จัดพอร์ตตั้งรับปีหนูทอง หุ้นตลาดพัฒนาแล้ว กองทุนอสังหาฯ โครงสร้างพื้นฐานยังให้ผลตอบแทนที่ดี ส่วนหุ้นไทย แนะดูรายตัว เน้นกลุ่มได้รับสัมปทานภาครัฐ สินเชื่อรายย่อย หรือหุ้นที่มีการลงทุนใหม่ๆ
นายชาตรี โรจนอาภา กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST SEC เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2562 ที่ผ่านมา มีขยายตัวในอัตราที่ช้าลงเทียบกับช่วงก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณการค้าโลกที่หดตัวลง
ส่วนตลาดการเงินมีความผันผวนสูงขึ้นจากความขัดแย้งทางการค้า การดำเนินนโยบายที่ไม่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร โดยในปี 2563 เราคาดว่า ภาพการลงทุนยังคงคล้ายคลึงกับปี 2562 แต่จะมีความผันผวนที่ต่ำลงจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ
1. การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2020 ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในอดีตพบว่าในช่วงการเลือกตั้งจะเกิด "Election rally" คือ ตลาดหุ้นทั่วโลกให้ผลตอบแทนเป็นบวก โดยตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาจะให้ผลตอบแทนในช่วงปีที่มีการเลือกตั้งมากกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ ทั่วโลก
2. รูปแบบการกระตุ้นเศรษฐกิจเปลี่ยนจากนโยบายทางการเงิน มาสู่นโยบายทางการคลังในการป้องกันการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Policy switching) โดยนโยบายที่คาดว่าประเทศพัฒนาแล้วจะนำมาใช้คือการลดภาษีนิติบุคคล ซึ่งจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี
3. สถานการณ์สงครามการค้าเบนเข็มสู่ยุโรป เราคาดว่าข้อตกลงทางการค้า Phase 1 น่าจะสามารถบรรลุได้ในช่วงเดือนมกราคม ซึ่งจะทำให้ภาคการผลิตเริ่มกลับมาวางแผนผลิตเพื่อเพิ่มสินค้าคงคลังให้กลับมาสู่ระดับปกติ และส่งผลให้เกิดนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี หากนายโดนัลด์ ทรัมป์สามารถชนะการเลือกตั้งได้ จะหันกลับมาทำสงครามทางการค้ากับยุโรปเพื่อชดเชยการขาดดุลทางการค้า ตามนโยบาย Keep America great again!
นายชาตรี กล่าวอีกว่า ส่วนมุมมองดอกเบี้ย เราคาดว่าปีหน้าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจมีการลดดอกเบี้ยได้อีก 1 ครั้ง เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้เศรษฐกิจ เช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการปรับลดลงอีกครั้งให้สอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยโลก
คาดหุ้นไทยปีหนูทองเคลื่อนไหวในกรอบ 1,588-1,787 จุด
นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ กลยุทธ์การลงทุน KTBST SEC กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยในปี 2563 เรามองว่า ข้อตกลงทางการค้าของสหรัฐฯ และจีน น่าจะบรรลุข้อตกลงการค้าได้บางส่วน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นในไตรมาสที่ 2 อีกทั้งธนาคารกลางทั่วโลก จะดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
ส่วนประเทศไทยการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยและกำไรบริษัทจดทะเบียนฟื้นตัวได้ในครึ่งปีหลัง ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทย จะฟื้นตัวตั้งแต่ครึ่งปีแรกเป็นต้นไป
ทั้งนี้ ประมาณการกำไรปี 2563 ไว้ที่ 9.8 แสนล้านบาท ขยายตัว 8.2% โดยมีค่า EPS เฉลี่ยอยู่ที่ 94.8 บาท และปี 2564 คาดกำไรอยู่ที่ 1.08 ล้านล้านบาท ขยายตัว 10.5% และคิดเป็น EPS หรือกำไรต่อหุ้นเฉลี่ยที่ระดับ 103.6 บาท ซึ่งทั้ง 2 ปีจะเป็นการขยายตัวมาจากฐานที่ต่ำ และผลกระทบจากสงครามการค้าที่คลี่คลายลง
ส่วนเป้าหมายดัชนีหุ้นไทย หรือ SET INDEX ปี 2563 คาดว่าอยู่ที่ 1,725 จุด โดยอิง Forward P/E ที่ 18.2 เท่า หรือ +0.50 SD ของค่าเฉลี่ย 10 ปี ที่ 16.75 เท่า และคาดการณ์กรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุด-สูงสุด ของ SET INDEX ให้ไว้ที่ 1,588-1,787 จุด
ปี 63 ลงทุนอะไรดี
นายชาตรี กล่าวว่า ในปี 2563 เรายังให้คำแนะนำเน้นลงทุนในหุ้นมากกว่าลงทุนในพันธบัตร โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา และยุโรปมากกว่าตลาด เนื่องจากประเทศพัฒนาแล้วมีโอกาสนำเครื่องมือการคลังมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจตลอดจนเสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคง
นอกจากนี้ พื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดของประเทศพัฒนาแล้ว ยังสามารถสร้างผลประกอบการได้ดีกว่ากลุ่มตลาดเกิดใหม่ สำหรับสินทรัพย์ทางเลือกที่น่าสนใจ ได้แก่ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ และโครงสร้างพื้นฐานจากอัตราเงินปันผลที่สูง
ประกอบกับเงื่อนไขของกองทุนรวมเพื่อการออม หรือกองทุน SSF ที่จะเริ่มต้นในปีนี้ เปิดให้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ได้อย่างเสรีจึงเป็นโอกาสให้กองทุนเพื่อการออมลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และโครงสร้างพื้นฐานในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น
ส่วนสินทรัพย์ที่แนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุน คือ ตลาดหุ้นเกาหลี และฮ่องกง จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและความไม่แน่ไม่นอนด้านสงครามการค้า ในขณะที่ตราสารหนี้นั้น แนะนำให้ลดการถือครองเงินสด ซึ่งให้ผลตอบแทนในระดับต่ำและเน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนคุณภาพดีเพื่อเพิ่มผลตอบแทน (Investment grade Bond)
ส่วนการลงทุนในหุ้นไทยนั้น นายมงคล แนะนำว่า ในปี 2563 หุ้นกลุ่มที่น่าสนใจ และคาดว่าจะสามารถให้ผลตอบแทนจากการลงทุนได้ดีได้แก่
1. กลุ่มที่ผลการดำเนินงานยังเติบโตดีต่อเนื่อง อาทิ กลุ่มสัมปทานภาครัฐ สินเชื่อรายย่อย หรือหุ้นที่มีการลงทุนใหม่ๆ ได้แก่
- บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH
- บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG
- บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL
- บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ PRM
- บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI
- บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC
- บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC
- บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD
- บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP
- บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS
- บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT
2. กลุ่มที่ราคาหุ้นหรือผลประกอบการอ่อนตัวลงมามากในปี 2019 อาทิ น้ำมัน, ปิโตรเคมี, ส่งออก, โรงแรม เช่น
- บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW
- บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP
- บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF
- บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN
- บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC
- บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP
- บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA