ธุรกิจไทยในเมียนมายังไหว ผลงานธนาคารกลางสั่งหยุดจ่ายหนี้

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ธุรกิจไทยในเมียนมายังไหว ผลงานธนาคารกลางสั่งหยุดจ่ายหนี้

Date Time: 20 ก.ค. 2565 07:45 น.

Summary

  • นักวิเคราะห์ประเมินเมียนมาสั่งหยุดจ่ายหนี้เงินกู้ต่างประเทศไม่กระทบไทยนัก สัดส่วนการค้าแค่ 0.85% เช่นเดียวกับ 6 กลุ่มธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ฯที่ทำธุรกิจในเมียนมา SCC ยุติทำโรงปูนไปแล้ว

Latest

AOT จ่อคืนเงิน 193 ล้านบาท ให้ คิง เพาเวอร์ฯ หลังเรียกคืนพื้นที่ขยายอาคารฯ รับนักท่องเที่ยวเพิ่ม

นักวิเคราะห์ประเมินเมียนมาสั่งหยุดจ่ายหนี้เงินกู้ต่างประเทศไม่กระทบไทยนัก สัดส่วนการค้าแค่ 0.85% เช่นเดียวกับ 6 กลุ่มธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ฯที่ทำธุรกิจในเมียนมา SCC ยุติทำโรงปูนไปแล้ว ด้านปตท.ส่วนใหญ่ชำระเงินซื้อขายก๊าซในไทย ด้านโอสถสภา ซึ่งครองแชมป์ตลาดเครื่องดื่ม ชูกำลังเผยเตรียมเจรจาสถาบันการเงิน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังธนาคารกลางเมียนมา ได้ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 18 ก.ค.65 ให้บริษัทและผู้กู้ยืมเงินรายย่อยระงับการชำระคืนหนี้เงินกู้ต่างประเทศ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยไว้ก่อน เพื่อรักษาปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ลดลง ขณะที่สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลเมียนมาได้มีคำสั่งให้ผู้มีรายได้เป็นสกุลเงินต่างประเทศแปลงสกุลเงินของตนเป็นเงินจ๊าต (สกุลเงินท้องถิ่น) ที่อัตราอ้างอิงของธนาคารกลางที่ 1,850 จ๊าต/ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อ ป้องกันความผันผวนของสกุลเงินท้องถิ่น พร้อมทั้งห้ามนำเข้ารถยนต์ สินค้าฟุ่มเฟือย รวมถึงน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันประกอบอาหารเพื่อรักษาปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศ

บล.เอเซียพลัสออกบทวิเคราะห์ระบุส่งผลกระทบต่อไทยไม่มาก เพราะเมียนมามีสัดส่วนการค้ากับไทยแค่ 0.85% โดยปริมาณการค้าระหว่างเมียนมากับไทย มีมูลค่า 4,800 ล้านเหรียญ (ข้อมูล ณ สิ้นปี 64) ส่วนผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆที่เข้าไปลงทุนหรือเป็นคู่ค้ากับเมียนมานั้น เอเซียพลัสประเมินดังนี้

1.กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ผู้ผลิตที่ส่งสินค้าออกไปเมียนมา เช่น ปูนซีเมนต์ กระเบื้องเซรามิก และวัสดุก่อสร้างอื่นๆ คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 5% ของยอดขายรวม จึงไม่น่าได้รับผลกระทบ ขณะที่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ยุติธุรกิจโรงปูน ในเมียนมาไปเมื่อปี 63

2.กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง 4 บริษัทที่เกี่ยวข้องกับเมียนมา ได้แก่ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ใช้เงินลงทุนไปแล้ว 7,843.6 ล้านบาท และได้ถูกรัฐบาลเมียนมายกเลิกสัมปทานตั้งแต่ 30 ธ.ค.63 โดยที่ ITD ยังไม่ได้ตั้งสำรองด้อยค่าโครงการ ดังกล่าว เพราะยังมั่นใจว่าจะสามารถเจรจากับรัฐบาลเมียนมาได้, บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ (NWR) มีลูกหนี้ค่าก่อสร้างโรงแรมในพม่าคงค้างอีก 191 ล้านบาท ซึ่งลูกหนี้จะทยอยชำระคืนเงิน ตั้งแต่ ธ.ค.65-ธ.ค.79, บมจ.โตโย-ไทย คอร์ปอเรชั่น (TTCL) ลงทุนในโรงไฟฟ้า, SEAFCO มีบริษัท ลูกในเมียนมาโดยถือหุ้น 80% ปัจจุบันไม่มีการรับงานในเมียนมาแล้ว

