นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ...ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยขั้นตอนต่อไปจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่าง พ.ร.ก. คาดว่า จะประกาศใช้ได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ ซึ่งจากมาตรฐานกฎหมายที่มีการปรับปรุงนี้เชื่อว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดหุ้นและตลาดทุนมากขึ้น
“ที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนและความน่าเชื่อถือในตลาดทุน อย่างมีนัยสำคัญ เช่น บริษัทหลักทรัพย์มีการขายหลักทรัพย์โดยที่ยังไม่มีหลักทรัพย์นั้นอยู่ในครอบครอง หรือการขายชอร์ต ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดเนื่องจากใช้วิธีการขายหุ้นออกไปโดยที่นักลงทุนรายนั้นไม่ได้ถือหุ้นอยู่จริง หรือ naked short sale ซึ่งมีส่วนทำให้ดัชนีหุ้นไทยลดลงจากระดับ 1,600 จุด มาอยู่ในระดับปัจจุบัน”
นอกจากนี้ยังมีการทุจริตฉ้อฉลของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และการสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน กรณีบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายรวมกันทั้งสิ้น 15,708 ล้านบาท
นายพิชัยกล่าวว่า กรณีผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุนปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่อง และการถูกบังคับขายหุ้นที่นำไปจำนำหรือก่อภาระผูกพัน อันส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นและโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นถึงการขาดประสิทธิผลของการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนความไม่เพียงพอของมาตรการทางกฎหมายที่เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแล หากสถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไข มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อปริมาณและมูลค่าการลงทุนในตลาดทุนไทย และอาจนำมาซึ่งความเสี่ยงเชิงระบบที่กระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและต่อประชาชนโดยรวม
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันเพื่อให้มีบทบัญญัติที่สามารถยับยั้งและปราบปรามการกระทำความผิดในตลาดทุนเพื่อรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ เสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทย และช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยให้กลับมามีเสถียรภาพได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อประโยชน์อันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศที่จะตรา พ.ร.ก.ตามมาตรา 192 ของรัฐธรรมนูญ โดย พ.ร.ก.ดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เดิม ซึ่งเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับ ก.ล.ต. โดยเฉพาะในการตรวจสอบ และดำเนินคดีควบคู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในธุรกรรมที่น่าสงสัยในตลาดหุ้นที่มีแนวโน้มจะสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้กับตลาดหุ้นและนักลงทุน
นอกจากนั้น กรณีนี้จะครอบคลุมไปถึงประเด็นที่เป็นปัญหา เช่น ผู้สอบบัญชี ซึ่งเดิมนั้นจะเอาผิดเฉพาะบุคคลที่มีส่วนช่วยในการตกแต่ง บัญชี หรือไม่รายงานข้อมูลที่ผิดปกติ โดยจะใช้มาตรฐานเดียวกับต่างประเทศที่เอาผิดไปยังบริษัทต้นสังกัดของผู้สอบบัญชีนั้นๆ เพราะว่าที่ ผ่านมาข้อมูลที่ผ่านออกจากผู้สอบบัญชีอย่างไม่ถูกต้องจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างราคาหุ้น
ทั้งนี้ สาระสำคัญของ พ.ร.ก.นี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ในประเด็น 1.การเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบและการกำกับดูแลการขายหลักทรัพย์โดยที่ยังไม่มีหลักทรัพย์อยู่ในครอบครอง (การขายชอร์ต) 2.การยกระดับการทำหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน เพิ่มความเข้มแข็งของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน 3.การกำหนดสิทธิของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ให้ครอบคลุมถึงการดำเนินการแทนผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการและล้มละลาย 4.การรายงานข้อมูลการก่อภาระผูกพันในหลักทรัพย์ต่อสำนักงาน ก.ล.ต.
5.การเพิ่มมาตรการทางกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบการกระทำความผิดและยับยั้งความเสียหายและการมอบหมายบุคคลอื่นจัดการทรัพย์สินที่ยึดอายัด 6.การสอบสวนคดีที่อาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุนหรืออาจมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และ 7.มาตรการการลงโทษกรณีมีการปฏิบัติฝ่าฝืนหรือไม่เป็นไปตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ ซึ่งมาตรการทางกฎหมายดังกล่าว ข้างต้นจะเป็นเครื่องมือในการยับบั้งความเสียหายและบูรณาการการบังคับใช้กฎหมายระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายในการกระทำ ความผิดที่เป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจสามารถบรรลุผลได้อย่างแท้จริง อันจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อม่ันให้นักลงทุนในตลาดทุนและช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมามีเสถียรภาพได้อย่างรวดเร็ว.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่