หุ้นไทยดิ่งลงหนัก ผวาเฟดใช้ยาแรง สกัดเงินเฟ้อ ล่าสุดขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% แรงที่สุดในรอบ 28 ปี พร้อมส่งสัญญาณนี้เดินหน้าขึ้นต่ออีก 1.75% ในปีนี้ กระตุ้นเงินทุนไหลออกกดดัน ค่าเงินบาทอ่อน จับตาแรงขายต่างชาติ “ทิสโก้” ชี้เสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัวจนอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย ด้าน “กรณ์” คาด กนง.อาจเรียกประชุมฉุกเฉินเพื่อปรับขึ้นดอกเบี้ย แนะเร่งแก้เงินเฟ้อก่อนเศรษฐกิจพัง ขณะที่ “คณิศ” ยัน กนง.ไม่มีประชุมฉุกเฉิน ชี้เสถียรภาพเศรษฐกิจเข้มแข็ง ทุนสำรองสูงหนี้ต่างประเทศน้อย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดหุ้นไทยผันผวนสวิงตัวขึ้น-ลงแรง หลังช่วงเช้าเปิดตลาดดัชนีดีดตัวขึ้นแรงกว่า 13.65 จุด ไต่กลับขึ้นไปยืนเหนือระดับ 1,600 จุดได้ หลังผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) (เมื่อคืนวันที่ 15 มิ.ย.ตามเวลาประเทศไทย) ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75% สู่ระดับ 1.75% ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2537 หรือในรอบ 28 ปี และเฟดยังส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมครั้งถัดไปวันที่ 27 ก.ค.นี้
ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟด ถือเป็นปัจจัยลบต่อตลาดหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยง แต่ทันทีที่ทราบผลตลาดหุ้นสหรัฐฯกลับปรับตัวขึ้น โดยระบุว่าเป็นไปตามที่นักลงทุนคาดไว้แล้ว ส่งผลให้เปิดตลาดเช้าหุ้นเอเชียรวมทั้งไทย ดัชนีปรับตัวขึ้น ก่อนที่จะค่อยๆย่อตัวลงมาอยู่ในแดนลบ แต่ช่วงท้ายตลาดหุ้นไทยกลับดิ่งตัวลงรุนแรงจนติดลบไปกว่า 20 จุด ก่อนมาปิดที่ 1,561.10 จุด ลดลง 32.44 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 97,738.02 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 5,799.70 ล้านบาท ทั้งนี้ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดสู่ระดับ 1.75% และยังส่งสัญญาณปรับขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายของไทยซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 0.5% กับสหรัฐฯถ่างกว้างออกมากขึ้นเรื่อยๆ กระตุ้นเงินทุนไหลออกจากทั้งตลาดหุ้นและตลาดเงิน เพื่อไปหาผลตอบแทนที่สูงกว่า ท่ามกลางการอ่อนค่าของเงินบาท และอัตราเงินเฟ้อของไทยที่สูงจนทุบสถิติ ทำให้มีการคาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จำเป็นต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้นกว่าที่คาดเดิม ยิ่งเป็นตัวกดดันตลาดหุ้น ขณะที่มีกระแสข่าวว่า กนง.อาจเรียกประชุมฉุกเฉินเพื่อตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยก่อนการประชุมครั้งถัดไปที่จะเกิดขึ้นในเดือน ส.ค.นี้
บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี ชี้นักลงทุนกังวลการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯครั้งต่อไป รวมทั้งการปรับลดมุมมองการเติบโตของเศรษฐกิจของสหรัฐฯลดลง นำไปสู่การเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ขณะที่การรีบาวน์ของตลาดที่เกิดขึ้นเป็นเพียงช่วงสั้นๆ สิ่งที่ต้องระวังหลังจากนี้ คือ แรงขายของต่างชาติในทุกการรีบาวน์ เพราะหากถือหุ้นต่อจะมีความเสี่ยงในแง่ราคาหุ้นบางกลุ่มที่อยู่ในกรอบจำกัด
