ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 30 ก.ย.65 ปิดที่ 1,589.51 จุด ลดลง 2.86 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 62,649.20 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 1,388.95 ล้านบาท
หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด TEGH ปิด 5 บาท บวก 0.20 บาท, DELTA ปิด 654 บาท ลบ 6 บาท, PTT ปิด 34 บาท ลบ 0.25 บาท, AOT ปิด 72.50 บาท ลบ 0.50 บาท, BBL ปิด 136.50 บาท ลบ 1.50 บาท
บล.เอเซียพลัสออกบทวิจัยชี้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่มีผล 1 ต.ค.65 ถือเป็นแรงหนุนการบริโภคในประเทศให้มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง หลังไทยเริ่มการกลับมาเปิดประเทศ และผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ทำให้ภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง หนุนนักท่องเที่ยวเข้าประเทศมากขึ้น โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดจะมีนักท่องเที่ยวราว 10 ล้านคน บวกกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
ถือเป็นผลดีต่อหุ้นกลุ่ม Domestic Consumption อย่างกลุ่มค้าปลีก HMPRO-CPALL- CRC กลุ่มเช่าซื้อ TIDLOR-AEONTS กลุ่มท่องเที่ยว AOT -ERW- CENTEL- BEM และกลุ่มธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม (F&D) อาทิ M-CBG เป็นต้น
โดยสรุป เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากมาตรการกระตุ้นภาครัฐ โดยมาตรการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำที่จะมีผล 1 ต.ค.65 ฝ่ายวิจัยคาดว่าจะส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศของไทยเริ่มกลับมาคึกคักมากขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานมีมติปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 65 ซึ่งแบ่งเป็น 9 อัตรา ดังนี้ ปรับขึ้นสูงสุด 354 บาท = ชลบุรี ระยอง ภูเก็ต ปรับขึ้นต่ำสุด 328 บาท = ยะลา ปัตตานี นราธิวาส น่าน และอุดรธานี และ กรุงเทพฯและปริมณฑลอยู่ที่ 353 บาท ซึ่งการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ครั้งนี้มีอัตราค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 337 บาท หรือเป็นการปรับขึ้น 5.02% (ค่าจ้างขั้นต่ำในกรุงเทพฯและปริมณฑล 353 บาท)
โดยหากย้อนดูสถิติในอดีตตั้งแต่ปี 2011-ปัจจุบัน พบว่ากระทรวงแรงงานมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาแล้ว 6 ครั้ง หากไม่นับปี 2012 ที่มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพฯและปริมณฑลจาก 215 บาท/วัน เป็น 300 บาท/วัน (ปรับขึ้น 39.5%) จะเห็นได้ว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2022 ที่ปรับขึ้น 6.6% นั้นมากกว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอดีตที่ส่วนใหญ่ปรับขึ้นราว 2-4% เท่านั้น.
อินเด็กซ์ 51