“ไพบูลย์” ค้านเก็บภาษีขายหุ้น นัดถกบอร์ดสภาตลาดทุนสัปดาห์หน้า ก่อนยื่นหนังสือแสดงท่าทีถึงกระทรวงคลัง หวั่นกระทบสภาพคล่องที่เป็นจุดขายของตลาดหุ้นไทย หากเก็บภาษีจริงคาดจะทำให้วอลุ่มเทรดตลาดรวมหายไป 20–30% ส่วน “โอมิ ครอน” คาดกระทบหุ้นไทยไม่มาก พร้อมเผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้าลดลง 4.2% แต่ยังอยู่ในโซนร้อนแรง
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยถึงมาตรการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (Financial Transaction tax) ว่า สัปดาห์หน้าจะมีการนัดประชุมคณะกรรมการ FETCO โดยจะมีการพูดคุยรายละเอียดเรื่องนี้ ซึ่งที่ผ่านมาเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษี แต่ผลการประชุมจะได้ข้อสรุปอย่างไร จะทำหนังสือถึงกระทรวงการคลังเพื่อให้ความคิดเห็น
อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีการขายหุ้น โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีในสถานการณ์ปีนี้คงไม่เหมาะสม แม้รัฐบาลต้องการหารายได้เพิ่มจากการขาดดุลงบประมาณ แต่หากมองในระยะยาวอาจกระทบต่อสภาพคล่องของตลาดทุน ทำให้ลดประสิทธิภาพของตลาดทุนไทยได้ เพราะสภาพคล่องในการซื้อขายของตลาดหุ้นไทยที่สูงมาก คือจุดขายหลักของตลาดหุ้นไทยที่มีสภาพคล่องมากสุดในภูมิภาคอาเซียน จึงไม่อยากเห็นการออกมาตรการที่จะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่อง เพราะอย่าลืมว่าตลาดหุ้นอยู่ได้ด้วยสภาพคล่อง โดยหลายตลาดในต่างประเทศต้องการเพิ่มสภาพคล่องแต่ยังไม่สามารถทำได้ เช่น สิงคโปร์ แม้ขนาดตลาดจะใหญ่กว่า แต่สภาพคล่องน้อยกว่าตลาดหุ้นไทยมาก และที่สำคัญไม่เห็นด้วยที่จะออกมาในปีนี้
อย่างไรก็ตาม หากมีการเก็บภาษีจากการขายหุ้นปีนี้จริง เบื้องต้นประเมินว่าผลกระทบจะส่งผลให้วอลุ่มเทรด หรือมูลค่าการซื้อขายของตลาดรวมหายไปราว 20-30% โดยนักลงทุนกลุ่มที่จะได้รับกระทบมากที่สุดคือนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งหากมีการจัดเก็บภาษีจะทำให้ต้นทุนของนักลงทุนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เท่าตัว และจะทำให้ยอดการเทรดของนักลงทุนต่างชาติลดลง จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนกว่า 40% ของวอลุ่มฯตลาดรวม และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักอีกกลุ่มคือกลุ่มเทรดเดอร์และ Prop Trade ที่ทำให้ต้นทุนการเทรดเพิ่มขึ้นเช่นกัน
นายไพบูลย์ยังได้กล่าวถึง การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” ในประเทศว่า คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยไม่มากนัก เพราะนักลงทุนผ่านเหตุการณ์แพร่ระบาดมาแล้วหลายรอบ จึงทำให้ลดความตื่นตระหนกและเทขายหุ้นออกมาน้อยกว่ารอบก่อนๆ แม้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นหมื่นรายก็จะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไม่มากนัก เพราะปัจจัยที่นักลงทุนให้ความสำคัญคือการปรับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯมากกว่า ทั้งนี้ มองว่าตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในช่วงขาขึ้น เนื่องจากปรับตัวขึ้นน้อยกว่าเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นต่างประเทศ และทิศทางเงินเฟ้อไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้การปรับขึ้นดอกเบี้ยมีโอกาสน้อย ขณะที่เศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอาจมีการเลือกตั้งใหม่ช่วงปลายปีที่น่าจะส่งผลดีต่อตลาด
นายไพบูลย์ยังเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าลดลง 4.2% อยู่ที่ระดับ 129.53 จุด แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” โดยนักลงทุนคาดหวังว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดมากที่สุด ตามด้วยการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ส่วนปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ความกังวลต่อการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน รองลงมาคือความขัดแย้งระหว่างประเทศ และผลการประชุมอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)