ดัชนีหุ้นวันที่ 8 เม.ย.54 ปิดที่ 1,082.69 จุด ลดลง 6.52 จุด มีมูลค่าการซื้อขาย 38,043.80 ล้านบาท ต่างชาติซื้อสุทธิ 830.78 ล้านบาท แต่นักลงทุนสถาบันในประเทศทิ้งหุ้น โดยขายสุทธิ 1,306 ล้านบาท
หุ้นที่มีการซื้อขายสูงสุด 5 นำโดย PTT ปิดที่ 376 บาท ลดลง 1 บาท, PTTCH ปิดที่ 165 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง, IVL ปิดที่ 54 บาท ลดลง 1 บาท, IRPC ปิดที่ 6.30 บาท ลดลง 0.15 บาท และ PTTAR ปิด 42.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.75 บาท
ฝ่ายวิเคราะห์ บล.ฟาร์อีสท์ มองทิศทางตลาดสัปดาห์หน้าต้องจับตาพฤติกรรมการลงทุนของต่างชาติ ซึ่งถือเป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะช่วงใกล้วันหยุดยาวเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ที่ต่างชาติอาจหาจังหวะเข้าซื้อหุ้นในสัปดาห์หน้า แต่อาจเห็นการฉวยโอกาสขายทำกำไรของนักลงทุนรายย่อยก่อนที่จะปิดยาว 3 วัน โดยมีวันเปิดทำการเพียง 2 วัน
ด้านเทคนิคประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีไว้ที่ 1,080-1,100 จุด
บทวิเคราะห์ บล.เอเซียพลัส ระบุว่ากว่า 1 เดือนหุ้นกลุ่มแบงก์ บวก 19% ตอบรับกำไรไตรมาส 1 ที่เอเซียพลัสคาดว่าจะโต 35% จากไตรมาสก่อน โดยมีสาเหตุจากสินเชื่อโต 4.7% จากความต้องการเติบโตทุกธุรกิจ SME และสินเชื่อรายย่อย เช่น เช่าซื้อรถยนต์
นอกจากนี้ ส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับตัวดีขึ้น 0.07% จากงวดไตรมาส 4 ปี 53 และมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นต่อ ตามแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น ตราบที่ กนง. ยังมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกอย่างน้อย 0.75% ในช่วงที่เหลือของปีนี้
และยังมีเงินปันผลรับของกองทุนวายุภักษ์ 1 งวดครึ่งหลังของปี 53 ที่จะเข้ามาในไตรมาส 1 ปีนี้ ทั้งกลุ่มราว 1,680 ล้านบาท (นำโดย KTB และ SCB ราว 980 ล้านบาท และ 374 ล้านบาท) โดยพบว่าหุ้นที่มีกำไรเติบโตโดดเด่นคือ SCB, KTB และ KBANK ซึ่งได้ปรับประมาณการปี 54 SCB ไปแล้ว และยังมีแนวโน้มปรับประมาณการแห่งอื่นตามมา
แต่เป็นที่สังเกตว่า ช่วงกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา หุ้นแบงก์ปรับตัวขึ้น 19% ถือเป็นการตอบรับผลกำไรงวดไตรมาส 1 ที่ออกมาดีมาก ประกอบกับช่วงครึ่งหลังของ เม.ย. กลุ่มแบงก์จะทยอยประกาศงบไตรมาส 1 อาจทำให้เกิด Sell on Fact เหมือนที่เกิดขึ้นทุกครั้ง
ดังนั้น สำหรับนักลงทุนระยะสั้นที่มีหุ้นแบงก์อยู่ แนะให้เลือกขายทำกำไรระยะสั้น.
อินเด็กซ์ 51