ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 28 ส.ค.63 ปิดที่ 1,323.31 จุด ลดลง 3.50 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 54,673.10 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 3,816.77 ล้านบาท
บล.โนมูระ พัฒนสินออกบทวิเคราะห์มาตรการรวมหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นบวกเล็กๆ ต่อกลุ่มธนาคาร เพราะช่วยลดโอกาสการตกชั้นเป็น NPLs และช่วยลดภาระการตั้งสำรองต่อกลุ่มธนาคาร โดยมาตรการดังกล่าวมีเวลาเข้าร่วมตั้งแต่ 1 ก.ย.-31 ธ.ค.63
โดยการรวมหนี้รายย่อยอย่างสินเชื่อบัตรเครดิต, สินเชื่อบุคคล, สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นเจ้าหนี้รายเดียว และปรับโครงสร้างหนี้ โดยมีการยืดอายุการจ่ายหนี้ รวมถึงคิดอัตราดอกเบี้ยเหลือเพียง MRR rate ซึ่งปัจจุบัน MRR rate ของ 4 แบงก์ใหญ่อยู่ที่ราว 5.75-6.22%
ประเมินว่า ธนาคารที่ได้ประโยชน์มากสุดคือ KTB, SCB, TMB, TISCO และ KKP เพราะมีสัดส่วนลูกหนี้รายย่อยมาก แต่เป็นลบต่อกลุ่มบริหารหนี้และกระทบบัตรเครดิต และสินเชื่อรายย่อย โอกาสในการเติบโตของสินเชื่อจะชะลอลงและ NIM จะไม่กว้างเท่าเดิม
ฝ่ายวิจัยเอเซียพลัส ปรับลด EPS ปี 63 ลงอีกครั้งหนึ่ง ออกมาอยู่ที่ 56.7 บาท/หุ้น เป็น EPS ที่ต่ำสุดนับจากปี 52 ส่วนปี 64 คาดว่า EPS Growth จะอยู่ที่ 28% คิดเป็น EPS ที่ 72.51 บาท/หุ้น ปรับลดประมาณการกำไรปี 63 ลงอยู่ที่ 6.13 แสนล้านบาท (ลดลง 36% เทียบกับปีก่อนหน้า) เป็น EPS63F ที่ 56.65 บาท/หุ้น ต่ำสุดในรอบ 11 ปี
กำหนดเป้าหมาย PER ตลาด โดยให้ Market Earning Yield Gap อยู่ที่ 4.5% จะให้ค่า PER ที่ 20 เท่า หรือ 1,450 จุด สิ้นปี 64 โดยภาพรวมเชื่อว่า SET Index น่าจะค่อยๆฟื้นตัวขึ้น
ขณะที่ความกังวล COVID-19 มีแนวโน้มผ่อนคลายลงเรื่อยๆ บวกกับความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีความคืบหน้าในทิศทางบวกมากขึ้น ทำให้สภาพคล่องส่วนเกินที่ล้นระบบอยู่ตอนนี้ (เงินฝากในระบบที่เร่งตัวขึ้นเร็วจนสูงกว่า Market Cap ของ SET) มีโอกาสไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะหุ้นไทยที่ Laggard กว่าตลาดหุ้นอื่นๆมาก
ประเมินเป้า SET ปี 64 ไว้ที่ 1,450-1,526 จุด ถือเป็นโอกาสดีในการสะสมหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง แนะเลือกลงทุนอ้างอิงตามพอร์ตจำลองเอเซียพลัส ที่ให้น้ำหนักหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัวสูงถึง 55% คือ CPF, TFG, CRC, AAV, STGT และ SAT หุ้นปันผลสูง 35% คือ INTUCH, MCS, DCC และหุ้นผันผวนต่ำ 10%
อินเด็กซ์ 51