ตอนที่แล้วผู้เขียนพูดถึง “เส้นทาง” และ “เงื่อนไข” ที่ ESG ส่งผลต่อผลประกอบการทางการเงิน ผ่านกรอบคิดของ อาสวัธ ดาโมดารัน นักวิชาการการเงินผู้โด่งดัง เพราะลำพังการมุ่งจัดการ ESG ในทางที่ส่งผลดี (หรือลดผลเสีย) ต่อสังคมและ/หรือสิ่งแวดล้อม ไม่อาจการันตีว่าผลประกอบการของบริษัทจะดีขึ้นตามไปด้วย
ในทางตรงกันข้าม การมุ่งมั่นพยายามลดผลกระทบเชิงลบ หรือสร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคม/สิ่งแวดล้อมของบริษัท อาจทำให้บริษัทได้กำไรน้อยลง หรือสูญเสียความสามารถในการแข่งขันก็ได้ เพราะความจริงก็คือ ผลกระทบเชิงลบด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อมจำนวนมากที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ คือ “ผลกระทบภายนอก” (externalities) ที่สร้างต้นทุนมหาศาลต่อผู้คนหรือธรรมชาติ แต่มันไม่ใช่ต้นทุนทางการเงินของบริษัท
ยกตัวอย่างเช่น สมมติมีโรงงานขนาดใหญ่สองแห่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำเหมือนกัน ทำให้แม่น้ำเน่าเหม็น ปลาตายและชาวบ้านแถวนั้นใช้น้ำไม่ได้
ในกรณีนี้ถ้าไม่มีกฎหมายบังคับให้บริษัททั้งสองแห่งต้องบำบัดน้ำเสีย (หรือแบบไทยๆ นั่นคือ มีกฎหมายแต่เจ้าหน้าที่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่บังคับใช้) ก็ไม่ยากที่เราจะเดาได้ว่า บริษัทที่ลงทุนติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย อาจได้กำไรในปีนั้นน้อยกว่าคู่แข่งที่เดินหน้าปล่อยน้ำเสียต่อไปโดยไม่ลงทุน เพราะบริษัทหลังเลือกที่จะไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มใดๆ ในการบรรเทา “ผลกระทบภายนอก” ที่เกิดจากตัวเอง ทำให้กำไรไม่ลดลง
บางคนอาจแย้งว่า ชาวบ้านแถวนั้นน่าจะต้องโวยวาย ลุกขึ้นมาประท้วงจนบริษัทที่สองจำใจต้องลงทุนติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียเหมือนกับบริษัทแรก แต่ข้อเท็จจริงที่น่าเศร้าก็คือ ชาวบ้านจำนวนมากจำทนเพราะ “ไม่อยากมีเรื่อง” กับบริษัทใหญ่ที่พวกเขาเชื่อว่ามีอิทธิพลสูง ไปร้องเรียนหน่วยงานราชการหรือรัฐบาลท้องถิ่นแทน แต่ก็ไม่เป็นผลเพราะเจ้าหน้าที่รัฐไม่ทำหน้าที่ที่ควรทำ (ตัวอย่างหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภคและชาวประมงสมุทรสงครามออกมายืนยันว่าไปร้องเรียนเรื่องปลาหมอคางดำระบาดทุกที่ตั้งแต่ปี 2554 แต่ราชการไม่เคยทำอะไรจริงจัง)
อีกทั้งผลกระทบภายนอกหลายกรณี โดยเฉพาะผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อาจเกิดขึ้นไกลจากที่ตั้งโรงงาน หรือต้องใช้เวลานานในการสะสมผลกระทบ ก่อนที่ใครจะตระหนักว่าตัวเองได้รับผลกระทบเชิงลบจากการดำเนินธุรกิจ
ความท้าทายเหล่านี้แปลว่า บริษัทที่ “ไม่ลงทุน” ปรับปรุงการดูแลประเด็น ESG ของตัวเอง อาจได้กำไรมากกว่าคู่แข่งที่ “ลงทุน” ปรับปรุงการดูแล ESG ก็ได้
โดยเฉพาะในสังคมที่การกำกับดูแลภาคธุรกิจอ่อนแอปวกเปียก หน่วยงานกำกับดูแลถูก “ยึดกุม” โดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ปล่อยให้ธุรกิจลอยตัว ไม่ต้องแบกรับต้นทุนใดๆ จาก “ผลกระทบภายนอก” ที่ตัวเองก่อ ทำเพียงกิจกรรมซีเอสอาร์เล็กๆ น้อยๆ บังหน้าปัญหาที่ใหญ่กว่ามาก (เช่น ขยายพื้นที่ปลูกต้นไม้อีกแสนไร่ ขณะที่เดินหน้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสร้างภาวะโลกรวนมากกว่าเดิม)