3.กลุ่มเครื่องดื่ม บมจ.โอสถสภา (OSP) พิจารณาจากยอดขายปี 64 ราว 27,000 ล้านบาท มีสัดส่วนยอดขายจากต่างประเทศ 4,300 ล้านบาท (สัดส่วน 16% ของยอดขาย) ส่วนใหญ่มาจากเมียนมา จึงประเมินยอดขายจากเมียนมาอยู่ในระดับ 10% ของยอดขายรวม มองว่าผลกระทบยอดขายจากมาตรการนี้ค่อนข้างจำกัด แต่ปัจจัยด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคในเมียนมาและการจัดเก็บเงินจากคู่ค้า รวมถึงค่าเงินเมียนมา ยังต้องติดตามต่อไป

นอกจากนี้ OSP มีเงินกู้ยืมสกุลเงินสหรัฐฯ ผ่านบริษัทร่วม (2 บริษัท ถือหุ้น 35% ในโรงงานผลิตขวดแก้ว และ 51.8% ธุรกิจจำหน่ายขวดแก้ว) ในเมียนมา มูลหนี้ราว 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินไทย (ชำระเงินกู้ครั้งเดียวในอีก 7 ปีข้างหน้า) โดย OSP อยู่ระหว่างบริหารจัดการภาระดอกเบี้ยจ่ายส่วนนี้

สำหรับ บมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG) มีโครง สร้างรายได้ปี 64 ที่ 17,000 ล้านบาท ราว 33% มาจากการส่งออกไป CLMV แต่โครงสร้างการขายมาจากกัมพูชาเป็นหลัก คาดว่ายอดขายจากเมียนมาจะอยู่ราว 10% ของยอดขาย

4.กลุ่มธนาคารและการเงิน หากอิงจากมูลค่าการส่งออกไทยไปเมียนมาราว 1% ของมูลค่าการส่งออกรวม เบื้องต้นประเมินผลกระทบส่วนนี้จำกัด ส่วนหุ้นกลุ่มการเงิน อย่าง บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (AEONTS) คาดได้รับผลกระทบจำกัด เพราะหลังรัฐประหารในเมียนมาเมื่อ ก.พ.64 AEONTS ได้หยุดปล่อยสินเชื่อในเมียนมา

5.กลุ่มพลังงาน บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) มีโครงการในเมียนมา อาทิ ซอติก้า, ยาดานา และเยตากุน เป็นต้น แต่ไม่มีรายการเงินกู้ต่างประเทศ ดังนั้นจึงไม่มีผลกระทบต่อบริษัท ส่วนรายรับจากโครงการในเมียนมา ทาง PTTEP รับเงินจาก PTT โดยตรงเป็น USD เข้า บัญชีในประเทศไทย ดังนั้น ไม่มีความเสี่ยงเรื่องการรับเงินหรือการถูกบังคับให้แปลงเป็นเงินจ๊าต เช่นเดียวกับด้านรายจ่าย สำหรับรายจ่ายของโครงการเมียนมา ที่เป็นสกุลต่างประเทศ จะทำการ จ่ายจากบัญชีนอกประเทศเมียนมา ดังนั้นยังสามารถบริหารจัดการได้ตามปกติ

6.กลุ่มชิ้นส่วน บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) DELTA มีโรงงานอยู่ในเมียนมา พื้นที่การผลิต 4,500 ตารางเมตร คิดเป็น 2% ของ พื้นที่โรงงานทั้งหมด โดยโรงงานดังกล่าวผลิตชิ้นส่วนขั้นกลางแล้วส่งมาประกอบต่อในไทยเป็นหลัก ประเมินว่าจะได้รับผลกระทบจำกัด

นางวรรณิภา ภักดีบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โอสถสภา (OSP) เปิดเผยว่า บริษัทเป็นผู้นำเครื่องดื่มให้พลังงานอันดับหนึ่งในเมียนมาภายใต้แบรนด์ชาร์ค ที่ครองใจผู้บริโภคมากว่า 25 ปี การที่ธนาคารกลางเมียนมาประกาศคำสั่ง ภาคเอกชนให้ระงับชำระหนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ โดยยังดำเนินธุรกิจตามปกติ โดยการชำระหนี้จะมีการเจรจากับสถาบันการเงินต่อไป นอกจากนั้น ปัจจุบันนี้การซื้อขายในเมียนมายังสามารถทำได้หลายสกุลเงินมากขึ้น ทำให้สามารถบริหารจัดการทางการเงินได้หลากหลายมากขึ้น เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