สถานการณ์เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมประกาศใช้มาตรการทางภาษีตอบโต้หลายประเทศทั่วโลกในวันที่ 2 เมษายน 2568 นี้ สร้างความไม่แน่นอนและความกังวลกับเศรษฐกิจโลก ตั้งแต่ยุโรป จีน จนถึงประเทศไทย
ท่ามกลางความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) ได้ออกมาให้มุมมองและคำแนะนำสำหรับนักลงทุน พร้อมประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ และยังต้องจับตาความเสี่ยงจากนโยบายการค้าอย่างใกล้ชิด
คมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นโลกเผชิญกับแรงขายอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา โดยปัจจัยหลักที่กดดันตลาดมาจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เริ่มอ่อนแอลงแรง ทำให้นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
นอกจากนี้ ความตึงเครียดของสงครามการค้าที่ยังไม่มีข้อยุติ ยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับตลาด ซึ่งต้องจับตาการประกาศนโยบายกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ในวันที่ 2 เมษายนนี้
ในภาวะตลาดผันผวนนี้ TISCO ESU แนะกลยุทธ์ "ปรับพอร์ต" เพื่อลดความเสี่ยงและแสวงหาโอกาส โดยให้น้ำหนักกับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบน้อย หรืออาจได้ประโยชน์จากนโยบายของทรัมป์ เช่น
1.กลุ่มสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเติบโตจากส่วนต่างดอกเบี้ยและได้อานิสงส์จากการผ่อนคลายกฎระเบียบ
2.กลุ่มพลังงานในสหรัฐฯ ที่แม้ราคาจะผันผวน แต่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ในระยะถัดไป
อย่างไรก็ตาม หากสหรัฐฯ ใช้กำแพงภาษี 10% ทั่วโลกจริง อาจกระทบกำไรบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ ราว 4-5% แต่ TISCO ESU มองว่าความพยายามในการลดภาษีนิติบุคคลของสหรัฐฯ นั้น อาจเข้ามาช่วยชดเชยผลกระทบส่วนนี้ได้
นอกจากหุ้นสหรัฐฯ แล้ว "ตราสารหนี้โลก" (Global Fixed Income) ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการกระจายความเสี่ยง โดยเฉพาะเมื่อผลตอบแทนที่แท้จริง (Real Yield) ในยุโรปและญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบหลายปี
ขณะที่ "น้ำมันดิบ" ก็อาจเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่ได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในยุโรปและจีน โดยคาดว่าราคาอาจฟื้นตัวกลับสู่กรอบ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วงกลางปีด้วย
ธนภัทร ธนชาต ผู้ช่วยนักวิจัย ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีสัญญาณชะลอตัว แต่ยังไม่ถึงขั้นเข้าสู่ภาวะถดถอย ตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจสำคัญ เช่น การจ้างงาน รายได้ การใช้จ่ายและการผลิต ยังแข็งแกร่งและไม่มีสัญญาณของภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ชัดเจน
ด้านนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ประเมินว่า ในปี 2568 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้ง รวมที่ระดับ 0.50% โดยความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าที่ยังไม่ชัดเจน ทำให้ Fed ต้องดำเนินนโยบายการเงินด้วยความระมัดระวัง
ในส่วนมุมมองต่อเศรษฐกิจยุโรป มองว่า ยุโรปมีสัญญาณฟื้นตัวในทางที่ดีขึ้น เนื่องจากเยอรมนีมีแผนขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซามานานกว่า 2 ปี และเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันประเทศ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลเชิงบวกในช่วงปี 2569-2570 จึงอาจช่วยหนุนให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้ง จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยยกระดับการเติบโตของเศรษฐกิจเยอรมนี และทั่วทั้งยุโรปมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐอาจใช้เวลานาน ทำให้เศรษฐกิจยุโรปในปี 2568 อาจไม่ได้ขยายตัวมากนัก อีกทั้งเศรษฐกิจยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากสงครามการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจทวีความรุนแรงขึ้น จึงต้องติดตามกระบวนการใช้จ่ายงบประมาณอย่างใกล้ชิด
ด้าน เมธัส รัตนซ้อน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ กล่าวว่า จากความเสี่ยงของสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้น TISCO ESU ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 2.8% จากเดิมที่คาดไว้ 3.0% ทั้งนี้ ยังมีความเสี่ยงเพิ่มเติมที่อาจกดดันเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า จากสองปัจจัยหลัก ได้แก่
1. มาตรการภาษีตอบโต้จากสหรัฐฯ (Reciprocal Tariff) ซึ่งอาจกระทบเศรษฐกิจไทยประมาณ 0.35-0.50 ppt.
2.การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ล่าช้ากว่าคาด โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่นิยมเที่ยวภายในประเทศ และเลือกจุดหมายปลายทางที่ไกลขึ้น ซึ่งอาจจะกระทบเศรษฐกิจไทยประมาณ 0.20 ppt.
ดังนั้น หากปัจจัยเหล่านี้ยังดำเนินต่อไป เศรษฐกิจไทยในปีนี้อาจมีความเสี่ยงที่จะเติบโตได้เพียง 2.1% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าปี 2567 ที่ขยายตัวได้ 2.5%
ด้านนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 2.00% ในการประชุมครั้งแรกของปี สวนทางกับท่าทีที่เข้มงวดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ที่ 2.8% คาดว่า กนง. อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.00% ตลอดทั้งปี แต่หากได้รับผลกระทบจาก 2 ปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวไปข้างต้น มีโอกาสที่ กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกราว 1 – 2 ครั้ง ในปีนี้ หรือลงมาอยู่ที่ 1.50-1.75% ต่อปี โดยขึ้นอยู่กับในระยะข้างหน้าจะมี Negative Shock เข้ามาเพิ่มเติมหรือไม่ โดยต้องจับตารายละเอียดนโยบายสงครามการค้าของสหรัฐฯ ในวันที่ 2 เมษายนนี้
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้