กลยุทธ์การสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันจากการลงทุนใน ESG บางครั้งจึงหมายถึงการรณรงค์เรียกร้องให้ภาครัฐ “ยกระดับ” การกำกับดูแล หรือกฎกติกาให้รัดกุมและเคร่งครัดมากขึ้น บริษัทจะได้ไม่ต้องแบกรับต้นทุนจากการดูแล ESG อยู่รายเดียวจนเสียเปรียบคู่แข่งที่ไม่ยอมลงทุน
ตัวอย่างที่สะท้อนเรื่องนี้ได้ดี คือ ราว 10 ปีที่แล้วผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปร่วมวงเสวนาว่าด้วยการลดพื้นที่ว่างบรรจุภัณฑ์ (นานก่อนที่ปัญหาขยะในทะเลจะลุกลามบานปลายเป็นปัญหาระดับโลกในปัจจุบัน!) ร่วมจัดโดยสำนักงานประเทศไทยของยูนิลีเวอร์ บริษัทอุปโภคบริโภคระดับโลก ตัวแทนบนเวทีมีทั้งตัวแทนจากหน่วยงานราชการ เอกชน และนักวิชาการ
ตัวแทนบริษัทผู้จัดงานเล่าว่า บริษัทเสนอสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ให้ออกมาตรการควบคุมขนาดบรรจุภัณฑ์ เพื่อลดความสิ้นเปลืองและประหยัดทรัพยากร เพราะผลการศึกษาชี้ชัดว่าขนาดบรรจุภัณฑ์ในไทยมีขนาดใหญ่กว่าปริมาณสินค้ากว่า 20-40 เปอร์เซ็นต์
ผู้เขียนเห็นว่า การเรียกร้องกฎกติกาของยูนิลีเวอร์ในกรณีนี้เป็นกลยุทธ์ที่ฉลาด เนื่องจากถ้ายูนิลีเวอร์ลดขนาดบรรจุภัณฑ์ของตัวเองลงเจ้าเดียว (เช่น ลดขนาดขวดแชมพู น้ำยาล้างจาน ฯลฯ) ก็อาจเสียเปรียบบริษัทคู่แข่งรายอื่นที่ยังใช้ขนาดบรรจุภัณฑ์เท่าเดิม เนื่องจากขวดใหญ่ๆ ถุงใหญ่ๆ อาจเตะตาผู้บริโภคและดึงดูดให้ซื้อสินค้ามากกว่าขวดเล็กๆ ถุงเล็กๆ
พูดอีกอย่างคือ “ความอยากได้ขนาดบรรจุภัณฑ์เล็กลง เพราะขยะจะได้น้อยลง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น” อาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อ น้อยกว่า “ขวดใหญ่ดูน่าใช้กว่า ซื้อไปน่าจะคุ้มกว่าซื้อขวดเล็ก” สำหรับผู้บริโภคส่วนใหญ่ในไทย
ในภาวะเช่นนี้ การรณรงค์ให้ภาครัฐออกมาตรการควบคุมพื้นที่ว่างบรรจุภัณฑ์ เพื่อบังคับให้บริษัททุกแห่งทำแบบเดียวกัน ลดขนาดบรรจุภัณฑ์ลงเหมือนกันหมด ก็จะช่วยให้บริษัทจัดการประเด็น ESG ได้ดีขึ้น (ลดขยะและประหยัดการใช้วัสดุ) ในทางที่ไม่ทำให้ตัวเองเสียเปรียบในสนามแข่งขัน
แน่นอน บริษัทไม่จำเป็นต้องเรียกร้องกฎกติกาที่มากขึ้นสำหรับการจัดการ ESG ทุกประเด็น เพื่อรักษาหรือเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพราะการจัดการ ESG บางประเด็น สร้าง “ประโยชน์ทางธุรกิจ” ด้วยตัวมันเองอย่างชัดเจนแล้วโดยไม่ต้องพึ่งพาภาครัฐ
ปัจจุบันบริษัทเอกชนไทยอย่างน้อยหลายร้อยแห่งลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์หรือเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงานหรือในน้ำ ผู้เขียนรวบรวมเม็ดเงินลงทุนได้ไม่ต่ำกว่า 230,000 ล้านบาทในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (2014-2024) เหตุผลที่ชัดเจนก็คือ ต้นทุนแผงโซลาร์ที่ลดลงอย่างฮวบฮาบ ประกอบกับค่าไฟฟ้าจากโครงข่ายที่พุ่งสูงขึ้นสวนทางกัน ส่งผลให้การติดโซลาร์ “คุ้มค่า” และ “คุ้มทุน” เร็วกว่าในอดีตมาก บริษัทสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายพลังงานได้อย่างชัดเจน
พูดอีกอย่างก็คือ การติดโซลาร์สร้าง “ประโยชน์ทางธุรกิจ” (ลดค่าใช้จ่ายในอนาคต) อย่างชัดเจนจนหลายบริษัทไม่จำเป็นต้องคำนึงถึง “ประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อม” (ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) เสียด้วยซ้ำไป!
