีเซียและเวียดนามที่ได้รับผลกระทบจากความต้องการสั่งซื้อในจีนลดลง ส่งผลให้บริษัทมีรายได้จากการขาย 33,509 ล้านบาท ลดลง 5% และมีกำไรสำหรับงวด 450 ล้านบาท ลดลง 79% ทั้งนี้เนื่องจากมีการสำรองสินค้าคงคลังมาก ทำให้ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ต้องส่งออกสินค้าขายให้กับประเทศที่เป็นฐานผลิตในภูมิภาคแทน


สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในปี 2566 นายชาญ คาดการณ์ ว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากการที่จีนเริ่มเปิดประเทศ ซึ่งจะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจโดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียนดีขึ้นเพราะมีแรงจับจ่ายใช้สอย จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การนำเข้าและส่งออก ตลอดจนห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ กลับสู่สภาวะปกติ ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้ความต้องการบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้น ภายใต้ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกจากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง


โดยในปี 2566 SCGP มีการตั้งเป้ารายได้ปีนี้ที่ 160,000 ล้านบาท ขับเคลื่อนด้วย 5 กลยุทธ์

1. การสร้างการเติบโตจาก M&P และการขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ด้วยการผสานความร่วมมือทางธุรกิจ (Synergy) ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และทรัพยากร ขยายไปธุรกิจอื่นที่มีศักยภาพสูง เช่น กลุ่นสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเพื่อสุขภาพ


2. การพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่องลงทุนงบและค่าใช้จ่าย 800 ล้านบาทในการวิจัยและพัฒนา เพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค


3. การยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินงานของทั้งห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการนำระบบอัตโนมัติ (Automation) มาเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตและผลิตผล และการใช้ Data Analytics เพื่อสร้างความแข็งแกร่งด้านข้อมูลแบบ End to end


4. การวางแผนบริหารจัดการเชิงรุกเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเงินทุน ตั้งเป้าวงจรเงินสดน้อยกว่า 75 วัน ลดความผันผวนผ่านการออกหุ้นกู้ชุดใหม่


5. ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยแนวคิด ESG 4 Plus เพิ่มสัดส่วนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าปี 2568 จะสามารถมีบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลและย่อยสลายได้ 100%


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