KKP ยิ้มพอร์ตสินเชื่อโต 10% ดันผลประกอบการครึ่งปีแรก 65 แตะ  4,089 ล้าน

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

KKP ยิ้มพอร์ตสินเชื่อโต 10% ดันผลประกอบการครึ่งปีแรก 65 แตะ 4,089 ล้าน

Date Time: 3 ส.ค. 2565 15:20 น.

Video

บิทคอยน์ VS เงินในกระเป๋าเกี่ยวกันยังไง ? | Digital Frontiers

Summary

  • KKP ยิ้มพอร์ตสินเชื่อโต 10% ดันผลประกอบการครึ่งปีแรก 65 แตะ 4,089 ล้าน นำโดยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับรายย่อย

KKP ยิ้มพอร์ตสินเชื่อโต 10% ดันผลประกอบการครึ่งปีแรก 65 แตะ 4,089 ล้าน นำโดยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับรายย่อย

เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 65 นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรครึ่งปีแรก 2565 อยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจสินเชื่อธนาคารพาณิชย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยสินเชื่อรวมขยายตัวถึงร้อยละ 10 ด้านธุรกิจตลาดทุน รายได้กระจายตัวตามลักษณะธุรกิจ

โดยธุรกิจนายหน้ายังคงครองส่วนแบ่งอันดับหนึ่งของตลาดที่ 18.18% และธุรกิจการลงทุนเติบโตดีจากฝ่ายค้าหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Equity and Derivative Trading) ที่ทำกำไรได้ดีในสภาวะผันผวน ด้านวาณิชธนกิจมีจำนวนธุรกรรมลดลงในช่วงต้นปี แต่ยังคงมีธุรกรรมขนาดใหญ่หลายรายการในช่วงครึ่งหลังของปี

ขณะที่ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล (Wealth Management) มีปริมาณทรัพย์สินภายใต้คำแนะนำ (Asset Under Advice, AUA) อยู่ที่กว่า 7 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ธนาคารได้ปรับลดการตั้งสำรองสอดรับกับคุณภาพที่ดีของพอร์ตสินเชื่อใหม่ และอัตราการชำระคืนของลูกหนี้ดีกว่าที่คาดการณ์ โดยตั้งสำรองเป็นจำนวน 1,878 ล้านบาท ลดลงกว่าปีก่อนหน้านี้ค่อนข้างมาก

สำหรับทั้งปี 65 นี้ กลุ่มธุรกิจฯ มีเป้าการเติบโตของสินเชื่อรวม 16% อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจฯ มองว่าสถานการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในภาพรวมยังน่ากังวลจากภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย ผนวกกับภาวะปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง

โดยกลุ่มธุรกิจฯ จึงเตรียมพร้อมสำหรับช่วยเหลือลูกค้าที่อาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจซบเซาต่อเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด โดยมุ่งให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างยั่งยืน มากกว่ามาตรการเฉพาะหน้า เพื่อให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อลูกค้าในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่อง

นายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP กล่าวว่า ระยะที่ผ่านมา นโยบายการเติบโตสินเชื่อแบบมีกลยุทธ์ (Smart Growth) นั้นให้ผลที่ดี โดยช่วยให้ธนาคารสามารถรักษาการเติบโตของรายได้และกำไรแม้ในสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว

ขณะเดียวกัน มาตรการคัดกรองและบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพยังรักษาคุณภาพของสินเชื่อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยสินเชื่อของธนาคารครึ่งปีแรก 2565 มีรายได้ที่มาจากดอกเบี้ยถึง 69% โดยหลักมาจากกลุ่มสินเชื่อรายย่อยที่มีหลักประกัน ไม่ว่าสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่โตขึ้นกว่า 11% หรือสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่โตขึ้น 19%

สำหรับแนวทางการดำเนินธุรกิจในระยะต่อไป ธนาคารยังคงต่อยอดจากธุรกิจที่มีความชำนาญ ไม่ว่าการปรับปรุงระบบและกระบวนการภายในเพื่อการพิจารณาสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและเข้าถึงผู้บริโภคได้สะดวกง่ายดายยิ่งขึ้นผ่านแอป KKP Mobile การเดินหน้าผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างสินเชื่อ รถเรียกเงิน รวมทั้งการขยายเครือข่ายการให้บริการผ่านการสร้างความร่วมมือกับคู่ค้าที่มีความแข็งแกร่ง

นอกจากนี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการบรรเทาปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน ธนาคารยังมุ่งเสริมสร้างความแข็งแรงทางการเงินให้กับลูกค้าผ่านการเชื่อมโยงบริการธนาคารเข้ากับบริการด้านการลงทุนที่เป็นความชำนาญของกลุ่มธุรกิจฯ มากขึ้นเรื่อยๆ

ด้านนายปรีชา เตชรุ่งชัยกุล ประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจฯ มีกำไรสุทธิเท่ากับ 4,089 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.1% โดยเป็นกำไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน จำนวน 672 ล้านบาท ในส่วนของการตั้งสำรองสำหรับครึ่งแรกของปี 2565 ปรับลดลงตามคุณภาพของสินเชื่อที่ยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ดี โดยมีอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ 169.1%

นอกจากนี้ ธนาคารมีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิรวมถึงรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 8,779 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 15.1% ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 3,809 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% จากครึ่งปีแรก 2564 และธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) คำนวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งรวมกำไรถึงถึงสิ้นไตรมาส 2/25 อยู่ที่ 16.56% และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 จะเท่ากับ 12.99%


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