Fed รัฐบาลจีน และ ธปท.

Experts pool

Columnist

ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์

Tag

Fed รัฐบาลจีน และ ธปท.

Date Time: 19 ต.ค. 2567 07:40 น.

Video

วิธีเอาตัวรอดของ Wikipedia ไม่พึ่งโฆษณา ไม่มีค่าสมาชิก แต่อยู่มาได้ 23 ปี | Digital Frontiers

Latest


ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. ประเด็นสำคัญที่นักเศรษฐศาสตร์รวมถึงนักลงทุนติดตามอย่างใกล้ชิดได้แก่ทิศทางการดำเนินนโยบายของผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้กำหนดนโยบายสำคัญสามแห่งได้แก่ ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ธนาคารกลางจีน (PBOC) รวมถึงรัฐบาลจีน และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ในส่วนของ Fed หลังจากที่ประกาศลดดอกเบี้ยถึง 50 basis point (BPS) สู่ 4.75-5.00% ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ประกาศหลังการประชุม ยังขยายตัวได้ค่อนข้างแข็งแกร่ง เช่น (1) ตลาดแรงงานยังสามารถเติบโตได้ค่อนข้างดี โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ก.ย. เพิ่มขึ้นถึง 2.54 แสนตำแหน่งสูงกว่าตลาดที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1.4 แสนตำแหน่ง ขณะที่อัตราว่างงานลดลงเป็น 4.1% ต่ำกว่าที่คาด อย่างไรก็ตาม ตัวเลขตลาดแรงงานเร็ว เช่น ตัวเลขขอรับสวัสดิการว่างงาน ที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 14 เดือนที่ 2.58 แสนใบในช่วงต้นเดือน ต.ค. ขณะที่ (2) เงินเฟ้อมีทิศทางที่ปรับลดลงโดยต่ำสุดในรอบสามปีที่ 2.4% ในเดือน ก.ย. แต่ยังสูงกว่าคาดที่ 2.3% ซึ่งเงินเฟ้อที่ลดลงมากเป็นผลจากการลดลงของราคาน้ำมันและเชื้อเพลิงต่างๆในขณะที่องค์ประกอบด้านสินค้า และบริการอื่นๆค่อนข้างค่อนข้างทรงตัว 

อย่างไรก็ตามการพิจารณาองค์ประกอบภายในของเงินเฟ้อเราพบว่าในภาพใหญ่ เงินเฟ้อที่ลดลงทั้งฝั่งของด้านต้นทุน (cost-push) แล้วฝั่งด้านความต้องการ (demand-pool) ทำให้เรามองว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะยังขยายตัว แต่เป็นทิศทางที่ชะลอลง (Soft-landing) ท่ามกลางความเสี่่ยงเงินเฟ้อที่ลดลง ซึ่งเป็นเหตุผลให้ Fed สามารถลดดอกเบี้ยได้อย่างต่อเนื่องแต่จะเป็นค่อยเป็นค่อยไป 

ด้านเศรษฐกิจจีนรวมถึงการลงทุนของจีนในช่วงเดือนที่ผ่านมามีทิศทางที่ค่อนข้างผันผวนมาก เนื่องจากในช่วงปลายเดือน ทางการจีนได้มีการประกาศมาตรการทางการเงินขนานใหญ่ อย่างที่หลายฝ่ายเรียกว่าเป็นบาซูกา ทั้งการลดดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรเจ็ดวัน การลดดอกเบี้ยระยะกลาง (MLF) การลดดอกเบี้ยระยะยาว การลดอัตราการการสำรองธนาคารพาณิชย์ (Reserve Requirement Ratio: RRR) และมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาอีกหลายประการรวมไปถึงตั้งกองทุนพยุงหุ้นวงเงิน 8 แสนล้านหยวน 

อย่างไรก็ตามหลังจากจีนปิดช่วงวันหยุดยาวโกลเด้นวีคและเปิดทำการอีกครั้งหนึ่งตลาดคาดหวังมาตรการการคลังซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่จะใช้สามารถที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ อย่างไรก็ตามทางรัฐบาลได้ประกาศมาตรการการคลังที่ค่อนข้างผิดหวังโดยไม่มีวงเงินขนาดใหญ่อย่างเช่นที่หลายฝ่ายรวมถึงรอยเตอร์เคยคาดไว้ที่ 2.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2 ล้านล้านหยวน (1.6% ของ GDP) 

