BAM ลุยใช้ AI ช่วยลูกหนี้ “จบหนี้เร็ว” จาก 7 ปีเหลือ 5 ปี หวังขยายฐาน 2 เท่า

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

BAM ลุยใช้ AI ช่วยลูกหนี้ “จบหนี้เร็ว” จาก 7 ปีเหลือ 5 ปี หวังขยายฐาน 2 เท่า

Date Time: 15 พ.ย. 2567 15:03 น.

Video

วิธีเอาตัวรอดของ Wikipedia ไม่พึ่งโฆษณา ไม่มีค่าสมาชิก แต่อยู่มาได้ 23 ปี | Digital Frontiers

Summary

  • BAM เดินหน้าทรานส์ฟอร์มองค์กร ลุยใช้เทคโนโลยี AI ช่วยลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ พร้อมดึงลูกค้าประนอมหนี้ ล่าสุด เปิดให้บริการแอปพลิเคชัน “BAM Choice” หวังเป็นแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ลูกค้าให้เข้ามาทำธุรกรรมต่างๆ ได้อย่างสะดวก

Latest


บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น BAM ธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้วยคุณภาพ (NPL) และทรัพย์รอการขาย (NPA) ชั้นนำ เดินหน้าทรานส์ฟอร์มองค์กรเต็มรูปแบบสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ลุยใช้เทคโนโลยี AI ช่วยลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้

พร้อมกันนี้ ลุยดึงลูกค้าประนอมหนี้ ล่าสุด เปิดให้บริการแอปพลิเคชัน  “BAM Choice” หวังเป็นแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ (NPL) และลูกค้าซื้อทรัพย์ (NPA) ให้เข้ามาทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือได้อย่างสะดวก

ทรานส์ฟอร์มองค์กร ลุยใช้ AI ช่วยลูกหนี้

บัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ หรือหุ้น BAM เปิดเผยว่า ปัญหาของเศรษฐกิจและหนี้ครัวเรือนมีมากขึ้นนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจนมาถึงปัจจุบันมีการฟื้นตัวแค่บางภูมิภาคเท่านั้น ขณะที่ลูกค้าหลายรายทำธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มตกต่ำลง (Sunset Industry) ทำให้การดำเนินธุรกิจมีความยากลำบากมากขึ้น

โดยภาพรวมเศรษฐกิจและปัญหาหนี้ครัวเรือนค่อนข้างน่าเป็นห่วง ทำให้ลูกหนี้จำเป็นต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้เพื่อหาทางออก แต่อย่างไรก็ดี คาดว่าสถานการณ์ในปี 2568 จะดีขึ้น หนุนจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ทั้งนี้ บริษัทได้มีการจัดทำระบบผ่านแอปพลิเคชั่น “BAM Choice” โดยเชื่อว่าลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงจะผิดนัดชำระ จะเข้ามาเจรจาเพื่อประนอมหนี้มากขึ้น พร้อมกันนี้ จะมีการนำข้อมูลและเทคโนโลยี AI เข้ามาเพื่อช่วยแก้ปัญหา เพื่อให้ลูกหนี้สามารถหมดภาระหนี้ได้เร็วขึ้น จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 7 ปี เป็นไม่เกิน 5 ปี

นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดำเนินธุรกิจนั้น คาดว่าจะทำให้บริษัทมีความสามารถให้บริการลูกหนี้ในจำนวนที่มากขึ้นได้ 2 เท่า จากบุคลากรจะมีเวลาบริหารจัดการมากขึ้น และหากลูกหนี้สามารถจบหนี้ได้เร็ว บริษัทจะมีกระแสเงินสำหรับการซื้อทรัพย์ใหม่ๆ เข้ามาในพอร์ตได้มากขึ้นด้วย

โดยปัจจุบันบริษัทมีลูกหนี้อยู่ในพอร์ตประมาณ 200,000 ราย คิดเป็นมูลหนี้รวมราว 500,000 ล้านบาท ขณะที่ทรัพย์รอการขายมีจำนวนอยู่ที่ 5-6 หมื่นรายการ

“ลูกหนี้ที่ต้องการประนอมหนี้ สามารถเข้ามาคุยกับ BAM ได้ตลอดเวลา หากรู้ตัวว่ามีการติดขัด ไม่ว่าจะโดนฟ้องร้องดำเนินคดีอยู่หรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของเราจะเป็นคนช่วยแก้ปัญหานั้น” บัณฑิต กล่าว