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าการจัดการ ESG ทุกเรื่องทุกประเด็นจะสร้างประโยชน์ทางธุรกิจอย่างชัดเจน ด้วยเหตุผลที่ผู้เขียนสรุปไปข้างต้นและในบทความตอนที่แล้ว ความท้าทายหลักประการหนึ่งก็คือ การลงทุนเรื่อง ESG หลายประเด็นนั้นยากที่จะ “ขาย” ให้ผู้บริหารหรือคณะกรรมการบริษัทเห็นชอบ เพราะประโยชน์เป็นนามธรรมหรือไม่ก็วัดเป็นมูลค่า (ตัวเลข) ยากมาก
ยกตัวอย่างเช่น “ประโยชน์ทางธุรกิจ” จากการลงทุนยกระดับการดูแลสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ด้วยกระบวนการตรวจสอบรอบด้านตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) อาจไม่ใช่การได้ยอดขายหรือกำไรเพิ่ม เพราะลูกค้าอาจคาดหวังให้ทุกบริษัทดูแลเรื่องนี้อย่างดีอยู่แล้ว ใครที่ทำได้ดีกว่าคนอื่นอาจไม่สร้างแรงจูงใจใดๆ ให้ลูกค้ามาซื้อเพิ่ม ประโยชน์อาจเป็นการหลีกเลี่ยงการสูญเสียชื่อเสียง หากบริษัทถูกสื่อพาดพิงว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทานของตัวเอง
คำถามคือประโยชน์ “หลีกเลี่ยงการสูญเสียชื่อเสียง” นี้จะประเมินมูลค่าออกมาเป็นตัวเลขได้อย่างไร? ยังไม่นับประโยชน์อื่นๆ อีกมากมายหลายข้อจากการจัดการ ESG ที่ประเมินมูลค่ายากไม่แพ้กัน เช่น ความสามารถในการดึงดูดพนักงานเก่งๆ ให้มาทำงานกับบริษัทที่มีผลงานด้านความยั่งยืนดีเด่น การหลีกเลี่ยงความเสียหายในอนาคตจากภาวะโลกรวน ด้วยการลงทุนปรับตัวรับมือ (climate adaptation) ซึ่งต้องอาศัยการคาดการณ์ “ฉากทัศน์” ในอนาคต (scenarios) หลายฉากที่เป็นไปได้ ฯลฯ
ความยากของการประเมินมูลค่าประโยชน์ทางธุรกิจจากการลงทุนใน ESG เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้บริษัทจำนวนมากตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืนแบบเลิศลอยสวยหรูชนิดไม่น่าจะทำได้จริง แล้วหลังจากนั้นก็มาลดเป้าลง – ดูตัวอย่างบริษัท เชลล์ และ บีพี สองบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ที่ประกาศลดเป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึง โคคา-โคล่า และเนสท์เล่ สองบริษัทยักษ์ใหญ่ในธุรกิจอุปโภคบริโภคที่ประกาศเลื่อนเป้าการรีไซเคิลพลาสติกบางส่วนออกไปจากปี 2025 เป็น 2030 เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ความท้าทายในการสร้างหรือพิสูจน์ประโยชน์ทางธุรกิจจากการจัดการ ESG ก็เรื่องหนึ่ง ความรุนแรงเร่งด่วนของปัญหา ESG ประเด็นต่างๆ ที่จุดประกายการถกเถียงและสร้างมาตรฐาน ESG ก็อีกเรื่อง เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาจำนวนมากทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น ภาวะโลกรวนซึ่งรุนแรงถึงระดับ “โลกเดือด” (global boiling), การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอย่างรุนแรง, ขยะพลาสติกในทะเล, ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสิทธิทางการเมือง, ฝุ่นพิษ PM2.5 ล้วนเกิดจากหรือเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ เข้าข่ายเป็น “ผลกระทบภายนอกเชิงลบ” หรือ negative externalities ของธุรกิจ
ความจริงที่ลำบากใจ (inconvenient truth) ถ้าจะยืมคำจากชื่อสารคดีทรงอิทธิพลของ อัล กอร์ ก็คือ ตราบใดที่ผลกระทบภายนอกเชิงลบเหล่านี้ไม่ถูกเก็บภาษี (เช่น ภาษีคาร์บอน) หรือออกมาตรการกำกับอื่นๆ ให้ภาคธุรกิจต้องจ่ายต้นทุน และตราบใดที่การถลุงธรรมชาติอย่างไม่บันยะบันยังยังไม่ถูก “ตั้งราคา” อย่างเหมาะสม (เพราะธรรมชาติส่งบิลมาเรียกเก็บเราไม่ได้) โครงสร้างแรงจูงใจในระบบทุนนิยมก็ย่อมกดดันให้บริษัทต่างๆ หาทางสร้างกำไรสูงสุดและให้ความสำคัญกับผลกำไรมากกว่าโลกและสังคม
สุดท้าย ในเมื่อกฎกติกาและแรงจูงใจของตลาดไม่ใช่สิ่งที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งจะเปลี่ยนได้ วิธีจัดการ ESG และมาตรฐาน ESG โดยสมัครใจทั้งหลาย จึงย่อมมีขีดจำกัดในตัวของมันเอง
ไม่ว่าบริษัทหรือผู้ออกมาตรฐานเหล่านั้นจะ “รักษ์โลก” หรือ “รักสังคม” มากเพียงใดก็ตาม
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney