ถึงแม้ในช่วงที่ผ่านมา ภาพความขัดแย้งระหว่างกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะดูเบาบางลงบ้าง หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี มาอยู่ที่ 2.25% ต่อปี ซึ่งเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งได้มีการพบปะหารือกันระหว่างพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง และดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. เพื่อทำความเข้าใจทิศทางนโยบายระหว่างกัน
อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามคนในแวดวงการเงินและการธนาคาร ยังคงจับตา “คลื่นใต้น้ำ” ระหว่างกระทรวงการคลัง และแบงก์ชาติ ที่คาดว่าจะยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมองว่า ยังมีประเด็นร้อนๆ ให้ต้องติดตามกันอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะบางเรื่องจะเกิดขึ้นก่อนสิ้นปี 2567 นี้
เริ่มที่เรื่องแรก ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้คนจำนวนมากจับตามาอย่างต่อเนื่อง นั่นก็คือ การแต่งตั้ง “ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่” เพราะแม้ว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ ประธาน และกรรมการคณะกรรมการ ธปท. จะได้ดำเนินการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมให้ดำรงตำแหน่งประธาน และกรรมการคณะกรรมการ ธปท. อีก 2 คนเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา
จากนั้น คณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็ได้นำรายชื่อที่ได้รับคัดเลือกทั้ง 3 ตำแหน่ง เสนอไปยังกระทรวงคลัง เพื่อให้พิจารณาคุณสมบัติครั้งสุดท้ายก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า “ได้รับการเสนอรายชื่อเรียบร้อยแล้ว แต่ก่อนที่จะเสนอชื่อเข้าสู่การพิจารณาอนุมัติของ ครม.นั้น จะขอตรวจสอบคุณสมบัติของบุคคลที่ถูกเสนอชื่อมาก่อน”
และแม้ว่า ในช่วงก่อนการคัดเลือกจะมีการล่ารายชื่อ และส่งหนังสือจากกลุ่มนักวิชาการ และอดีตผู้บริหารระดับสูงของธปท. เพื่อแสดงความเป็นห่วงในประเด็น “การทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระของ ธปท.ที่ไม่ควรจะมีบุคคลใกล้ชิดจากการเมืองเข้ามาดำรงตำแหน่งระดับสูงใน ธปท. รวมทั้งแสดงกังวลถึงการแทรกแซงการทำงานของ ธปท.จากฝ่ายการเมือง”
แต่รายชื่อที่มีรายงานข่าวออกมาว่า ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับตำแหน่งประธานคณะกรรมการ ธปท. ยังคงเป็น กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรมว.คลัง ซึ่งเพิ่งพ้นตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน มาเมื่อไม่นานนี้ และเป็นบุคคลที่ได้รับเสียงคัดค้านมาต่อเนื่อง
จากประเด็นดังกล่าวทำให้มีความเห็นที่หลากหลายในสังคมออกมาหลังจากการตัดสินใจของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ถึง “คุณสมบัติ” ของกิตติรัตน์ ว่า จะสามารถดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ ธปท. ได้หรือไม่
แม้ล่าสุด การให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวของปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาจะให้ความเห็นว่า “ในส่วนตัวตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ไม่ได้รวมเป็นตำแหน่งข้าราชการการเมือง” ซึ่งทำให้กิตติรัตน์ไม่ผิดคุณสมบัติในข้อนี้ ในการดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
แต่ด้วยกระแสสังคมที่ยังกดดันรุนแรง หรือด้วยประเด็นอะไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ รมว.คลัง ก็ยังไม่ได้นำเสนอชื่อกิตติรัตน์ ให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาอนุมัติ แม้ว่าจะมีรายงานข่าวบางกระแสระบุว่า กิตติรัตน์ ได้ไปดูที่ทำงานที่ ธปท. แล้วก็ตาม ทำให้ต้องจับตาประเด็นร้อนประเด็นนี้ต่อไป ว่า รมว.คลังจะนำเสนอรายชื่อกิตติรัตน์ เพื่อให้ที่ประชุม ครม. ในครั้งต่อไปวันที่ 11 ธ.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่ครบ 1 เดือนที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ส่งรายชื่อมาให้หรือไม่ หรือจะชะลอ “เผือกร้อน” เรื่องนี้ออกไปก่อน
ตามมาด้วยเรื่องที่ 2 ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็น “ไม้เบื่อไม้เมา” กันมายาวนานระหว่างแบงก์ชาติ และกระทรวงการคลัง นั่นคือ “การกำหนดทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย” ให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
ซึ่งในฝั่งกระทรวงการคลังนั้น มองว่า ด้วยการฟื้นตัวที่ช้ากว่าที่คาดไว้มาก “นโยบายการเงิน” จึงควรจะเข้ามาเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง เพื่อทดแทนนโยบายการคลังที่กำลังมีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียง 0.5% เท่านั้น และในปีหน้าจากการคาดการณ์ “เงินเฟ้อก็ยังไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นจนน่าเป็นห่วง”
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพียง 1 ครั้ง ลดลงเพียง 0.25% น่าจะไม่เพียงพอ และต้องการให้ กนง. ลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง และเป็นไปได้ควรจะลดลงไปจนใกล้เคียงกับช่วงก่อนการปรับขึ้น
