การค้นพบจังหวะในการทำ Arbitrage ในชีวิตนักเทรดนั้นไม่ต่างจากการได้ลุ้นรางวัลใหญ่ หรือเหมือนการถูกรางวัลลอตเตอรี่ เพราะเราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเมื่อใดที่ความผิดปกติของราคาหลักทรัพย์จะเกิดขึ้นและจะอยู่ได้นานแค่ไหน เมื่อช่วงเวลานั้นมาถึง นักเทรดต้องพร้อมตัดสินใจทันที
โดยการซื้อสินค้าที่พบว่าราคาถูกผิดปกติ และขายสินค้านั้นในราคาตลาดปกติ หรือ หากพบว่าสินค้าราคาแพงกว่าปกติก็สามารถขายสินค้านั้นไปก่อน แล้วจึงซื้อกลับคืนในราคาตลาดปกติ การทำ Arbitrage จึงไม่เพียงแต่เกี่ยวกับการใช้โอกาสในการหาผลกำไรที่ปราศจากความเสี่ยง แต่ยังสะท้อนถึงความรวดเร็วในการตัดสินใจ และความเข้าใจลึกซึ้งในโครงสร้างตลาด
โดยผลตอบแทนที่ได้คือ ส่วนต่างของราคาของทั้งสองตลาด และเป็นผลตอบแทนที่ปราศจากความเสี่ยง ซึ่งปกติแล้วความผิดปกติของราคาจะเกิดขึ้นในตลาดที่ไม่ Efficient หรือเกิด Information Asymmetry ทำให้ราคาในตลาดเปลี่ยนแปลงช้ากว่าที่ควรจะเป็น
กลยุทธ์ Arbitrage นั้นสามารถทำได้ผ่านสินค้าที่มีการเทรดในตลาดได้หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น ทองคำ สินค้าโภคภัณฑ์ ยางพารา หุ้น และ Options รวมไปถึงค่าเงินระหว่างประเทศ
ถ้ากล่าวถึงการทำ Arbitrage รู้หรือไม่ว่าสามารถแยกลักษณะ Arbitrage ได้หลากหลายรูปแบบ ยกตัวอย่าง เช่น
Merger Arbitrage เกิดขึ้นเมื่อ บริษัท A ประกาศที่จะควบรวมกับบริษัท B และบริษัท A ได้ประกาศราคารับซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นของบริษัท B ซึ่งปกติบริษัท A จะมักจะจ่ายที่ราคาสูงกว่าราคาตลาด ณ วันที่ประกาศ ทำให้เกิดส่วนต่างของราคา และนักเทรดสามารถใช้จังหวะนี้ในการเข้าทำกลยุทธ์ได้
Spatial Arbitrage คือการซื้อสินค้าจากประเทศหนึ่งในราคาที่ถูกกว่าและนำไปขายในอีกประเทศหนึ่งในราคาที่แพงกว่า สำหรับตัวอย่างเคยที่เกิดขึ้นจริงในปี 2017 คือ นักเทรด Bitcoin (BTCUSD) ค้นพบว่าราคา BTCUSD ในตลาดสหรัฐฯ ราคาอยู่ที่ราว $19,000 ในขณะที่ในตลาดเกาหลีใต้ BTCUSD มีราคาที่สูงถึง $22,000 นักเทรดจึงใช้กลยุทธ์ Arbitrage โดยซื้อ BTCUSD จากตลาดสหรัฐฯ และไปขายในตลาดเกาหลีใต้ในทันที และได้กำไรจากส่วนต่างราคาถึง $3,000 ต่อ 1 BTCUSD ซึ่งการทำ Arbitrageในครั้งนั้นโด่งดังมาก จนกระทั่งมีชื่อเรียกว่า Kimchi Premium
Market Microstructure Arbitrage คือการทำ Arbitrage จากตลาดที่ไม่ Efficient ทำให้มีการรับรู้ข้อมูลที่ล่าช้า ทำให้นักเทรดที่สังเกตเห็นความผิดปกตินี้ รีบเข้ามาสร้างกลยุทธ์ เพื่อทำกำไรจากโอกาสนี้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะใช้ Algorithms มาช่วยในการค้นหาโอกาสเหล่านี้
นอกจากการเทรดหลักทรัพย์ปกติแล้ว สินค้า Futures ที่อ้างอิงกับหลักทรัพย์ก็มีโอกาสที่จะค้นพบโอกาสในการทำ Arbitrage ได้ แต่สำหรับสิ่งที่ต่างออกไปคือ เมื่อดำเนินการแล้ว จะต้องรอจนกว่าสัญญา Futures นั้นจะหมดอายุ ซึ่งราคา Settlement จะเป็นราคาที่จุดสมดุล ทำให้เราได้กำไรจากสถานะที่เราเปิดเอาไว้นั่นเอง
