KTC เขย่าแผนธุรกิจสู้โควิด19 โชว์กำไรครึ่งปี 64 แตะ 3,352 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าขยายขอบเขตธุรกิจสินเชื่อ รักษาฐานสมาชิกและช่วยเหลือผู้เดือดร้อน
เมื่อวันที่ 16 ก.ค.64 ที่ผ่านมา นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC กล่าวว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในช่วง 6 เดือนของปีนี้ยังคงเติบโต ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนจากโควิด-18 โดยภาพรวมของ KTC ยังผ่านไปได้ดี โดยเรียนรู้จากประสบการณ์มาเป็นเข็มทิศในการปรับแผนกลยุทธ์เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
โดยสิ้นเดือน พ.ค. 64 บริษัทฯ มีการขยายตัวของลูกหนี้บัตรเครดิตเท่ากับ 10.4% ซึ่งอุตสาหกรรมโต 8.6% ทำให้เคทีซีมีสัดส่วนของลูกหนี้บัตรเครดิตเทียบกับอุตสาหกรรมเท่ากับ 13.7% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีสัดส่วน 13.5% ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 5.4% ซึ่งอุตสาหกรรมโต 2.2% และสัดส่วนลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเทียบกับอุตสาหกรรมเท่ากับ 4.7%
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ได้ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและการจัดหาสมาชิกใหม่ทำได้ยากขึ้น รวมถึงการเติบโตของพอร์ตลูกหนี้รวมและปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรขยายตัวได้ไม่มาก เคทีซีจึงมีแผนสร้างโมเดลธุรกิจขยายตัวไปยังสินเชื่อมีหลักประกันมากขึ้น โดยได้เข้าซื้อหุ้น 75.05% ของบริษัท กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด หรือ KTBL เมื่อปลายเดือน พ.ค. 64 และภายหลังการตรวจสอบตามเงื่อนไขเสร็จสิ้นในเดือนพ.ย. 64 ซึ่ง KTBL จะเป็นหนึ่งในบริษัทย่อยของเคทีซี
สำหรับผลการดำเนินงานสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 64 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 เคทีซีมีกำไรสุทธิในช่วงครึ่งปีแรก 3,352 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.1% และมีกำไรสุทธิในไตรมาส 2 เท่ากับ 1,703 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48.2% แม้ว่าบริษัทฯ จะมีรายได้รวมลดลง
แต่ยังสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายรวมให้ต่ำลง จากการลดค่าใช้จ่ายทางการเงินและผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลงไปได้ อีกทั้งมีรายได้หนี้สูญได้รับคืนอยู่ในระดับที่ดีขึ้น และรักษาอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (NPL) อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงเดิม
ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีหลายปัจจัยผันแปร จึงเป็นผลให้ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เคทีซีมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานรวมต่อรายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย มีกำไรก่อนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลงที่ -5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการมีพอร์ตลูกหนี้คุณภาพดี ทำให้ความจำเป็นในการตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นน้อยลงไปด้วย ส่งผลให้กำไรสุทธิของบริษัทฯ เติบโตตามสัดส่วนข้างต้น
สำหรับ เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวม 89,444 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ฐานสมาชิกรวม 3.3 ล้านบัญชี แบ่งเป็นพอร์ตสมาชิกบัตรเครดิต 2,544,573 บัตร เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรเครดิตและดอกเบี้ยค้างรับรวม 55,708 ล้านบาท ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรครึ่งปีแรกเท่ากับ 94,160 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9% (ไตรมาส 2 มูลค่า 45,739 ล้านบาท ขยายตัว 13.1%)
ส่วน NPL ต่อเงินให้สินเชื่อลูกหนี้รวมอยู่ที่ 4.4% เพิ่มขึ้นจาก 1.9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2564 จากสาเหตุหลักของการนับรวมพอร์ตลูกหนี้สัญญาเช่าซื้อจาก KTBL ประกอบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้ความสามารถในการชำระของลูกหนี้ลดลง และ NPL ต่อเงินให้สินเชื่อลูกหนี้บัตรเครดิตเท่ากับ 1.5% พอร์ตสมาชิกสินเชื่อบุคคลเคทีซี 802,971 บัญชี เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สินเชื่อบุคคลและดอกเบี้ยค้างรับรวม 29,480 ล้านบาท NPL ต่อเงินให้สินเชื่อลูกหนี้บุคคลอยู่ที่ 3.0% พอร์ตลูกหนี้ตามสัญญาเช่า 4,255 ล้านบาท NPL ต่อเงินให้สินเชื่อลูกหนี้ตามสัญญาเช่าเท่ากับ 51.7%
โดย KTC ยังสามารถทำรายได้รวมในไตรมาส 2/2564 ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ 5,406 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ดอกเบี้ยรวม (รวมรายได้ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน) 3,430 ล้านบาท (ธุรกิจบัตรเครดิต 1,639 ล้านบาท สินเชื่อบุคคล 1,766 ล้านบาท และรายได้ดอกเบี้ยจากลูกหนี้ตามสัญญาเช่าของ KTBL 25 ล้านบาท) ลดลง -5.6% จากการปรับลดเพดานดอกเบี้ยในธุรกิจบัตรเครดิตเป็น 16% รายได้ค่าธรรมเนียม (ไม่รวมค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน) 1,042 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.6% จากรายได้ค่าธรรมเนียม Interchange
รายได้ค่าธรรมเนียมส่วนลดจากร้านค้าผู้รับชำระบัตรที่เป็นสมาชิกของเคทีซีเพิ่มขึ้นเป็น 42,625 ร้านค้า และรายได้ค่าธรรมเนียมในการเบิกเงินสดล่วงหน้าเพิ่มขึ้น แต่ค่าธรรมเนียมในการติดตามหนี้ลดลง รายได้หนี้สูญได้รับคืน 833 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 19.3%) และรายได้อื่นๆ 100 ล้านบาท
ขณะที่รายได้รวมครึ่งแรกของปี 2564 อยู่ที่ 10,798 ล้านบาท ลดลง -2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และมีค่าใช้จ่ายรวมในไตรมาส 2/2564 เท่ากับ 3,278 ล้านบาท ลดลง -17.3% แบ่งเป็นผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 1,144 ล้านบาท (ลดลง -45.1%) ต้นทุนทางการเงิน 359 ล้านบาท (ลดลง -5.3%)
ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานรวม 1,775 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 18.3%) โดยมีวงเงินสินเชื่อคงเหลือ (Available Credit Line) จำนวน 22,330 ล้านบาท ต้นทุนการเงิน 2.62% และอัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 2.45 เท่า ต่ำกว่าภาระผูกพันที่กำหนดไว้ที่ 10 เท่า
ขณะเดียวกันบริษัทฯ ได้ขยายเวลาให้ลูกหนี้สมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สมัครรับความช่วยเหลือด้านสินเชื่อจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 64 เพื่อสนับสนุนมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีกลุ่มลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือรวม 21,564 บัญชี ด้วยยอดหนี้คงเหลือที่ 1,545 ล้านบาท