กบร.ไฟเขียวเปิดช่องแก้วิกฤติสายการบิน ปลดล็อกกองทุนรวม-กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเข้ามาถือหุ้นสายการบินในประเทศได้สะดวกยิ่งขึ้น ในฐานะผู้ถือหุ้นไทย เตรียมแก้กฎหมายแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ด้านการบินไทยได้ฤกษ์เปิดบินกรุงเทพฯ-ลอนดอน 3 เที่ยวเดือน ส.ค.นี้
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ที่มีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นประธาน มีมติให้ กพท.ไปแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ออกเป็นกฎกระทรวง เปิดทางให้กองทุนรวมและหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในประเทศ สามารถเข้ามาถือหุ้นในสายการบินในประเทศได้ ในฐานะนักลงทุนไทย จากเดิมที่กองทุนรวมและหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่ได้ถูกรวมอยู่ในสัดส่วนผู้ลงทุนสัญชาติไทย ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องถือหุ้นในสายการบินในประเทศไม่น้อยกว่า 51%
“การปลดล็อกนี้จะทำให้กองทุนรวมและหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในประเทศไทย สามารถเข้ามาถือหุ้นในสายการบินในสัดส่วนนักลงทุนไทยได้ แม้ก่อนหน้านี้ก็ลงทุนได้ แต่ไม่ได้ถูกระบุว่าเป็นนิติบุคคลไทยหรือคนไทย กลายเป็นถูกนับอยู่ในสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติ ทั้งๆที่เป็นกองทุนไทย การปลดล็อกตรงนี้จะทำให้กองทุนสามารถเข้ามาลงทุนในสายการบินในประเทศเพิ่มเติมได้หากมองเห็นโอกาสในการลงทุน”
สำหรับสาเหตุที่มีการแก้ไขกฎหมาย เนื่องจากทางสายการบินได้แจ้งมายัง กพท. เพื่อขอปลดล็อกประเด็นนี้เพราะทำให้สายการบินหมดโอกาสที่จะให้กองทุนเข้ามาลงทุนได้โดยสะดวก ประกอบกับเพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุนในช่วงที่สายการบินต้องการการอัดฉีดเงินเข้ามาลงทุนเพิ่ม อย่างไรก็ตามมีการกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติที่ชัดเจนของกองทุนที่จะเข้ามาลงทุนในสายการบินในประเทศ ว่าจะต้องเป็นกองทุนในประเทศเท่านั้น โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนบังคับใช้ได้ภายใน 3 เดือน
นอกจากนั้นที่ประชุม กบร.ยังได้พิจารณาทบทวน (ร่าง) แผนแม่บทห้วงอากาศและการเดินอากาศแห่งชาติ ซึ่งจากเดิมจะเป็นการบริหารแผนแม่บทระยะเวลา 10 ปี มาเป็นการทบทวนและวางแผนเพื่อรองรับในระยะ 3 ปีข้างหน้า เพื่อให้บริหารจัดการห้วงอากาศและความมั่นคงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยกระทรวงคมนาคม, กพท.ได้มอบหมายให้บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) ไปบริหารจัดการและประสานงานกับกองทัพอากาศที่จะนำห้วงอากาศในกิจการทหารและความมั่นคง ในช่วงที่ไม่ใช้ มาบริหารจัดการในพลเรือนได้แบบยืดหยุ่น โดยมีการคาดการณ์ว่า ใน 3 ปีจากนี้จะสามารถรองรับปริมาณจราจรทางอากาศได้กว่าปีละ 1.2 ล้านเที่ยวบิน จากปัจจุบันรองรับได้ 1 ล้านเที่ยวบินต่อปี
นายจุฬา กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาอนุมัติให้ บวท.สามารถบริหารจัดจราจรทางอากาศได้ไม่มีระยะเวลา จากเดิม บวท.ทำสัญญากับกระทรวงคมนาคมในการเข้ามาเป็นผู้บริหารจราจรทางอากาศ ซึ่งสัญญาเดิมจะหมดอายุในปี 2564 โดยตามขั้นตอนเมื่อ กบร.อนุมัติแล้ว ทางกระทรวงคมนาคมจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป โดยสาเหตุที่เสนอเป็นมติ ครม. เนื่องจากการจัดจราจรในห้วงอากาศของประเทศถือเป็นความมั่นคง
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การบินไทยให้บริการเที่ยวบินพิเศษจากกรุงเทพฯ สู่ลอนดอน สหราชอาณาจักร สำหรับผู้โดยสารที่ต้องการเดินทาง อาทิ นักเรียนไทยที่ต้องการเดินทางไปเรียน ผู้โดยสารชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในสหราชอาณาจักรที่ตกค้างและต้องการเดินทางกลับประเทศ หรือนักธุรกิจ เป็นต้น โดยจัดเที่ยวบินที่ ทีจี 916 เส้นทาง กรุงเทพฯ-ลอนดอน จำนวน 3 เที่ยวบิน ในวันที่ 9 วันที่ 16 และวันที่ 23 ส.ค.2563 ออกจากกรุงเทพฯ เวลา 12.50 น. ถึงลอนดอน เวลา 19.10 น. (เวลาท้องถิ่น) ด้วยบริการภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยตามที่รัฐบาลของสหราชอาณาจักร ประกาศมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามายังสหราชอาณาจักร ต้องมีการกักตนเองอยู่ที่พัก 14 วัน (Self-Isolating) ทั้งนี้ บริษัทฯ จำหน่ายเป็นบัตรโดยสารเที่ยวเดียว เส้นทาง กรุงเทพฯ-ลอนดอน มีที่นั่งจำนวนจำกัด.