3 ประเด็นสำคัญที่ต้องลุ้น สำหรับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2564

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

3 ประเด็นสำคัญที่ต้องลุ้น สำหรับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2564

Date Time: 29 ม.ค. 2564 08:00 น.

Video

ดร.พิพัฒน์ KKP กระเทาะโจทย์เศรษฐกิจไทย บุญเก่าเจอความเสี่ยง บุญใหม่มาไม่ทัน

Summary

  • การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างสูง แม้เราจะพยายามตอบ 3 คำถามเหล่านั้นอย่างสุดความสามารถ แต่ความแน่นอนก็คือความไม่แน่นอนอยู่ดี
  • การปิดเมืองคุมโควิดระบาดใหม่ เน้นแบบเฉพาะเจาะจงในแง่พื้นที่และภาคธุรกิจมากขึ้น น่าจะกระทบไม่มากเท่ากับปิดเมืองในรอบแรก
  • กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มได้รับวัคซีน และเกิดภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของปี 2564
  • ภาครัฐของหลายๆ ประเทศสำคัญทั่วโลก รวมถึงภาครัฐของไทย ยังมีความพร้อมที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา มีเหตุการณ์สำคัญที่กระทบกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยอย่างมากเกิดขึ้น ซึ่งก็คือ การกลับมาระบาดอีกครั้งของ COVID-19 ในประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ในหลายประเทศก็มีการกลับมาระบาดจนทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มขึ้น และในบางประเทศ รวมถึงไทยด้วย ก็มีการเพิ่มขึ้นเร็วและมากกว่าในระลอกแรกด้วย แต่นอกจากข่าวร้ายแล้ว เราก็เห็นข่าวดีเรื่องการค้นพบวัคซีนจากหลายค่าย และมีการเริ่มทยอยฉีดวัคซีนในหลายประเทศ

ประเด็นที่ต้องมาลุ้นกัน หรือผมขอเรียกอีกอย่างว่า เป็นคำถามที่ยังไม่ทราบผลลัพธ์ที่ชัดเจน เนื่องจากมีความไม่แน่นอนสูง แต่ผลลัพธ์ของคำถามเหล่านี้จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดความเร็วหรือช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย มีอยู่ 3 คำถามหลักๆ ด้วยกัน

1. รัฐจะใช้มาตรการปิดเมืองแบบไหน และจะสามารถควบคุมการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่นี้ได้เมื่อไร?

2. จะมีการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลายจนเกิดภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity ซึ่งในกรณีของ COVID-19 จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการฉีดวัคซีนให้กับ 60%-70% ของประชากร) ในไทย และประเทศคู่ค้า หรือประเทศของนักท่องเที่ยวที่มาไทยหลักๆ ได้เมื่อไร?

3. ในระหว่างที่รอการฉีดวัคซีนจะมีมาตรการประคับประคองเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน และอย่างไร?

แน่นอนว่าเป็น 3 คำถามที่ตอบยากมาก และคงไม่มีใครสามารถที่จะให้คำตอบที่ชัดเจนแม่นยำได้จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในปัจจุบัน แต่ในการวิเคราะห์และคาดการณ์แนวโน้มทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงปัจจัยเหล่านี้

โดยมุมมองที่แตกต่างของนักเศรษฐศาสตร์ต่อคำถามเหล่านี้ ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้มีตัวเลขประมาณการ GDP ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งในบทความนี้จะขออนุญาตแชร์มุมมองของ SCB EIC เกี่ยวกับคำถามดังนี้

ประเด็นแรก EIC ประเมินว่า ภาครัฐในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงในบ้านเราด้วย มีบทเรียนแล้วว่า การปิดเมืองแบบเข้มงวดทั้งประเทศนั้นส่งผลกระทบที่รุนแรงกับเศรษฐกิจ ดังนั้นในรอบใหม่นี้ลักษณะการปิดเมืองจึงเน้นแบบเฉพาะเจาะจงในแง่พื้นที่และภาคธุรกิจมากขึ้น ซึ่งแม้จะยังส่งผลลบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอยู่ แต่ก็ไม่หนักเท่ารอบที่แล้ว

โดยจากข้อมูลเร็ว (High frequency data) บ่งชี้ว่า การระบาดระลอกใหม่ได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีลักษณะ face-to-face ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการ ในขณะที่ภาคการผลิตได้รับผลกระทบน้อยกว่า

สำหรับคำถามที่ว่า เราจะคุมการระบาดรอบนี้ได้เมื่อไรนั้น เป็นคำถามที่ตอบยากมาก แต่ในการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจถ้าไม่ตั้งสมมติฐานเพื่อตอบคำถามนี้ ก็คงวิเคราะห์เศรษฐกิจไม่ได้ โดยล่าสุด EIC ประเมินว่าจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน (ม.ค. และ ก.พ.64) ในการควบคุมการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบไม่มากเท่ากับปิดเมืองในรอบแรก

เนื่องจากการใช้นโยบายการปิดเมืองแบบเฉพาะเจาะจง ภาคธุรกิจและโรงงานมีการเตรียมตัวไว้ในระดับหนึ่งแล้ว จากการระบาดรอบที่แล้ว การเข้ามามีบทบาทมากขึ้นของ e-commerce และธุรกิจ delivery รวมถึงปัญหา global supply chain disruption ที่ไม่รุนแรงมากในรอบนี้

