สรา ชื่นโชคสันต์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
วันนี้ผู้เขียนมีคำถามง่ายๆมาชวนให้ผู้อ่านคิดเกี่ยวกับการบริโภค และการลงทุนครับ หากเราได้เงินก้อน เช่น ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 เราจะนำเงินนี้มาใช้จ่ายอย่างไร จะแบ่งมาบริโภคแบบจับจ่ายใช้สอย จะเก็บออม หรือจะลงทุนทำธุรกิจกันกี่ส่วน เชื่อว่าคำตอบคงมีหลากหลาย
แต่ถ้าเราเปลี่ยนคำถามมาเป็น แล้วคนที่ประสบความสำเร็จเขาจะแบ่งเงินก้อนนี้ยังไง เชื่อว่าหลายๆท่านคงคิดไปในทำนองเดียวกันว่า คงไม่นำเงินส่วนใหญ่มาบริโภค แต่จะนำเงินไปลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนทางการเงินแบบซื้อหุ้น ซื้อทอง หรือลงทุนแบบทำธุรกิจ ก็น่าจะเป็นการต่อยอดเงินก้อนเดิมให้เพิ่มพูนงอกงามมากยิ่งขึ้น
หากท่านยังไม่เห็นด้วย งั้นเรามาเปลี่ยนคำถามให้ชวนคิดกันอีกที ถ้าหากเงินก้อนนี้เป็นเงินที่ท่านกู้มาล่ะ ท่านคิดว่าจะใช้เงินกู้ก้อนโตนี้ยังไงท่านถึงจะรอด อย่าลืมนะครับว่าท่านต้องจ่ายดอกเบี้ยด้วย และยิ่งกู้มาเยอะมูลค่าดอกเบี้ยก็จะยิ่งแพงตามเงินต้น เชื่อว่าหลายๆท่านคงเห็นด้วยว่า ถ้ากู้มาบริโภคคงจะไปไม่รอดเป็นแน่ อย่าว่าแต่การบริโภคเลย การกู้มาลงทุนก็อาจจะไปไม่รอดเหมือนกัน เพราะเราอาจขาดทุนจากการทำธุรกิจหรือหากราคาสินทรัพย์ต่างๆ ตกลงก็ทำให้เราขาดทุนจากการซื้อหุ้น ซื้อทองก็เป็นได้ จะเห็นได้ว่าหากเป็นเงินกู้ เราต้องใช้มันเพื่อสร้างประโยชน์ สร้างรายได้และกำไรให้ได้ถึงจะรอด ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าการกู้เงินคือการนำรายได้ในอนาคตมาใช้ในวันนี้ เราต้องลงทุนให้ดี เพื่อให้รายได้ในอนาคตของเราเพิ่มขึ้นไปด้วย
ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นภาพระดับบุคคลที่แต่ละคนต้องตัดสินใจ แล้วถ้าเป็นระดับประเทศล่ะ คำตอบก็ไม่ได้ต่างกันครับ ประเทศไหนที่มีการลงทุนน้อยมักจะเติบโตหรือพัฒนาได้ช้า
เพื่อให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้น ผมจะตั้งคำถามให้ชวนคิดอีกหนึ่งคำถาม คือ ทำไมสองประเทศที่มีทรัพยากรทุกอย่างเท่ากัน แต่ประเทศหนึ่งกลับร่ำรวยกว่า สามารถผลิตสินค้าและบริการได้มากกว่า ทั้งๆที่มีทรัพยากรเหมือนกันหมด คำตอบในภาพใหญ่ก็คือ เราได้ใช้ทรัพยากรดังกล่าวอย่างไร เราใช้เพื่อลงทุนต่อยอดให้เป็นประโยชน์ ลงทุนด้านบุคลากร เสริมสร้างทักษะแรงงาน ลงทุนด้านเทคโนโลยี หรือลงทุนด้านระบบขนส่ง เพื่อลดต้นทุนการผลิตมากน้อยเพียงใด หรือเรานำทรัพยากรส่วนใหญ่มาบริโภค ตัวอย่างที่กล่าวมานี้จะทำให้ประเทศหนึ่งพัฒนาแตกต่างจากอีกประเทศหนึ่งแม้จะเริ่มต้นด้วยทรัพยากรที่เหมือนกัน
สำหรับประเทศไทยนั้น เป็นที่น่าเสียดายที่การลงทุนระดับประเทศของเราอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน สัดส่วนการลงทุนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) แนวโน้มลดลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 23 จากที่เคยอยู่ประมาณร้อยละ 27 เมื่อทศวรรษที่ผ่านมา GDP ก็เปรียบเสมือนรายได้ของประเทศ สัดส่วนการลงทุนต่อ GDP ที่ลดลงก็หมายถึงเราจัดสรรรายได้ให้กับการลงทุนเป็นสัดส่วนที่น้อยลง ถ้าไปดูประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม สัดส่วนดังกล่าวจะอยู่ที่ร้อยละ 29 และ 32 ตามลำดับ
พวกเราพูดกันมานานว่าจะต้องพัฒนาประเทศไทยให้พ้นจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลางให้ได้ แต่ด้วยการลงทุนที่ต่ำ เห็นทีน่าจะเป็นไปได้ยาก และด้วยสถานการณ์ปัจจุบันเรากำลังจะกู้เงินเพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจ คงต้องคิดให้ดีว่าเราอยากจะกู้เงินเพื่อแจกจ่ายให้มาบริโภคจริงๆหรือ? ถ้าจะทำจริง ก็ขอให้แต่ละท่านฉุกคิดและใช้มันอย่างเป็นประโยชน์ เพื่อสร้างรายได้ในอนาคตให้แก่ตนเองครับ.