หากกล่าวถึงการจัดกลยุทธ์ Arbitrage ในประเทศไทย นั้น TFEX ถือเป็นตลาดซื้อขายสินค้า Futures หนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากมีการกำกับดูแลที่ดีจาก กลต. และมีสำนักหักบัญชีที่ป้องกันการเกิดความเสี่ยงของการผิดนัดชำระได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ TFEX ได้ออกสินค้า Futures ใหม่ ที่อ้างอิง EURTHB และ JPYTHB ทำให้การทำ Arbitrage ผ่าน 3 สกุลเงินนั้นเป็นไปได้
สมมติ นักเทรด A กำลังสำรวจตลาดเพื่อเตรียมเทรด สังเกตเห็นอัตราแลกเปลี่ยนของ 3 Currency Futures เป็นดังนี้ JPYH25 = 22.15 บาทต่อหนึ่งร้อยเยน, USDJPYH25 = 150 เยนต่อดอลลาร์ และ USDH25 = 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ตามสมการด้านล่าง
33.50 > (22.15/100) x 150.00
พบว่าความสัมพันธ์ไม่เป็นไปตามสมการ เนื่องจากค่าเงินเยนถูกผิดปกติ จึงเข้าไปสร้างกลยุทธ์ Arbitrage โดยทำการ Short ฝั่งที่มากกว่า และ Long ฝั่งที่น้อยกว่า ดังนี้ 1. Long JPYH25 2. Long USDJPYH25 3. Short USDH25 โดยเปิดสัญญา Futures ทั้ง 3 ในเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งในวันหมดอายุของสัญญา ค่าเงินทั้ง 3 จะมีความสัมพันธ์เป็นไปตามสมการข้างต้น
นาย A สามารถสร้างกลยุทธ์ได้โดยมีแนวทางคือ ทำให้มูลค่าสัญญาของทั้ง 3 อัตราแลกเปลี่ยนเท่ากัน หรือใกล้เคียงมากที่สุด จากนั้นทำตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้
1. เปิดสถานะ Long JPYH25 จำนวน 47 สัญญาที่ราคา 22.15 บาทต่อหนึ่งร้อยเยน
(มูลค่าสัญญา = 47 x 22.15 x (100,000/100) = 1,041,050 บาท)
2. พร้อมกับ Long USDJPYH25 จำนวน 23 สัญญา ที่ราคา 150 เยนต่อดอลลาร์
(มูลค่าสัญญา = 23 x 150.00 x 300 = 1,035,000 บาท)
3. พร้อมกับ Short USDH25 จำนวน 31 สัญญา ที่ราคา 33.50 บาทต่อดอลลาร์
(มูลค่าสัญญา = 31 x 33.50 x 1,000 = 1,038,500 บาท)
นักเทรด A ถือทั้ง 3 สถานะจนกระทั่งถึงวันหมดอายุสัญญา ณ วันที่ 28 มี.ค. 2025 สมมติว่าในวันหมดอายุของสัญญา ราคา Settlement ของแต่ละค่าเงินแต่ละสัญญาเป็นดังนี้
JPYH25 = 21.25 เยนต่อดอลลาร์
USDJPYH25 = 160.00 เยนต่อดอลลาร์
USDH25 = 34.00 บาทต่อดอลลาร์
จะได้ผลกำไร (ขาดทุน) ดังนี้ (21.25 – 22.15) x 47 x (100,000/100) + (160.00 – 150.00) x 23 x 300 + (33.50-34.00) x 31 x 1000 = (-42,300) + 69,000 + (-15,500) = 11,200 บาท
หักค่าคอมมิชชั่นตามประกาศ TFEX เท่ากับ 10.1 บาทต่อสัญญา x 1.07 x (47 +23+31 สัญญา) x 2 = 2,183 บาท
ดังนั้น นักเทรด A เหลือกำไรสุทธิจากกลยุทธ์ Triangular Arbitrage เท่ากับ 11,200 – 2,183 = 9,017 บาท ซึ่งเป็นกำไรที่ปราศจากความเสี่ยง
จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่าการทำ Triangular Arbitrage ผ่าน Currency นั้นมีความซับซ้อนและ ต้องมีการเตรียมความพร้อมทางด้านกลยุทธ์เอาไว้ก่อนที่จะโอกาสนั้นจะมาถึง โดยจุดมุ่งหมายในวันนี้ เพื่อที่จะสร้างความเข้าใจถึงกระบวนการทำ Arbitrage ว่าสามารถทำได้อย่างไร ในอนาคตจะได้ไม่พลาดโอกาสในสร้างกำไรที่เข้ามา นอกจากนี้ ท่านยังสามารถนำ AI หรือการเขียน Algorithms เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการค้นหาความผิดปกติของราคาได้เช่นกัน