แต่สำหรับภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักจากรอบที่แล้ว และมีความเปราะบางอยู่แล้ว เช่น ภาคบริการ การปิดเมืองรอบสองก็ถือเป็นหมัดซ้ำที่เข้ามาเพิ่มความเจ็บปวดให้พอสมควร ซึ่งจะทำให้ปัญหาแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (scarring effects ที่เกี่ยวข้องกับ การจ้างงาน การผิดนัดชำระหนี้ และการปิดกิจการ) มีความรุนแรงขึ้น หากไม่ได้รับการเยียวยาอย่างทันท่วงที

ประเด็นที่สอง ที่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงจนมีภูมิคุ้มกันหมู่นั้น จากการวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุด EIC คาดว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี และญี่ปุ่น มีแนวโน้มได้รับวัคซีน และเกิดภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของปี 2564

ขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จะทยอยเกิดภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 (เช่น จีน และมาเลเซีย) เรื่อยไปจนถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2565 (เช่น อินเดีย และกลุ่มประเทศ CLMV) ในส่วนของไทยนั้น รัฐบาลตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้กับ 50% ของประชากร ภายในสิ้นปี 2564 โดย EIC ประเมินว่า ไทยจะเกิดภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2565

ความช้าเร็วในการมีภูมิคุ้มกันหมู่ น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ภาครัฐตัดสินใจเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง มาตรการรักษาระยะห่าง ซึ่งจะส่งผลให้มีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้า และส่งผลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของการส่งออกของไทย

สำหรับภาคการท่องเที่ยวแล้ว การมีภูมิคุ้มกันหมู่ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาครัฐเริ่มอนุญาตให้ประชากรในประเทศเดินทางออกต่างประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัวเมื่อกลับมาถึงประเทศของตน ในทางกลับกันการได้รับวัคซีนก็น่าจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ประเทศปลายทางกล้าที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวเช่นกัน

เมื่อพิจารณาช่วงเวลาที่จะเริ่มมีภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศของนักท่องเที่ยวหลักที่นิยมเดินทางมายังไทย EIC ประเมินว่าไทยน่าจะเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี แต่การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศอย่างมีนัยน่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4/2564 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศนักท่องเที่ยวหลัก เช่น จีน และมาเลเซีย มีภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว โดย EIC คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศประมาณ 3.7 ล้านคนในปี 2564 (ซึ่งน้อยกว่าในปี 2563 ที่ 6.7 ล้านคน)

นอกจากนี้ การส่งออกของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าคาดในช่วงไตรมาสแรกของปี จากผลกระทบของการระบาดรอบใหม่ต่อเศรษฐกิจโลก ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่ง EIC คาดอยู่ในกรอบ 29.5-30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2564

อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่ถูกนำออกมาใช้ในหลายประเทศ การปิดเมืองแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น และการทยอยมีภูมิคุ้มกันหมู่ จะทำให้เศรษฐกิจโลกและการส่งออกของไทยกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี

ประเด็นที่สาม เกี่ยวกับมาตรการประคับประคองเศรษฐกิจ EIC ประเมินว่าภาครัฐของหลายๆ ประเทศสำคัญทั่วโลก รวมถึงภาครัฐของไทย ยังมีความพร้อมที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่รอให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ โดยในส่วนของไทยนั้นนโยบายการคลังที่เน้นการประคับประคองรายได้ครัวเรือนน่าจะถูกนำออกมาใช้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ภาครัฐยังมีเม็ดเงินอีกกว่า 6.4 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการเยียวยาและประคับประคองเศรษฐกิจในปี 2564 โดยนอกจากการอัดฉีดเงินผ่านงบประมาณปกติแล้ว ภาครัฐยังมีเม็ดเงินเพิ่มเติมที่สามารถพยุงเศรษฐกิจได้ คิดเป็นวงเงินราว 6.4 แสนล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นเม็ดเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่เหลือราว 5 แสนล้านบาท และเม็ดเงินในส่วนของงบกลางของปีงบประมาณ 2564 อีกประมาณ 1.4 แสนล้านบาท

ขณะที่นโยบายการเงินจะเน้นการจัดสรรสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจและครัวเรือนกลุ่มที่ต้องการ และส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.5% จนกว่าจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานอย่างชัดเจน เพื่อให้ต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง

จากการประเมินคำถามหลัก 3 คำถามดังกล่าวในภาพใหญ่คงต้องยอมรับว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังมีแนวโน้มเป็นไปอย่างช้าๆ โดย EIC คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะโต 2.2% (เทียบกับ -6.5% ในปี 2563) เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมสำคัญทั้งในแง่มูลค่าทางเศรษฐกิจและการจ้างงานยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมมีความแตกต่างระหว่างภาคธุรกิจค่อนข้างมาก แรงสนับสนุนจากภาครัฐจึงยังเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อประคับประคองการฟื้นตัว และลดความรุนแรงของแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่จะตามมาในอนาคต

"การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างสูง อย่างที่เรียนในตอนต้น แม้เราจะพยายามตอบ 3 คำถามเหล่านั้นอย่างสุดความสามารถ แต่ความแน่นอนก็คือความไม่แน่นอนอยู่ดี"

บทความโดย : ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ
ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน
Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
eic@scb.co.th | EIC Online: www.scbeic.com


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