นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังมีแนวโน้มที่จะเลื่อนการจัดเก็บภาษีการขายหุ้นออกไปก่อน เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่เหมาะสมที่จัดเก็บภาษี จากเดิมมีแนวคิดที่จะจัดเก็บภาษีหุ้นในเร็วๆนี้ หลังจากที่ยกเว้นการจัดเก็บภาษีหุ้นมาเป็นเวลา 30 ปี โดยการยกเว้นการจัดเก็บภาษีช่วงนั้น ดำเนินการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาของตลาดหลักทรัพย์ในขณะนั้น ที่มูลค่าตลาดอยู่ที่ราว 700,000- 800,000 ล้านบาท แต่วันนี้มูลค่าตลาดสูงถึง 16 ล้านล้านบาท หรือเท่าๆกับขนาดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ
ด้านนางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า หากมีการเลื่อนการจัดเก็บภาษีการขายหุ้นออกไป จะไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของกรมสรรพากรในปีงบประมาณ 2565 เนื่องจากยังไม่ได้นำรายได้ส่วนนี้มารวมในการคาดการณ์รายได้ปีงบประมาณนี้ ซึ่งมีเพียงรายได้จากภาษีอีเซอร์วิสเท่านั้น จากเดิมคาดว่าจะมีรายได้จากภาษีอีเซอร์วิส 5,000 ล้านบาท ขณะนี้จัดเก็บได้เพิ่ม 8,000-10,000 ล้านบาท เนื่องจากมีผู้ประกอบการมาจดทะเบียนเพิ่มขึ้น ปัจจุบันอยู่ที่ 123 ราย
“ก่อนหน้านี้กรมสรรพากรได้เคยศึกษาว่า หากต้องจัดเก็บภาษีการขายหุ้น จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อนักลงทุน พบว่า นักลงทุนราว 80% จะไม่ได้รับผลกระทบเพราะมูลค่าการขายต่อเดือนไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยอัตราการจัดเก็บที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร 0.1% ของการขาย บวกกับภาษีท้องถิ่นอีก 10 % รวมเป็น 0.11% แต่ภาษีนี้ได้รับการยกเว้นมานานถึง 30 ปีแล้ว ซึ่งกรมสรรพากรมองว่าอัตราที่จัดเก็บเป็นอัตราที่ต่ำ และคิดเฉพาะส่วนเกินของวงเงินที่ได้รับการยกเว้น เช่น หากวงเงินการขายเกินมา 1,000 บาท จะเสียภาษีเพียง 1 บาทเศษ ถ้าวงเงินการขายเกินมา 1 ล้านบาท จะเสียภาษีเพียง 1,000 บาท”.