เศรษฐกิจและการลงทุนไทยในยุค Trump 2.0

Experts pool

Columnist

ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์

Tag

เศรษฐกิจและการลงทุนไทยในยุค Trump 2.0

Date Time: 24 พ.ย. 2567 07:36 น.

Video

“ไทยรัฐ โลจิสติคส์” ถอดคราบ “ยักษ์เขียว” มุ่งสู่ขนส่งครบวงจร | Thairath Money Talk

Summary

  • เศรษฐกิจโลกในไตรมาสแรกของปี 2025 จะเคลื่อนไหวภายใต้ 3 ธีม (1) ความแข็งแกร่งของสหรัฐ (2) การปรับกลยุทธ์ของจีน และ (3) ความเสี่ยงสงครามเศรษฐกิจที่อาจทวีความรุนแรง หลังการกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ ในฐานะว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

Latest


เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งแต่เริ่มมีจุดเปราะบางที่น่ากังวล แม้การจ้างงานจะชะลอตัวลงแรง แต่ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยชั่วคราว ขณะที่รายงาน Beige Book ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เริ่มส่งสัญญาณถึงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับภาวะการเงินที่เริ่มตึงตัวจากดอกเบี้ยพันธบัตรและดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่พุ่งสูง อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อที่ชะลอลง แม้จะเพิ่มขึ้นบ้างจากฐานราคาน้ำมัน ทำให้ Fed มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยต่อเนื่องถึง 4 ครั้งในปี 2025 โดยคาดว่าจะลงมาอยู่ที่ 3.4% ณ สิ้นปี

ในส่วนของความเสี่ยงของนโยบายของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าการกีดกันทางการค้าที่จะเพิ่มขึ้นจะฉุดเศรษฐกิจโลกให้ชะลอลง 0.1-0.8% ในปี 2025 และรุนแรงขึ้นเป็น 0.2-1.2% ในปี 2026 

อย่างไรก็ตาม เรามองว่านโยบายของทรัมป์จะถูกทยอยดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปเนื่องจากการทำสงครามการค้าจะส่งผลกระทบต่อชาวอเมริกันก่อนจากการนำเข้าสินค้าที่แพงขึ้น รัฐบาลสหรัฐจึงต้องเสริมความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก่อน ผ่านการลดภาษีนิติบุคคลจาก 21% เหลือ 15% ซึ่งอาจต้องรอถึงปลายปี 2025 เมื่อ Tax Cut and Job Act 2017 หมดอายุ

ภาพดังกล่าว ทำให้เรามองว่า Fed จะยังส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินตามแผนและยังไม่เปลี่ยนแนวทางหากนโยบายทรัมป์ยังไม่ตราเป็นกฎหมาย โดยเราปรับคาดการณ์การลดดอกเบี้ยปี 2025 เหลือ 4 ครั้ง (ไปจบที่ 3.4% ณ สิ้นปี 2025)

เราจึงมองว่า ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะยาวไม่น่าจะปรับตัวได้สูงขึ้นกว่านี้อีกมากนัก (โดยพันธบัตร 10 ปีอาจอยู่ที่ 4.5% ก่อนลดลง) ขณะที่ผลตอบแทนระยะสั้นจะลดลงตามดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะทำให้เส้นผลตอบแทนชันขึ้น และ เรามองว่าเงินบาทน่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบัน โดยเฉลี่ยที่ 35.6 บาทต่อดอลลาร์ในปีหน้า ใกล้เคียงปีนี้ที่ 35.1 บาทต่อดอลลาร์ 

ด้านรัฐบาลจีนเปลี่ยนโหมดการบริหารเศรษฐกิจจาก "ระมัดระวัง" สู่ "กระตุ้น" อย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน ด้วยเหตุผลสำคัญ 3 ประการ คือ ฉุดเศรษฐกิจที่ชะลอตัวรุนแรง เตรียมรับมือ Trumponomics 2.0 และป้องกันไม่ให้ตลาดหุ้นทรุดตัวลงไปอีก

