ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้จัดทำรายงานความเสี่ยงทางการคลัง สำหรับปีงบประมาณ 66 โดยความเสี่ยงทางการคลังในระยะยาวประการหนึ่ง ที่ สศค.จับตามองใกล้ชิด คือ เงินกองทุนชราภาพในกองทุนประกันสังคมอาจไม่เพียงพอจ่ายให้กับสมาชิกประกันสังคม ซึ่งมีเงินทดแทนจ่ายในรายจ่ายต่างๆ เช่น อุบัติเหตุ เจ็บป่วย ว่างงาน และจ่ายบำนาญสำหรับสมาชิกประกันสังคมที่เกษียณอายุ และครบอายุเกษียณตามเงื่อนไขของสำนักงานประกันสังคม คือ เป็นสมาชิกกองทุนชราภาพไม่น้อยกว่า 15 ปี และมีอายุ 55 ปีขึ้นไป
โดยรายงาน สศค.ระบุว่า แม้ระดับเงินในกองทุนชราภาพที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น โดยในปี 66 อยู่ที่ 2.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น จากปี 61 ที่อยู่ที่ 1.9 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.34 % แต่ระดับความเพียงพอของเงินในกองทุนชราภาพยังเป็นปัญหา ที่ต้องติดตามต่อในระยะยาว เพราะมูลค่าปัจจุบันของประมาณ การรายรับต่อรายจ่ายสุทธิในอีก 75 ปีข้างหน้า อยู่ที่เพียง 0.07 เท่า ซึ่งอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับระดับสากล โดยค่าเฉลี่ยของอัตราส่วนเงินทุนของกองทุนบำนาญภาครัฐ 100 กองทุนที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 0.7 เท่า
ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว กองทุนประกันสังคมอาจต้องทบทวนอัตราเงินสมทบให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยอัตราที่เหมาะสมในระยะปานกลางควรอยู่ที่ 18% ขณะที่อัตราปัจจุบันอยู่ที่ 12.75% รวมถึงพิจารณามาตรการอื่นๆควบคู่ด้วย อาทิ การขยายอายุเกษียณ การขยายเพดานฐานค่าจ้างสูงสุด
อย่างไรก็ดี กระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างพิจารณาเสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูง ที่ใช้เป็นฐานคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. ...ซึ่งมีสาระสำคัญคือปรับฐานค่าจ้างขั้นสูงจาก 15,000 บาท เป็น 23,000 บาทอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณในส่วนที่รัฐบาลค้างจ่ายเงินสมทบให้แก่กองทุนประกันสังคม 71,384 ล้านบาท ณ เดือน ก.ย.66 ด้วย ทั้งนี้ ในช่วงโควิดระบาด รัฐบาลได้ออกมาตรการให้สมาชิกกองทุนประกันสังคมลดเงินนำส่งเข้าสมทบในกองทุน เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แก่สมาชิกในช่วงโควิด ส่งผลกระทบต่อเงินกองทุนประกันสังคม แต่เป็นเพียงความเสี่ยงในระยะสั้น ปัจจุบันอัตราการจ่ายเงินสมทบกลับสู่ระดับปกติและการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วยลดลงหลังโควิดคลี่คลาย.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่