ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 10 เม.ย.61 ปิดที่ 1,760.95 จุด เพิ่มขึ้น 9.68 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 60,300.28 ล้านบาท ต่างชาติซื้อสุทธิ 499.17 ล้านบาท
หุ้นที่ซื้อขายสูงสุด PTT ปิด 552 บาท บวก 2 บาท, AOT ปิด 72 บาท บวก 1.50 บาท, KTC ปิด 318 บาท บวก 3 บาท, CPALL ปิด 86.75 บาท ลบ 1 บาท และ EA ปิด 36 บาท บวก 5.25 บาท
สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) จัดงานสัมมนาหัวข้อ “ทิศทางหุ้นไทย ภายใต้สงครามการค้าโลก สงครามธุรกิจธนาคารไทย” ได้มุมมอง 3 สุดยอดนักวิเคราะห์ชั้นนำ โดย “ภรณี ทองเย็น” รองกรรมการผู้อำนวยการ บล.เอเชีย พลัส ระบุว่า ได้ปรับเป้าดัชนีหุ้นไทยปีนี้ลงเหลือ 1,790 จุด จากเดิม 1,850 จุด ส่วนแนวรับมองที่ 1,700 จุด
เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนกำไรโตลดลงเหลือโต 7% จากเดิมคาดโต 14% จากผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนในระยะสั้น และจากแบงก์ปรับลดค่าฟีลง กระทบต่อกำไรหุ้นกลุ่มแบงก์เหลือโต 8% จากเดิมโต 14%
โดยสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจไทยแล้ว เช่น เครื่องซักผ้า และแผงโซลาร์เซลล์ ส่วนหุ้นรายตัวที่ได้รับผลกระทบแล้ว คือ HANA เนื่องจากมีฐานผลิตอยู่ในจีน แต่ปัญหาจะเริ่มชะลอความ ร้อนแรงลง เพราะไม่ส่งผลดีต่อทุกฝ่าย แต่หากปัญหายืดเยื้อ อาจลามกลายเป็นปัญหาค่าเงินแทน
“มยุรี โชวิกรานต์” หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เผยว่า ปัญหาสหรัฐฯ-จีน น่าจะใช้มาตรการประนีประนอมมากขึ้น ส่วนค่าฟีที่ปรับลดลง ส่งผลกระทบต่อหุ้นแบงก์ โดยเฉพาะแบงก์ใหญ่อย่าง KBANK-SCB ส่วนแบงก์เล็กน่าจะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า ชอบ KKP
ประเมินดัชนี ช่วง Q2-Q3 ในกรอบ 1,720-1,730 จุด กรอบทั้งปีมองสูงสุดไว้ที่ 1,800-1,820 จุด ดัชนีหุ้นไทยโต 11-12% ภายใต้เศรษฐกิจไทยโต 4.3% โดยเอกชนจะได้ผลบวกจากโครงการEEC ส่วนการเมือง หากเลือกตั้งมีความชัดเจน จะทำให้ Road Map ที่วางไว้เดินหน้า ช่วยหนุนภาพรวมหุ้นไทยโตได้อีกทาง
ปิดท้าย “เกียรติศักดิ์ เจนวิภากุล” กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บล. ไทยพาณิชย์ มองปัญหาสหรัฐฯ และจีน กระทบหุ้นบางกลุ่มในแง่บวก ได้แก่ CPF, CFPT, IVL ส่วนผลกระทบในแง่ลบได้แก่ TUF, HANA, DELTA, KCE
ส่วนการลดค่าฟีแบงก์ กระทบกำไรแบงก์ปีนี้ โดย KBANK กระทบ 7%, SCB กระทบ 5%, BBL และ KTB กระทบ 4% และ BAY กระทบ 2% ซึ่งหลังจากนี้ธนาคารจะเริ่มมีช่องทางทำรายได้ใหม่ๆ ขณะที่มองเป้าหมายหุ้นไทยปีนี้ไว้ที่ 1,900 จุด!!
อินเด็กซ์ 51