ตั้งกองทุนพยุงหุ้นสกัดโควิด หุ้นดิ่งนิวโลว์เกือบ 8 ปี-เบรกซื้อขายระหว่างวัน

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ตั้งกองทุนพยุงหุ้นสกัดโควิด หุ้นดิ่งนิวโลว์เกือบ 8 ปี-เบรกซื้อขายระหว่างวัน

Date Time: 13 มี.ค. 2563 09:33 น.

Summary

  • ตลาดหุ้นไทยโคม่า ดิ่งลงกว่า 10% ทำนิวโลว์รอบ 7 ปี 9 เดือน ต้องใช้มาตรการ Circuit Breaker เบรกการซื้อขายชั่วคราว พบตั้งแต่ต้นปีหุ้นไทยดิ่งหนักที่สุดในโลก

Latest

BAM ลุยใช้ AI ช่วยลูกหนี้ “จบหนี้เร็ว” จาก 7 ปีเหลือ 5 ปี หวังขยายฐาน 2 เท่า


ตลาดหุ้นไทยโคม่า ดิ่งลงกว่า 10% ทำนิวโลว์รอบ 7 ปี 9 เดือน ต้องใช้มาตรการ Circuit Breaker เบรกการซื้อขายชั่วคราว พบตั้งแต่ต้นปีหุ้นไทยดิ่งหนักที่สุดในโลก โดยปรับตัวลงไปแล้วถึง 29.43% ด้าน “สมคิด” สั่ง “คลัง-ตลาดหลักทรัพย์-ก.ล.ต.-ธปท.” ตั้งกองทุนสร้างเสถียรภาพพยุงตลาดหุ้นรับมือ พร้อมมอบการบ้านคลัง เตรียมมาตรการรับมือโควิด-19 เน้นช่วยเหลือประชาชน กลุ่ม “รายได้ประจำ-อาชีอิสระ” เล็งออกช่วง เม.ย.-พ.ค.63

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยวันที่ 12 ม.ค.63 ว่า นักลงทุนตื่นตระหนกพากันถล่มเทขายหุ้น อย่างหนักหลังหวาดผวากับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่บานปลายไปทั่วโลก จนทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก ขณะที่ในประเทศก็ยังคงมีการระบาดและมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และไม่รู้ว่าจะคลี่คลายหรือยุติลงได้เมื่อไร ส่งผลให้ทันทีที่ตลาดหุ้นเปิดการซื้อขาย ดัชนีทรุดลงทันทีเกือบ 100 จุด และไหลรูดลงอย่างต่อเนื่องปิดตลาดเช้าติดลบไป 8% กว่า

ต้องเบรกการซื้อขาย

และทันทีที่เปิดตลาดภาคบ่าย ดัชนียังคงไหลรูดลง จนปรับตัวลงถึง 125.05 จุด หรือลดลง 10% จากวันก่อน มาที่ 1,124.84 จุด ถึงเกณฑ์ที่จะต้องนำมาตรการ Circuit Breaker หยุดการซื้อขายชั่วคราวมาใช้ ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ ต้องหยุดระบบการซื้อขายชั่วคราวเป็นเวลา 30 นาที ตั้งแต่เวลา 14:38 น. ถึง 15:08 น. ก่อนกลับมาเปิดการซื้อขายอีกครั้ง แต่ตลาดยังคงเผชิญกับแรงเทขายต่อเนื่อง จนกดให้ดัชนีไหลรูดลงมาที่ระดับต่ำสุดของวันที่ 1,095.37 จุด ลดลง 154.52 จุด หรือลดลง 12.34% ก่อนมาปิดทำการที่ 1,114.91 จุด ลดลง 134.98 จุด ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 7 ปี 9 เดือน มูลค่าซื้อขาย 101,652.04 ล้านบาท ต่างชาติสถาบันในประเทศและพอร์โบรกเกอร์จับมือกันรวมพลังขายสุทธิรวมกันทั้งหมด 10,643.76 ล้านบาท ขณะรายย่อยเป็นกลุ่มเดียวที่ไม่กลัวโควิด ตะลุยเข้าซื้อสุทธิ 10,643.76 ล้านบาท ทั้งนี้ การใช้มาตรการ Circuit Breaker ครั้งนี้ ถือเป็นการนำมาใช้เป็นครั้งที่ 4 ของประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย (ตามตาราง)

ร่วงมากที่สุดในโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีหุ้นไทยนับจากต้นปีถึงปัจจุบันร่วงลงไปแล้วกว่า 464.93 จุด จากสิ้นปี 62 อยู่ที่ 1,579.84 จุด ล่าสุดอยู่ที่ 1114.91 จุด หรือลดลง 29.43% ถือว่าปรับตัวลงหนักสุดเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นทั้งโลกที่ส่วนใหญ่ปรับลง 10-20%

ด้านนายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานในตลาดทุนได้มีการหารือกับภาครัฐ เกี่ยวกับการตั้งกองทุนพยุงหุ้น เพราะมองเห็นความจำเป็นในการจัดตั้ง หลังจากที่ไม่เคยมีมา นานแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการจัด ตั้งที่ดีที่สุด ทั้งรูปแบบ เงื่อนไขต่าง โดยตลาดหลักทรัพย์ฯอยู่ระหว่างพิจารณาหลายแนวทาง ที่จะทำให้ตลาดหุ้นไทยกลับมามีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม มองว่า หุ้นไทยปรับตัวร่วงลงแรงมากกว่าตลาดหุ้นต่างประเทศ เพราะนักลงทุนตอบรับข่าวเชิงลบมากเกินไป โดยพบว่าตั้งแต่ต้นปีมานี้หุ้นไทยลงไปมากกว่า 25% ถือว่าปรับตัวลงมากที่สุดในโลกเมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ % ซึ่งต้องมาพิจารณาว่า หุ้นไทยลงแรงเกินไปหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องหาคำตอบว่าเพราะเหตุใด ทั้งที่น้ำหนักหุ้นพลังงานและ ท่องเที่ยวในตลาดหุ้นไทยใกล้เคียงกับตลาดหุ้นอื่น คงต้องให้นักวิเคราะห์ประเมินเรื่องนี้ และจากการติดตามการซื้อขายชอร์ตเซล บล็อกเทรด และการใช้โปรแกรมเทรด นั้นไม่พบว่ามีพฤติกรรมการซื้อขายที่ผิดปกติ