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ กล่าวว่า เฟดมีมุมมองแนวโน้มดอกเบี้ย (Dot Plot) ที่ชี้ว่า Fed จะปรับดอกเบี้ยขึ้นจนสู่ระดับ 3.25-3.50% ณ สิ้นปีนี้หรือปรับขึ้นอีก 1.75% ซึ่งมีมุมมองที่เข้มงวดกว่าเดิมเมื่อเดือน มี.ค. ที่คาดว่าดอกเบี้ยจะปรับขึ้นแตะ 1.75-2.00% เท่านั้น ด้านประมาณการเงินเฟ้อ Fed ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้ขึ้น สอดรับกับมุมมองดอกเบี้ยที่เข้มงวด (Hawkish) ขึ้นอย่างมาก โดยปรับเงินเฟ้อปีนี้ขึ้นเป็น 5.2% จากเดิมเดือน มี.ค.ที่ 4.3% จากสถานการณ์นี้ ทิสโก้มองว่า เงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงกลับเข้าสู่เป้าหมายของเฟดที่ 2% ได้ช้า นับเป็นแรงกดดันสำคัญให้เฟดต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจให้ชะลอลงอย่างรวดเร็ว จนอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ได้ ซึ่งต้องติดตามพัฒนาการตัวเลขเศรษฐกิจต่อจากนี้ใกล้ชิด
ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และ อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% มีความเป็นไปได้ที่ กนง.จะเรียกประชุมฉุกเฉินเพื่อตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อไม่ให้มีส่วนต่างดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐฯมากเกินไป ป้องกันเงินทุนไหลออก เพราะหากรอการประชุมเดือน ส.ค.จะนานเกินไป และคาดว่าดอกเบี้ยนโยบายไทยจะปรับขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้ง จาก 0.50% ในปัจจุบันเป็น 1% ในกลางปีหน้า หรืออาจถึง 2% ปลายปีหน้า ทั้งนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจบ้าง แต่เศรษฐกิจปัจจุบันเผชิญความไม่แน่นอนสูง ที่จะทำให้เศรษฐกิจไม่ดีไปอีกนาน และเมื่อเจอภาวะเงินเฟ้อสูง ทำให้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจทำได้ยากขึ้น ดังนั้นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเงินเฟ้อก่อน สกัดเงินเฟ้อให้อยู่แล้วค่อยดูเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ที่มีผลกระทบตามมาจากการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ และการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
“สาเหตุที่ กนง.ต้องตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย เพราะจะเกิดเงินทุนไหลออก ทำให้เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง กระทบการนำเข้าน้ำมันที่หากเงินบาทอ่อนค่า ต้องใช้เงินตราต่างประเทศในการนำเข้าน้ำมันมากขึ้น ก็จะกระทบกับดุลบัญชีเดินสะพัดได้”
ขณะที่นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (สกพอ.) หนึ่งในคณะกรรมการ กนง. กล่าวว่า ไม่มีการนัดหมายการประชุม กนง.นัดฉุกเฉินเพื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย โดยการประชุมนัดต่อไปยังเป็นไปตามปกติคือเดือน ส.ค.นี้ ส่วนกรณีที่เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% และจะขึ้นอีกเรื่อยๆเพื่อสกัดเงินเฟ้อ จะทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายนั้น ถือเป็นเรื่องปกติ เมื่อเงินไหลออกก็ไหลกลับเข้ามาได้ เพราะการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เป็นการขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้น ไม่มีผลต่อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯในระยะยาวที่ใช้อัตราดอกเบี้ยเดิม สำหรับเศรษฐกิจไทยถือว่ามีแนวโน้มที่ดี ปีนี้ขยายตัว 3% และจะขยายตัวต่อเนื่องปี 66 อีก 4.5-5% ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังสูงมาก และหนี้สินต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำมาก ถือว่ายังมีเสถียรภาพมาก ไม่เหมือนบางประเทศที่มีหนี้ต่างประเทศมากและเงินทุนสำรองต่ำ จึงเสี่ยงมากเมื่อสหรัฐฯขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่เศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น.