ประกันโควิด เจอ จ่าย จบ ทำ "สินมั่นคงประกันภัย" ขาดทุนกว่า 29,421 ล้าน

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ประกันโควิด เจอ จ่าย จบ ทำ "สินมั่นคงประกันภัย" ขาดทุนกว่า 29,421 ล้าน

Date Time: 24 พ.ค. 2565 10:37 น.

Video

บิทคอยน์ VS เงินในกระเป๋าเกี่ยวกันยังไง ? | Digital Frontiers

Summary

  • ประกันโควิด เจอ จ่าย จบ ทำสินมั่นคงประกันภัยสั่นคลอน ไตรมาส 1/65 ขาดทุนสุทธิ 29,421.37 ล้านบาท จ่ายสินไหมประกันโควิดแค่ 3 เดือนแรกของปี 65 กว่า 23,260.74 ล้านบาท

ประกันโควิด เจอ จ่าย จบ ทำสินมั่นคงประกันภัยสั่นคลอน ไตรมาส 1/65 ขาดทุนสุทธิ 29,421.37 ล้านบาท จ่ายสินไหมประกันโควิดแค่ 3 เดือนแรกของปี 65 กว่า 23,260.74 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 65 ที่ผ่านมา นายเรืองเดช ดุษฎีสุรพจน์ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET โดยระบุว่า ไตรมาสที่ 1/65 บริษัทขาดทุนสุทธิ 29,421.37 ล้านบาท หรือคิดเป็น 16,794.48% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1/64 บริษัทมีกำไรสุทธิ 176.23 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ขอนำส่งการวิเคราะห์และคำอธิบายของฝ่ายจัดการดังนี้

1. รายได้รวมของบริษัทฯ ในไตรมาส 1/65 เท่ากับ 2,472.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.32 ล้านบาท จากช่วงระยะเวลาเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 2,452.74 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 0.79% ซึ่งเกิดจากสาเหตุหลัก ดังนี้

- เบี้ยประกันภัย ที่ถือเป็นรายได้ในไตรมาสนี้เท่ากับ 2,410.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.21 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 2.00% เป็นผลมาจากสำรองเบี้ยประกันภัย บวกกับที่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อนจำนวน 566.02 ล้านบาท

- รายได้และกำไรจากการลงทุน ลดลง 17.54 ล้านบาท ลดลง 32.64% เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักเกิดจากรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลที่ลดลง 51.68 ล้านบาท คิดเป็นอัตราลดลง73.38% แต่ผลขาดทุนจากการปรับมูลค่ายุติธรรมมีจำนวนลดลง 38.20 ล้านบาท คิดเป็นอัตราลดลง 99.99% เนื่องจากไตรมาส 1/64 มีผลขาดทุนจากสัญญา FX

2. ค่าใช้จ่ายรวม เท่ากับ 31,624.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29,388.06 ล้านบาท คิดเป็นอัตรา 1,313.81% จากงวดเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวมเท่ากับ 2,236.85 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากสาเหตุหลัก ดังนี้

- สำรองความเสี่ยงภัย ที่ยังไม่สิ้นสุดในไตรมาส 1 ปี 2565 เท่ากับ 6,374.52 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 100.00% เป็นผลมาจากสำรองเบี้ยประกันภัยไม่เพียงพอต่อค่าสินไหมทดแทน Covid-19 จึงต้องตั้งสำรองความเสี่ยงภัยที่ยังไม่สิ้นสุดเพิ่มเติม

- ค่าสินไหมทดแทน ในไตรมาส 1/65 เท่ากับ 24,571.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23,166.89 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 1,649.03% โดยแยกเป็นค่าสินไหมทดแทนประเภทอื่นๆ 1,311.03 ล้านบาท และค่าสินไหมทดแทนโควิดเท่ากับ 23,260.74 ล้านบาท เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อในปี 2564

3. กำไรจากการรับประกันภัย ในไตรมาส 1/65 มีผลขาดทุนจำนวน 29,187.25 ล้านบาท เนื่องจากการรับประกันภัยโควิดประสบผลขาดทุนเป็น จำนวนเงินสูงถึง 29,479.68 ล้านบาท ส่วนการรับประกันภัยประเภทอื่นๆ มีผลกำไรจำนวน 292.42 ล้านบาท

สรุป สาเหตุหลักที่ทำให้ผลการดำเนินงานประสบผลขาดทุนสูงถึง 29,421.37 ล้านบาท มาจากจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนโควิดที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/64 ซึ่งมีจำนวนเงินจ่ายสินไหมทดแทนโควิด เพียง 19.08 ล้านบาท

นอกจากนี้ สินมั่นคงประกันภัย ได้ทำการประกาศกรอบเวลาและขั้นตอนฟื้นฟูกิจการ เร่งแก้ไขปัญหาสินไหมโควิด หลังศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ แล้ว บริษัทฯ จึงได้กำหนดกรอบระยะเวลาประมาณการเพื่อฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้น และขั้นตอนกระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมาย เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาสินไหมโควิด และสร้างความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ต่อไป โดยกรอบระยะเวลาดำเนินการการฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้นดังนี้

1. บริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาล 17 พ.ค. 65

2. ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และกำหนดวันนัดพิจารณาลูกหนี้อยู่ในสภาวะบังคับชั่วคราว หรือ สภาวะพักการชำระหนี้ (Automatic Stay) 18 พ.ค. 65

3. ศาลจัดส่งคำร้องขอฟื้นฟูกิจการให้บรรดาเจ้าหนี้ประมาณเดือน มิ.ย. 65

4. ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ 15 ส.ค. 65

5. ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนประมาณเดือน ต.ค. 65

6. ประกาศคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนในหนังสือพิมพ์และราชกิจจานุเบกษา (หลังจากศาลมีคำสั่งตามข้อ 5 ประมาณ 1 เดือน) ประมาณเดือน พ.ย. 65

7. เจ้าหนี้ต้องดำเนินการยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในระยะเวลา 1 เดือนนับจากวันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนประมาณเดือน ธ.ค. 65

8. ผู้ทำแผนจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการและส่งแผนฟื้นฟูกิจการภายใน 3 เดือนนับจากวันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผน (ขอขยายได้ 2 ครั้งๆ ละไม่เกิน 1 เดือน) ประมาณเดือน มี.ค. 66

9. เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นำส่งแผนฟื้นฟูกิจการให้กับเจ้าหนี้ประมาณเดือน เม.ย. 66

10. เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาลงมติออกเสียงในแผนฟื้นฟูกิจการประมาณเดือน พ.ค. 66

11. ศาลล้มละลายพิจารณาคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการประมาณเดือน มิ.ย. 66

12. ผู้บริหารแผนดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ก.ค. 66 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตามกรอบระยะเวลาดำเนินการนี้เป็นการประมาณการเบื้องต้นและภายใต้สมมติฐานที่ดีที่สุด ทั้งนี้ กรอบระยะเวลาดำเนินการอาจมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมและจำเป็น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