ส่วนกรณีที่นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทย เพราะเมื่อหุ้นไทยลงหนักมูลค่ามาร์เก็ตแคปก็ลดลงทำให้กองทุนต่างชาติที่ต้องลดการลงทุนลงตาม เพื่อรักษาสัดส่วนการลงทุนในพอร์ต แต่สัดส่วนการถือครองหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติยังคง อู่ที่ 28.96% ซึ่งต่ำกว่าช่วงปกติเพียง 1-2% โดยการขายหุ้นต่างชาติไม่ได้ผิดปกติ

ทั้งนี้ หุ้นไทยที่ร่วงลงแรงพบว่า มีหุ้นที่มี ราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (P/BV) ต่ำกว่า 1 เท่า จำนวน 448 บริษัท และ มีหุ้นที่มีผลตอบแทนเงินปันผล สูงกว่า 5% ถึง 66 บริษัท รวมถึง มีหุ้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และตลาด หลักทรัพย์เอ็มไอเอไอ ราคาลดลงต่ำสุดใน รอบ 5 ปี มาถึง 231 บริษัท จึงมองเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าลงทุน

ระดมพลตั้งกองทุน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ประสานกับนายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง นายวิระไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่ง–ประเทศ นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เร่งจัดตั้งกองทุนสร้างเสถียรภาพทางตลาดทุน เพื่อดูแลตลาดทุนไทยจากภาวะที่ตลาดหุ้นไม่ปกติ ซึ่งถือว่าเป็นสถานการณ์ที่รุนแรง เพราะหุ้นอเมริกาและยุโรปตกอย่างรุนแรง แม้ตลาดทุนไทยจะมีพื้นฐานแข็งแกร่ง แต่ในช่วงที่ทั่วโลกตื่นตระหนก ไทยจะต้องดูแลตลาดทุนให้ดีที่สุด

“วันนี้ผมให้การบ้านไปแล้ว คาดว่าไม่กี่วันจะตั้งกองทุนเพื่อพยุงตลาดหุ้นได้ ในอดีตประเทศไทยเคยออกกองทุนวายุภักษ์ เพื่อช่วยพยุงหุ้นเมื่อ 15 ปีที่แล้ว แต่ขณะนี้อาจต้องใช้กลไกลให้ซับซ้อนกว่านั้นเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เงินที่จะใช้มีอยู่แล้ว แต่จะเป็นเท่าไหร่นั้นต้องดูแลให้เหมาะสม เพราะสถานการณ์แบบนี้ หากจัดตั้งกองทุน ในระยะยาวมีกำไรทั้งนั้น ตอนนี้หุ้นตกทั่วโลกโดยเฉพาะอเมริกา เพราะช็อกที่อเมริกาคุมโควิดไม่อยู่ เมืองไทยต้องถูกกระทบ แต่พื้นฐานตลาดเราแข็ง ฉะนั้นนักลงทุนไม่ควรเร่งขายเพราะตกใจ เก็บไว้ก่อน ตนได้สั่งการให้คลังและตลาดดูเรื่องกองทุนสร้างเสถียรภาพตลาดทุน เพื่อรองรับความตื่นตระหนก เราเคยผ่านเหตุการณ์นี้ในอดีต และเคยมีกองทุนวายุภักดิ์เกิดขึ้นจากความร่วมมือทุกฝ่ายและสามารถหยุดความตื่นตระหนกในตลาดฯ ได้ ซึ่งในเวลาต่อมากองทุนก็ได้กำไรมหาศาล แต่เดี๋ยวนี้ตลาดหลักทรัพย์ใหญ่ขึ้น และซับซ้อนขึ้น จึงต้องดูด้วยความรอบคอบ”

เตรียมมาตรการชุด2

ส่วนการเดินทางไปประชุมร่วมที่กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 12 มี.ค.63 มีจุดประสงค์หลัก 3 เรื่อง คือ 1.เตรียมมาตรการดูแลผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื่อโควิด-19 ชุดที่ 2 โดยมุ่งเน้นที่ดูแลภาคประชาชน จะดูให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ที่ถูกกระทบ 2.ให้กระทรวงการคลังศึกษามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมออกมาดูแลในช่วง เม.ย.-พ.ค.63 เพราะคาดว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีความจำเป็น ต้องออกมาตรการมาดูแลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.การดูแลตลาดเงินตลาดทุน

“นี่เป็นเรื่องใหญ่ที่เตรียมไว้ แม้ยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องใช้ แต่ก็เตรียมไว้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่ารัฐบาลมีมาตรการรองรับแน่นอน ส่วนชุดมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบ ชุดที่ 1 ที่ ครม.อนุมัติเมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา ถือว่าเห็นผลพอสมควร เพราะเป็นการช่วยให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ และไม่ให้ผู้ประกอบการมีการปลดคนออกโดยไม่จำเป็น ส่วนมาตรการต่อไปที่จะออกมานั้นจะหันมาดูแลภาคประชาชน”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