ในขณะที่การส่งสัญญาณของ กนง. และ ธปท. ยังไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกระทรวงการคลัง เพราะแม้ว่า กนง. จะมีมติลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา แต่ในแถลงการณ์ของ กนง. ยังไม่ได้แสดง “ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ที่ชัดเจนว่าจะเป็น “อัตราดอกเบี้ยขาลง” หรือส่งสัญญาณว่า ทิศทางของนโยบายการเงินจะเป็นการผ่อนคลายต่อเนื่อง จึงไม่ได้หมายความว่า เมื่อ กนง. ลดดอกเบี้ยครั้งแรกแล้ว การประชุม กนง. ในครั้งต่อไปจะต้องลดลงต่อเนื่องอีก แม้ว่า “อัตราเงินเฟ้อทั่วไป” ในปีนี้จะอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3% อยู่มากก็ตาม
จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะต้องจับตา ว่า ในการประชุม กนง. ครั้งสุดท้ายของปี 2567 นี้ วันที่ 18 ธ.ค. ที่จะถึงนี้ มติของ กนง. จะออกมาเป็นอย่างไร จะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องหรือไม่
เพราะจากการประเมินของสำนักวิเคราะห์วิจัยเศรษฐกิจของทั้งธนาคารพาณิชย์ และนักวิชาการ มีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน โดยส่วนหนึ่งมองว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ในการประชุม กนง. ในครั้งนี้ เพื่อช่วยให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ความคิดเห็นส่วนมากกว่า คาดว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยในครั้งนี้ และจะไปลดดอกเบี้ยครั้งต่อไป ในการประชุมช่วงเดือน ก.พ. ปี 2568
แต่ประเด็นที่เห็นตรงกันก็คือ ในช่วงปีนี้ต่อเนื่องปีหน้า กนง. จะมีการลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกไม่เกิน 2 ครั้ง จากในขณะนี้ ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายลดลงอยู่ที่ระดับ 1.75-2% ไม่ต่ำกว่านั้น และไม่ได้ลดต่ำลงไป จนใกล้เคียงกับช่วงก่อนการเริ่มปรับดอกเบี้ยขึ้นในครั้งก่อนหน้า
โดยมองว่า ระดับ 1.75-2% เป็นอัตราที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัวต่อเนื่องในขณะนี้
จากเรื่องที่ 2 ต่อมาถึงเรื่องที่ 3 คือ “การตั้งกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2568” ซึ่งจะเป็นเป้าหมายหลักในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดย ธปท. และ กนง. มีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องดูแล “อัตราเงินเฟ้อทั่วไป” ให้อยู่ภายในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่กำหนด
หลังจากในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่า คลัง และ ธปท. ได้มีการกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อร่วมกันไว้ที่ระดับ 1-3% ต่อเนื่องมาหลายปี แต่ปรากฏว่า “เงินเฟ้อที่แท้จริงกลับหลุดเป้าหมาย” มาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
โดยที่ผ่านมา ธปท. ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.คลัง เพื่อชี้แจงสาเหตุของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ออกนอกกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน แนวทางการดำเนินนโยบายเพื่อนำอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่เป้าหมาย และระยะเวลาที่คาดว่าจะกลับเข้าสู่เป้าหมายมาแล้วถึง 11 ฉบับ ขณะที่ล่าสุด กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของประเทศ ต่างมีความเห็นออกมาตรงกันในลักษณะที่ว่า “อัตราเงินเฟ้อ” ของไทยสามารถสูงขึ้นจากระดับปัจจุบัน ซึ่งต่ำมากเกินไป
เพราะเศรษฐกิจที่มีเงินเฟ้อสูงในระดับหนึ่ง จะช่วยให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ดีกว่าเงินเฟ้อต่ำ ๆ โดยมีการตั้งตุ๊กตาถึงอัตราเงินเฟ้อที่ 2% ว่าน่าจะเป็นระดับที่เหมาะสม และสอดคล้องกับทิศทางของเงินเฟ้อของประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก โดยอยากให้ กนง. ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก เพื่อให้ ธปท. อัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเข้าไปในระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้น
ทำให้คาดว่า หลังจาก ครม. อนุมัติกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของปี 2568 แล้ว การทำจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.คลัง ในกรณีไม่สามารถทำให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายของ ธปท. ในช่วงต่อไป อาจจะไม่ได้รับการ “ยอมรับ” เหมือนช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลให้ กนง. จะมีแรงกดดันในการดำเนินนโยบายการเงินเพิ่มขึ้น
ประเด็น “กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ” ปี 2568 ที่จะประกาศออกมาภายในเดือนนี้ จึงเป็นอีกประเด็นที่ต้องจับตาว่าจะออกมาเป็นลักษณะอย่างไร และจะมีผลกระทบต่อเนื่องต่อการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงต่อไปหรือไม่
ท้ายที่สุด นอกเหนือจาก 3 เรื่องที่กล่าวมา ยังมีคนจับตาความเห็นที่ไม่ตรงกันในเรื่องแนวทางการบริหารทุนสำรองทางการระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่คุกรุ่นอยู่ รวมทั้งการบริหารจัดการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่เหมาะสมและช่วยในการให้เกิดการขยายตัวเศรษฐกิจไทย
อย่างไรก็ตาม จากประเด็นทั้งหมดทั้งมวลนี้ ยังมีความเห็นของนักวิชาการจำนวนหนึ่งที่มองเรื่องนี้ในแง่ดีว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างคลังกับแบงก์ชาตินั้น หากไม่ได้มากเกินไป และยังยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ถือเป็นเรื่องปกติธรรมชาติของการดำเนินนโยบาย และอาจจะดีกว่าคลังและแบงก์ชาติจะเห็นตรงกัน ร่วมหัวจมท้ายไปด้วยกันทุกเรื่อง
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney เพื่อให้คุณ "การเงินดีชีวิตดี" ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney