การประชุมธนาคารกลางสำคัญช่วงปลายปี กลับมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจการลงทุนในช่วงต่อไปค่อนข้างมาก นั่นได้แก่ การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของสหรัฐ ในวันที่ 17-18 ธ.ค. และ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) ของไทย ในวันที่ 18 ธ.ค.
ในการประชุมแรก FOMC ของสหรัฐมีมติ 11 ต่อ 1 ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 4.25%-4.5% โดย ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์ ลงมติคัดค้านการลดดอกเบี้ย
ด้าน "Dot Plot" หรือแผนภาพคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยแสดงให้เห็นว่า: (1) ค่ามัธยฐานของเจ้าหน้าที่คาดว่าจะลดดอกเบี้ยลง 0.5% ในปี 2025 โดยจะมีการลดดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% (2) มีเจ้าหน้าที่ 5 คนจากทั้งหมด 19 คน คาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ยลง 0.75% หรือมากกว่า
FOMC ให้น้ำหนักอัตราเงินเฟ้อมากขึ้น และอยู่ระดับเดียวกับการจ้างงาน โดยค่ามัธยฐานของเจ้าหน้าที่เฟดคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 2.5% ภายในสิ้นปี 2025 เพิ่มขึ้นจากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 2.1% ในเดือน ก.ย. นอกจากนั้น ประธาน Fed ยังระบุว่าสถานการณ์เศรษฐกิจได้เข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านใหม่ (We are in a new phase in the process) โดยเน้นความระมัดระวังในการดำเนินนโยบายการเงินต่อจากนี้ โดยจะให้ความสำคัญกับการติดตามตัวเลขเงินเฟ้อเป็นพิเศษ
แถลงการณ์ระบุว่าในการพิจารณา "ขอบเขตและจังหวะเวลา" ของการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่จะประเมินจาก:(1) ข้อมูลที่จะได้รับ (2) แนวโน้มที่เปลี่ยนแปลง (3) ความสมดุลของความเสี่ยง (incoming data, evolving outlook and balance of risks)
ตลาดหุ้นส่งสัญญาณ Risk-off อย่างรุนแรง ดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาดร่วงลงกว่า 1,100 จุด หรือ -2.6% นับเป็นการปรับตัวลงครั้งที่ 10 ติดต่อกัน ยาวนานที่สุดในรอบ 50 ปี ขณะที่ดัชนี S&P 500 และ Nasdaq ก็ปรับตัวลดลง 3% และ 3.6% ตามลำดับ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.51% จากระดับ 4.40% เมื่อวันอังคาร ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 4.35% จาก 4.25% ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเทียบกับยูโร 0.88% มาอยู่ที่ 1.0397 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วนดัชนีดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวขึ้น 0.83% มาอยู่ที่ 108.03 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 4 สัปดาห์
เรามองว่า 1. FOMC กังวลกับความเสี่ยงเงินเฟ้อมากขึ้น ส่วนหนึ่งจากนโยบายของรัฐบาลทรัมป์ (2) เศรษฐกิจที่สหรัฐยังแข็งแกร่ง และเติบโตได้เกินคาด ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจาก productivity หรือผลิตภาพที่เพิ่มขึ้น (3) Fed เริ่มไม่แน่ใจเกี่ยวกับศักยภาพเศรษฐกิจระยะยาว ที่จะนำมาซึ่งดอกเบี้ยสุดท้ายของวัฐจักร (Terminal rate) อย่างไรก็ตาม ประธาน Fed ระบุว่า Terminal rate น่าจะอยู่ต่ำกว่าระดับปัจจุบัน 100 bps
2. ด้วยภาพเช่นนี้ เราจึงปรับประมาณการดอกเบี้ยของ Fed จาก ลด 100 bps ในปี 2025 สู่ 3.4% เป็น ลดเพียง 50 bps สู่ 3.9% ในครึ่งแรกของปี บนสมมุติฐานว่า (1) มาตรการของทรัมป์ จะรุนแรงขึ้นในครึ่งหลังของปี (2) ศักยภาพเศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งขึ้นจากเทคโนโลยีใหม่ (AI) ทำให้สามารถรองรับดอกเบี้ยสูงขึ้นได้ (3) การลด 50 bps จะเป็นการลดสุดท้ายในวัฐจักรนี้ (Terminal rate) เพราะการลดดอกเบี้ยในครึ่งปีหลังจะลำบากยิ่งขึ้น
3. เรามองว่าในระยะต่อไป ผลกระทบต่อตลาดการเงินจะมีค่อนข้างมาก ทั้งจาก (1) ดอลลาร์ที่จะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางยูโร และสกุลอื่น ๆ โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ที่มีความเสี่ยงขาลง (โดยเบื้องต้นเรามองว่า DXY ณ ปลายปี 2025 อาจอยู่ที่ 105) (2) ผลตอบแทนพันธบัตรจะลดลงไม่ได้มาก (3) ในระยะต่อไป กระแสความขัดแย้งระหว่าง Fed และรัฐบาลทรัมป์จะมีมากขึ้น
ในส่วนของการประชุม กนง. ของไทย ครั้งที่ 6/2567 คณะกรรมการฯ มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% ต่อปี ตามตลาดคาด แต่ต่างจากที่เราคาดว่าจะลง 0.25% (percentage point) ในการประชุมครั้งนี้ โดยมองว่า เศรษฐกิจในภาพรวมยังขยายตัวได้ใกล้เคียงที่ประเมินไว้ โดยคาดการณ์การเติบโตที่ 2.7% และ 2.9% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ มีแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงการส่งออกสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรที่มีแนวโน้มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม กลุ่มยานยนต์มีพัฒนาการแย่ลงจากทั้งปัจจัยด้านราคาและอุปสงค์ ขณะที่ SMEs และภาคอุตสาหกรรมบางกลุ่มยังถูกกดดันจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง
คณะกรรมการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 และ 2568 จะอยู่ที่ 0.4% และ 1.1% ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ 0.6% และ 1.0% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ
คณะกรรมการมองว่า สินเชื่อชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา จากความต้องการลงทุนในบางสาขาธุรกิจที่ลดลง การชำระคืนหนี้ที่กู้ยืมไปในช่วงวิกฤตโควิด-19 และความเสี่ยงด้านเครดิตที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงการแข่งขันรุนแรงขึ้นในภาคอุตสาหกรรม ไม่ใช่การตึงตัวของนโยบายการเงินหรือแนวนโยบายการเข้มงวดของสินเชื่อตามหลักการ Responsible lending
คณะกรรมการมองว่า การลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่แล้วได้ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจแล้ว จาก (1) อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐที่ปรับอ่อนค่าลงจากการประชุมครั้งก่อน (2) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของไทยปรับลดลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่มองว่าความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าปรับสูงขึ้น จึงจะยังคงดอกเบี้ยในระดับนี้ไว้รักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่ปรับสูงขึ้น (Policy space)
เรามองว่า การตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ เป็นการดำเนินนโยบายที่อาจไม่สอดรับกับความท้าทายทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน เนื่องจากภาวะการเงินตึงตัวมากเกินไป ทั้งจากสินเชื่อที่หดตัวในรอบ 14 ปี ดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูง ค่าเงินบาทที่แข็งค่า เงินเฟ้อที่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย และการบริโภคสินค้าคงทนของภาคเอกชน และการลงทุนเอกชนที่หดตัว
เรามองว่า การคงอัตราดอกเบี้ยเพื่อรักษา Policy Space อาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากเศรษฐกิจต้องการการผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่ามาตรการ "คุณสู้ เราช่วย" มูลค่า 8.9 แสนล้านบาท แม้จะช่วยบรรเทาภาระหนี้ให้ลูกหนี้ 1.9 ล้านราย แต่ไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง เนื่องจากสินเชื่อรวมมูลค่า 17.5 ล้านล้านบาท ยังคงหดตัวครั้งแรกในรอบ 14 ปี และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การบริโภคสินค้าคงทนและการลงทุนเอกชนหดตัว
นอกจากนั้น เรามองว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นบ้างในระยะต่อไป จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยน้อยลง ในขณะที่ไทยยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูง ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศที่จะชะลอตัวส่งผลให้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง ซึ่งจะยิ่งกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
เรามองว่า ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งจากความไม่แน่นอนของนโยบายประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะจากนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ ประกอบกับแรงส่งทางการคลังที่จะเริ่มแผ่วลงในระยะต่อไปเนื่องจากภาระทางการคลังที่สูงขึ้น ทำให้รัฐบาลมีข้อจำกัดในการใช้เครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ
เรามองว่า ในที่สุด ธปท. อาจจำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ย แต่อาจสายเกินไปและส่งผลให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบมากขึ้น เพราะการลดดอกเบี้ยต้องใช้เวลาส่งผ่าน (Transmission Mechanism) ทำให้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2568 เหลือ 2.7% จาก 3.0% การบริโภคภาคเอกชนเหลือ 2.2% จาก 3.5% และการลงทุนภาคเอกชนเหลือ 0.5% จาก 3.2% สะท้อน Downside risk ของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
จากผลการประชุมดังกล่าว สรุปเป็นคำแนะนำการลงทุนดังนี้:
1. กลยุทธ์การลงทุนแบบ Selective Buy โดยมุ่งเน้น 3 กลุ่มหลัก:
กลุ่มที่ 1: หุ้นคุณภาพดีที่จ่ายปันผลสูง (Div. Yield 3%+) และมี SETESG Rating ระดับ A-AAA โดยแนะนำลงทุนใน: ADVANC, AP, BBL, BDMS, HMPRO
กลุ่มที่ 2: หุ้นที่ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว แบ่งเป็น:
* กลุ่มพาณิชย์: CPALL, CRC, HMPRO, TNP
* กลุ่มท่องเที่ยว: AWC, AOT, MINT
กลุ่มที่ 3: หุ้น Earning Play ที่มีแนวโน้มผลประกอบการดีใน Q4/67 แนะนำ: GULF, OSP, AMATA, AU, TIDLOR, BCP
2. สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง (Trading Idea) สามารถพิจารณาหุ้น Laggard ที่มีแนวโน้มฟื้นตัว ได้แก่: BEM, BDMS, MINT, AP
ขอให้นักลงทุนโชคดี
- รวมทุกช่องทาง InnovestX official ให้คุณได้ติดตามข้อมูลข่าวสารการลงทุนรอบโลก คลิก : https://linktr.ee/InnovestX