“กองทุนรวม” หนึ่งในทางเลือกการลงทุนที่ถือว่าสะดวกสำหรับนักลงทุน จากมีผู้จัดการกองทุน ทำให้ไม่ต้องบริหารเงินลงทุนด้วยตนเอง ทั้งยังช่วยสร้างความมั่งคั่งและเป็นวิธี “ให้เงินทำงาน” โดยสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนระยะยาวได้
แต่ด้วยนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย การเลือกกองทุนที่เหมาะสมจึงเป็นขั้นตอนสำคัญ โดย สมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้รวบรวม 5 เรื่องที่นักลงทุนควรรู้ก่อนลงทุนกองทุนรวม เพื่อให้สามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่เหมาะกับตัวเองได้ ดังนี้
1. นโยบายการลงทุน - ตรวจสอบนโยบายของกองทุน ว่ามีการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใด เช่น หุ้นขนาดใหญ่ ตราสารหนี้ ทองคำ หรืออสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมาย และสไตล์การลงทุนของตัวเอง
2. ประเภทกองทุน - ทำความเข้าใจว่ากองทุนเป็นแบบ Passive หรือ Active โดย Passive Fund มักเน้นสร้างผลตอบแทนตามดัชนีอ้างอิง มักมีค่าธรรมเนียมและความเสี่ยงที่ต่ำกว่า ส่วน Active Fund มีเป้าหมายสร้างผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีอ้างอิง มีความเสี่ยงสูงกว่า แต่ก็มีโอกาสได้กำไรสูงกว่าเช่นกัน
3. ผลการดำเนินงานของกองทุน - พิจารณาผลตอบแทน โดยดูจากผลตอบแทนรวมจากกองทุนที่มีปันผล และผลตอบแทนจากราคาจากกองทุนที่ไม่มีปันผล พร้อมพิจารณาความเสี่ยงจากค่าความผันผวน รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าธรรมเนียมซื้อขาย และค่าใช้จ่ายรวม จากการพิจารณาต้นทุนที่ต่ำ สามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนสุทธิในระยะยาว
4. กลยุทธ์การลงทุน - การลงทุนระยะยาวในกองทุนรวม เหมาะกับกลยุทธ์การลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน (DCA) ที่ช่วยให้นักลงทุนสามารถลงทุนด้วยจำนวนเงินที่เท่ากันทุกงวด ข้อดีของการลงทุนแบบนี้คือช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาด สร้างวินัยในการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ และเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนระยะยาวอย่างมั่นคง
5. ติดตามสถานการณ์ - ตรวจสอบและปรับเปลี่ยนกองทุนสม่ำเสมอ หากผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามคาดหวัง ควรพิจารณาย้ายเงินลงทุนไปยังที่ที่ดีกว่า พร้อมติดตามเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ตลาดโดยรวม และเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อกองทุนรวมที่ลงทุนอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี “Thairath Money” หวังว่าการลงทุนในกองทุนรวม จะเป็นทางเลือกที่สะดวกและมีประสิทธิภาพสำหรับการสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว เพื่อให้มี #การเงินดีชีวิตดี ซึ่งการเข้าใจและปรับใช้ข้อมูลเหล่านี้อย่างเหมาะสม จะช่วยให้นักลงทุนสามารถเลือกกองทุนที่สอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุนของตนเอง และเพิ่มโอกาสในการบรรลุความสำเร็จทางการเงินได้อย่างมั่นคงในอนาคต
ที่มา : สมาคมนักวางแผนการเงินไทย