การท่องเที่ยวเมืองไทยอาจต้องหันกลับมาจับตาอีกครั้ง แม้จำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงต้นปีถึงเดือน มี.ค. จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 8.89 ล้านคน เติบโตได้ดี แต่เห็นสัญญาณตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มหลักเริ่มหดตัวเป็นครั้งแรก ซึ่งเกิดจากผลกระทบความไม่มั่นใจจากความปลอดภัยและปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้น
โดยนักวิเคราะห์คาดหวังว่า มาตรการใหม่ของรัฐที่คาดว่าจะออกมา อย่าง “เราเที่ยวด้วยกัน” จะช่วยกระตุ้นอีกครั้ง
บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโตในอัตราที่ชะลอลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในช่วงวันที่ 1 มกราคม - 23 มีนาคม จากข้อมูลของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 8.89 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดย 5 อันดับแรกเป็นนักท่องเที่ยวจากจีน 1.26 ล้านคน, มาเลเซีย 1.06 ล้านคน, รัสเซีย 0.67 ล้านคน, อินเดีย 0.50 ล้านคน และเกาหลีใต้ 0.428 ล้านคน
ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวดังกล่าวคิดเป็น 23.4% ของประมาณการเต็มปีของ KGI ที่ 38 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อน โดยไตรมาสที่ 1 มักจะเป็นไตรมาสที่การท่องเที่ยวของไทยแข็งแกร่ง แต่ในปีนี้มีปัจจัยลบจากความกังวลเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวจีนเข้ามา ซึ่งส่งผลกระทบกับอัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวจีนในเดือนกุมภาพันธ์ และฉุดให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงเป็นครั้งแรกถึง 44.9% เหลือเพียง 0.37 ล้านคน จากเดือน ม.ค. ที่ 0.66 ล้านคน
ทิศทางธุรกิจการขนส่งทางอากาศ (สนามบินและสายการบิน) จะเป็นกลุ่มหลักที่ได้รับผลดีจากฤดูท่องเที่ยวของไทย เพราะเป็นด่านหน้าสำหรับรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย ดังนั้นเราจึงมองบวกกับแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่งขึ้นจากปีก่อน
เมื่อมองต่อไปข้างหน้า เรายังคงคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะอยู่ที่ 38 ล้านคนในปี 2568 และเพิ่มเป็น 41 ล้านคนในปี 2569 โดยจะได้แรงสนับสนุนจาก
เมื่อพิจารณาแนวโน้มไตรมาสที่ 1 เราคาดว่ากลุ่มนี้น่าจะยังได้โมเมนตัมบวกจากฤดูท่องเที่ยวที่แข็งแกร่งของประเทศไทย ซึ่งน่าจะทำให้ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว และจำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน เราคาดว่า AAV และ AOT จะได้อานิสงส์จากประเด็นนี้ ซึ่งจะทำให้กำไรของทั้งผู้ประกอบการสนามบินและสายการบินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราคาดว่าผลประกอบการของ AAV จะได้แรงสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน ต้นทุนเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และค่าตั๋วเฉลี่ยที่สูงในไตรมาสแรก
ซึ่งน่าจะทำให้กำไรจากธุรกิจหลักแข็งแกร่งต่อเนื่อง นอกจากนี้ AOT ยังจะได้อานิสงส์จากธุรกิจการบินด้วย เพราะรายได้จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย และนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปต่างประเทศเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน แนวโน้มที่แข็งแกร่งขึ้นของธุรกิจการบินน่าจะทำให้ธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับการบินดีขึ้นตามไปด้วย (รายได้จากค่าเช่า, ค่าบริการ และค่าสัมปทาน) ซึ่งมีสหสัมพันธ์เชิงบวกกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น แต่รายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการบินน่าจะถูกจำกัดด้วยการขอคืนพื้นที่เชิงพาณิชย์ในช่วงก่อนหน้านี้
ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด มองว่า หุ้นในกลุ่มโรงแรมน่าจะได้รับผลดีหากรัฐออกมาตรการกระตุ้น โดยคาดว่าจะมีโครงการ “เที่ยวด้วยกัน 2568” ออกมา โดยรัฐจ่ายคนละครึ่งค่าที่พัก ค่าเครื่องบิน ร้านอาหาร ผ่านการลงทะเบียนคูปองดิจิทัล ตั้งเป้าเริ่มในช่วง Low Season ตั้งแต่เดือน พ.ค. - ก.ย. 68 โดยมีแผนจะเสนอมาตรการนี้ให้ ครม. พิจารณาอนุมัติในเดือน มี.ค. 68
ทั้งนี้ เอเซีย พลัส มองบวกเพราะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ โดยเฉพาะในช่วง Low Season ที่การเดินทางจากนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานเชิงบวกจากปีก่อน โดยหากอิงตามสัดส่วนรายได้ กลุ่มที่มีรายได้จากในไทยสูง และมีโรงแรมในเมืองรอง จะได้ประโยชน์จากมาตรการนี้มากกว่ากลุ่มอื่น
โดยเฉพาะสำหรับสัดส่วนรายได้ในไทย เรียงจากมากไปน้อย ดังนี้ ERW มีสัดส่วน 89%ของรายได้โรงแรมCENTEL มีสัดส่วน 73% ของรายได้โรงแรม MINT มีสัดส่วนโรงแรมไทยไม่เกิน 20% ของรายได้ (โดยสัดส่วนรายได้หลัก ๆ อยู่ใน EU ราว 50%)
ด้าน AOT จะรับประโยชน์จากการกระตุ้นท่องเที่ยวไทยน้อยกว่ากลุ่มโรงแรม เพราะค่าบริการผู้โดยสารขาออกในประเทศอยู่ที่ 130 บาทต่อคน ไม่สูงเท่าระหว่างประเทศที่ 730 บาทต่อคน
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้