เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง โยนบิ๊กลอตหุ้น MAKRO 1.5% มูลค่า 6 พันล้านบาท นักวิเคราะห์ชี้ ราคาเฉลี่ย 37.75 บาท คาดช่วยเพิ่มสภาพคล่อง ส่วนผลการดำเนินงานเงินเฟ้อกดดัน จับตาผลกระทบค่า FT
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 23 พ.ย. สำนักงานได้รับรายงานการขายหุ้นของ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO โดย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นการจำหน่ายจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่าย คิดเป็น 1.5122% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ
โดยการทำรายการดังกล่าวนั้นผ่านทางบริษัทหลักทรัพย์ Credit Suisse AG, Singapore Branch ภายหลังจากการจำหน่ายนั้นส่งผลให้บริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ 16.1822% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการส่วนจำนวนหลักทรัพย์ภายหลังการจำหน่าย ของกลุ่มคิดเป็น 84.9523% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ
บล.โนมูระ พัฒนสิน เปิดเผยว่า การทำบิ๊กลอตหุ้น MAKRO มีมูลค่าสูงสุด 6,040 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 37.75 บาท โดยการซื้อขายครั้งนี้คิดเป็นสัดส่วน 1.5% ของจำนวนหุ้นชำระแล้ว และมีราคาซื้อขายใกล้เคียงกับราคาปิดเมื่อวันอังคารที่ 22 พ.ย. 2022
โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ของ MAKRO ที่ถือเกิน 160 ล้านหุ้นประกอบด้วย i) CPALL ถือหุ้น 60% คิดเป็นจำนวน 6,340 ล้านหุ้น , ii) CP Holdings ถือ 17.7% คิดเป็นจำนวน 1,872 ล้านหุ้น และ iii) CPF ถือ 8.85% คิดเป็นจำนวน 936 ล้านหุ้น ทั้งนี้ หากอิงตามต้นทุนการลงทุนของ CPALL ณ สิ้นปี 2021 จะอยู่ที่ 42.05 บาทต่อหุ้น MAKRO
ทั้งนี้ บล.โนมูระ พัฒนสิน ได้ปรับมุมมองของหุ้น MAKRO ไว้เป็น “TRADING BUY” จากเดิม “BUY” หลังนับตั้งแต่ 10 ต.ค. 2022 ที่บริษัทมีการเปิดเผยว่าไม่เข้าลงทุน METRO อินเดีย ในขณะที่ราคาหุ้นปรับขึ้นต่อเนื่องกว่า เพิ่มขึ้น 19% แล้ว ดีกว่ากลุ่มค้าปลีก เพิ่มขึ้น 11% ปัจจุบันเหลืออัพไซส์เพียง 1% เท่านั้น
บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่า ธุรกิจค้าปลีกยังมีแรงกดดันจากดอกเบี้ย แม้ผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกของปีนี้ MAKRO จะมีรายได้โตสูงถึง 109% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะรวมธุรกิจค้าปลีก (Lotus’s) เข้ามาตั้งแต่ปลายไตรมาสที่ 4 แต่กำไรโตเพียง 14% จากปีก่อน เนื่องจากกำไรของธุรกิจค้าส่ง (MAKRO) ค่อนข้างทรงตัว แต่ธุรกิจค้าปลีกถูกกดดันจากดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยฯ เนื่องจากมีหนี้สกุลต่างประเทศในสัดส่วนสูงถึง 70% ของเงินกู้ยืม และส่วนใหญ่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว
แนวโน้มกำไรไตรมาสที่ 4 การเติบโตยังท้าทาย
เราเชื่อว่ากำไรในงวดไตรมาสที่ 4 น่าจะโตได้ จากผลบวกของฤดูกาลที่จะช่วยผลักดันรายได้แต่ค่าใช้จ่ายในขายและบริหาร (SG&A/Sale) ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าเสื่อมราคา หลังจากที่ได้มีการลงทุนเปิดสาขาใหม่เพิ่ม และปรับปรุงระบบไอที ในไตรมาส 3ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับค่าสาธารณูปโภคที่สูงขึ้นเต็มไตรมาสเป็นครั้งแรก หลังเริ่มรับผลกระทบจากการปรับค่า FT ในเดือน ก.ย. 65 ส่วนดอกเบี้ยจ่ายอาจจะลดลงได้บ้าง หลังบริษัทมีการออกหุ้นกู้เพื่อไปจ่ายคืนหนี้บางส่วนในช่วงปลายไตรมาส 3 โดยเฉพาะหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ในสกุลดอลลาร์สหรัฐ แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน การเติบโตเป็นสิ่งท้าทาย