ด้าน ดร.ธนกร หวังพิพัฒน์วงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BAM กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีซึ่งเป็นเมกะเทรนด์เข้ามามีบทบาทอย่างรวดเร็วในทุกภาคส่วน โดย BAM ได้วางแนวทางขององค์กรฯ เพื่อให้ทันต่อธุรกิจในยุคดิจิทัล 4.0 โดยมีเป้าหมายการ Transformation 3 ส่วน ได้แก่

1.Transformation for People - มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ BAM ทั้งหมด ได้รับ "ประสบการณ์" ที่ดี เช่น การตั้งเป้าหมายให้ลูกค้าได้รับแผนประนอมหนี้ที่ตรงกับความต้องการและเงื่อนไขของตนเองให้เร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการ Digitalization กระบวนการในการส่งจดหมาย Hello Letter หรือจดหมายเชิญประนอมหนี้

รวมไปถึงการจัดทำระบบ BAM Choice ซึ่งเป็นระบบที่ลูกหนี้สามารถเห็นแผนประนอมหนี้ที่เหมาะสมกับตนเอง ตลอดจนการขอเจรจาปรับเปลี่ยนแผนประนอมหนี้ผ่านทางออนไลน์ได้ ซึ่ง BAM Choice ยังอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในการชำระเงินผ่านทางช่องทางออนไลน์ และจะช่วยเพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้า

ในปัจจุบัน BAM เตรียมนำระบบ AI มาช่วยในการประเมินกำลังความสามารถในการชำระเงินของลูกหนี้ และวิเคราะห์แผนการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับลูกหนี้อีกด้วย

2.Transformation for Growth - มีเป้าหมายเพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการเพิ่มยอดผลเรียกเก็บและช่วยลดค่าใช้จ่าย โดยทำ Digitalization Channel ในการสื่อสาร กับลูกค้าแบบครบวงจร เพื่อให้ลูกค้าที่เข้ามาติดต่อ BAM ทุกช่องทางได้รับประสบการณ์ที่ดีในการให้บริการ นอกจากนี้ การนำ Data มาใช้ในการวิเคราะห์และช่วยในการตัดสินใจเพื่อให้การบริหารหนี้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

3.Transformation for Efficiency - ได้มีการจัดทำระบบบริหารจัดการสินทรัพย์ เพื่อให้กระบวนการในการติดตามและแก้ไขหนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดหาเครื่องมือทางด้านดิจิทัล ที่ช่วยให้พนักงานสามารถใช้ระบบสารสนเทศระดับองค์กร (Enterprise Information System: EIs) เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการดำเนินงานและการตัดสินใจ

วางเป้าโต 8-10% ชู 2 บริษัทร่วมทุนหนุนการเติบโตใหม่

บัณฑิต กล่าวอีกว่า ในปี 2567 บริษัทวางเป้าหมายในการซื้อหนี้เสียเข้าพอร์ต 9,000 ล้านบาท โดยจะต้อง “เลือก” สินทรัพย์ต่างๆ มากขึ้น เพื่อสนับสนุนการเติบโตให้เป็นไปตามแผนที่ 8-10% และเชื่อว่าจะสามารถเงินปันผลได้ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ บริษัทร่วมทุน 2 แห่ง ที่ได้จัดตั้งขึ้นร่วมกับธนาคาร จะเป็นโอกาสสร้างการเติบโตใหม่ (New S-Curve) ในอนาคต ได้แก่ 1.บริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับธนาคารออมสิน ธุรกิจบริหารหนี้ที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้เข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ และมีโอกาสหลุดพ้นจากการเป็นผู้เสียประวัติทางเครดิตได้เร็วขึ้น โดยคาดว่าจะมีจำนวนลูกหนี้ในพอร์ตแตะ 400,000 รายได้ในปี 2568 จากปัจจุบัน 100,000 ราย

และ 2.บริษัทบริหารสินทรัพย์ร่วมทุน กับธนาคารกสิกรไทย โดยมีการใช้ชื่อว่า “อรุณ” ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการขอใบอนุญาต ซึ่งคาดว่าจะอนุมัติและเริ่มซื้อทรัพย์เข้ามาบริหารได้ภายในสิ้นปี 2567 นี้

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่การเจรจาเพื่อพิจารณาตั้งบริษัทร่วมทุนกับธนาคารอีก 1 แห่ง ซึ่งยังต้องติดตามว่าจะสามารถสรุปได้ภายในปีนี้หรือไม่ เนื่องจากยังต้องมีการประเมินศักยภาพของบุคลากรที่มีอยู่จำกัดด้วย

 

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