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจถูกออกมาอย่างครอบคลุม ทั้งการผ่อนคลายนโยบายการเงิน การอัดฉีดสภาพคล่อง 8 แสนล้านหยวนเข้าตลาดหุ้น และการช่วยเหลือรัฐบาลท้องถิ่นจัดการหนี้นอกงบดุล พร้อมมาตรการกระตุ้นการบริโภคใน 5 เมืองใหญ่ และการสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างเต็มที่

ผลจากมาตรการกระตุ้นเริ่มเห็นผลบ้าง โดยเฉพาะด้านการบริโภคและการผลิต อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามว่าความเชื่อมั่นจะฟื้นตัวอย่างยั่งยืนหรือไม่ ผ่านดัชนีสำคัญทั้งตลาดหุ้น การขยายตัวของสินเชื่อ และเงินเฟ้อ

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจโลกปี 2025 เรามองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ภาวะ Soft Landing ยุโรปเริ่มฟื้นตัวแต่ยังโตน้อยกว่าสหรัฐฯ ขณะที่จีนชะลอตัวลง แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจน่าจะทำให้เศรษฐกิจไม่ตกต่ำรุนแรง

ด้านเศรษฐกิจไทยในปี 2025 มีแนวโน้มขยายตัว 3% โดยมีความเสี่ยงด้านลงจากนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางเศรษฐกิจโลกที่จะกระทบภาคการส่งออกเป็นหลัก โดยเราวิเคราะห์ว่าปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ได้แก่ ทิศทางเศรษฐกิจโลก สงครามการค้า การทุ่มตลาด และความสามารถในการแข่งขัน โดยเรามองว่า ในระยะต่อไป การส่งออกจะชะลอลงตามเศรษฐกิจโลก ขณะที่ในปัจจุบัน ที่ผ่านมา การเกินดุลการค้าของไทยชะลอลงอย่างต่อเนื่อง บ่งชี้ (1) ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยตกต่ำลง (2) การถูกจีนทุ่มตลาด และ (3) ในระยะต่อไป การส่งออกไทยอาจถูกสงครามการค้าและกระแส Deglobalization กดดัน

ในส่วนของการลงทุน เรามองว่า แม้จะมีความท้าทาย แต่ตลาดหุ้นยังมีโอกาสเติบโต โดยเฉพาะหลังจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ประวัติศาสตร์ชี้ว่าตลาดหุ้นมักปรับตัวขึ้นหลังการลดดอกเบี้ยครั้งแรกในวัฏจักรที่เศรษฐกิจไม่เกิดภาวะถดถอย (Recession) สำหรับตลาดหุ้นไทย คาดว่าดัชนี SET จะมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปถึงระดับ 1,550 จุดในปี 2025

ในส่วนคำแนะนำการลงทุน เรามองว่านักลงทุนควรให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยง โดยเน้นลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคภายในประเทศและมีลักษณะป้องกันความเสี่ยง (Defensive Growth) อาทิ ธุรกิจโทรคมนาคม การท่องเที่ยว โรงพยาบาล และค้าปลีก ซึ่งได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

สำหรับหุ้นที่แนะนำสำหรับไตรมาส 1/2025 มี 5 ตัวดังนี้: (1) ADVANC (2) AOT (3) BCH (4) CPALL และ (5) HMPRO โดยจุดเด่นร่วมของหุ้นที่แนะนำได้แก่ (1) เน้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคภายในประเทศ (2) มีลักษณะ defensive growth (เติบโตแต่มีความเสี่ยงต่ำ) (3) ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (4) มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง และ (5) มีแนวโน้มการเติบโตของกำไรที่ดี

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรระมัดระวังความเสี่ยงในช่วงครึ่งปีหลังของ 2025 โดยเฉพาะผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่อาจกลับมา ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องกลับมาใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น

โดยสรุป เรามองว่า ปี 2025 อาจเป็นปีแห่งโอกาสและความท้าทาย ผู้ลงทุนจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมปรับกลยุทธ์การลงทุนให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลง

ขอให้นักลงทุนโชคดี

- รวมทุกช่องทาง InnovestX official ให้คุณได้ติดตามข้อมูลข่าวสารการลงทุนรอบโลก คลิก : https://linktr.ee/InnovestX