SCB CIO ประเมินหุ้นทั่วโลกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังเคลื่อนไหวแบบผันผวน หลังได้ปัจจัยหนุนจาก Fed และ ECB ที่ใช้นโยบายการเงินเชิงผ่อนคลาย ขณะที่นักลงทุนหุ้นไทยยังจับตาผลประกอบการ บจ.
SCB Chief Investment Office หรือ SCB CIO ได้วิเคราะห์สถานการณ์การลงทุนประจำสัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 17 - 21 ส.ค. 63 โดยระบุว่า สัปดาห์นี้ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น แต่เคลื่อนไหวผันผวน ได้รับปัจจัยหนุนจากการที่รายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่มีแนวโน้มส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยการพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มคืบหน้าขึ้น และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มออกมาดีกว่าคาด
อย่างไรก็ตาม ความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้บางประเทศกลับมาดำเนินมาตรการควบคุมการระบาด ประกอบกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มล่าช้าออกไป จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และ Sentiment เชิงลบต่อตลาดฯ
นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังมีอยู่ หลังประธานาธิบดีทรัมป์ออกคำสั่งบริหารฉบับใหม่ ซึ่งจะบังคับให้บริษัท ByteDance ของจีนทำการขายหรือเลิกกิจการ TikTok ในสหรัฐฯ ภายใน 90 วัน พร้อมทั้งได้ปล่อยให้ใบอนุญาตผ่อนผันทำการค้าของบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีสหรัฐฯ กับ Huawei หมดอายุลง รวมทั้งการหารือระหว่างสหรัฐฯ-จีน เพื่อติดตามความคืบหน้าข้อตกลงการค้าเฟส 1 ได้ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด จะสร้างความผันผวน และ Sentiment เชิงลบต่อตลาดฯ
ด้านราคาน้ำมันดิบ WTI แนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนต่อ จากความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังเพิ่มขึ้น กดดันอุปสงค์น้ำมันให้ปรับลดลง ขณะที่อุปทานมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้น หลังรัฐมนตรีพลังงานรัสเซียระบุว่า ยังไม่มีความจำเป็นที่ผู้ผลิตน้ำมันจะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลงอีกในขณะนี้
สำหรับตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน โดยนักลงทุนยังติดตามการทยอยประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยในไตรมาสที่ 2 รวมทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศที่เพิ่มขึ้น ด้านราคาทองคำมีแนวโน้มกลับมาปรับเพิ่มขึ้น จากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
แม้ว่ามีความเสี่ยงที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัว ตามการประมูลพันธบัตรใหม่ อายุ 20 ปี วงเงิน 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ก็ตาม
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ควรจับตาในสัปดาห์นี้ คือ ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและพื้นฐานของสหรัฐฯ, ดัชนี PMI ภาคการผลิตของญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยุโรป, ดัชนี PMI ภาคบริการของสหรัฐฯ และยุโรป, ดัชนีบรรยากาศทางธุรกิจ (Ifo) ของเยอรมนี
ส่วนเหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ การหารือระหว่างทำเนียบขาวและสภาคองเกรส, สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19, ประเด็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน, การประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครตเพื่อเสนอชื่อผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรค
นอกจากนี้ ยังมีการประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิต (JMMC) ของกลุ่มโอเปกพลัส, การหารือทางการค้าระหว่าง EU-UK, การรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 2 และรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ และยุโรป