โดยรัฐบาลได้มีมาตรการเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย เช่น เร่งการลงทุนของรัฐบาล โดยดึงงบประมาณ 1 แสนล้านหยวนที่เป็นงบลงทุนในปีงบประมาณหน้าดึงเข้ามาใช้ในปีนี้ก่อน นอกจากนั้นมีการออกบัตรพิเศษต่างๆเพื่อช่วยในเรื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงรัฐบาลกลางจีนประกาศว่าจะช่วยระดมทุนเพื่อช่วยรัฐบาลท้องถิ่นจัดการกับการกู้ยืมงบนอกงบดุล (off-balance-sheet borrowing) รวมไปถึงพร้อมที่จะเพิ่มทุนให้กับธนาคารพาณิชย์และอนุญาตให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารถออกพันธบัตรพิเศษเพื่อที่จะเข้าไปซื้อบ้านคงค้างได้ 

อย่างไรก็ตามเรามองว่าการแก้ปัญหาครั้งนี้อาจจะไม่สามารถที่จะทำได้เต็มที่เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลท้องถิ่นมีหนี้สินล้นพ้นตัวทำให้ไม่สามารถที่จะเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นการแก้ปัญหาอสังหาฯ ของจีน ยังเผชิญ 3 ความท้าทายหลัก (1) รัฐบาลท้องถิ่นที่เป็นเครื่องมือหลักในการแก้ปัญหานั้น กำลังมีปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว (2) ราคาบ้านอาจไม่สามารถฟื้นขึ้นได้หากเศรษฐกิจ รวมถึงรายได้ของประชาชนในภาพใหญ่ไม่ฟื้น และ (3) จีนมีปัญหาอุปทานล้นเกินในหลายเมือง โดยเฉพาะเมืองระดับ 2-3 ที่ประชาชนย้ายเข้าเมืองใหญ่  ซึ่งความท้าทายเหล่านั้นทำให้การแก้ปัญหาภาคอสังหาฯ ไม่สามารถทำได้โดยง่าย

ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ของจีนเรามองว่าความเสี่ยงอาจจะเริ่มมีสูงขึ้นเพราะว่าทางการใช้ธนาคารเป็นเครื่องมือหลักในการช่วยเศรษฐกิจซึ่งจะทำให้ธนาคารมีสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

โดยสรุป เรามองว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังสามารถไปได้ต่อเนื่องท่ามกลางการลดดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวได้ดีในครึ่งปีหลังสูงกว่าที่เราเคยมองไว้ ทำให้ทั้งปี 2024 อาจจะมีความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโตมากกว่า 2.3% ที่เราเคยคาด 

ในขณะที่เศรษฐกิจจีนความเสี่ยงมีมากขึ้น โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ เรามองว่าไม่สามารถที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญได้ ซึ่งรัฐบาลจะต้องเพิ่มในเรื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นซึ่งก็จะกระทบต่อความเสี่ยงเรื่องหนี้ประชาชาติที่สูงกว่า 310% ของจีดีพี ทำให้เรามองว่าในส่วนของเศรษฐกิจจีนมีความเป็นไปได้ที่อาจจะไม่สามารถขยายตัวได้ถึง 5% ในปีนี้ ต่ำกว่าที่ทางการเคยคาดไว้

ในส่วนของเศรษฐกิจไทยเรามองว่าในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยดูมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดในเดือน ส.ค. ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนโดยมีปัจจัยลบจากการท่องเที่ยวที่ชะลอตัว ภาคอุตสาหกรรมที่หดตัว การลงทุนภาคเอกชนที่ลดลง และการส่งออกที่ฟื้นตัวจากการเร่งการส่งออกสินค้าเกษตร ในขณะที่การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเริ่มชะลอตัว บ่งชี้ว่า เป็นการปรับลดสินค้าคงคลัง แต่ไม่มีการผลิตใหม่เท่าที่ควร

ในขณะที่หากพิจารณาในประเด็นด้านเงินเฟ้อของไทยนั้น พบว่าเงินเฟ้อในเดือน ก.ย. ที่ 0.61% ขยายตัวต่ำกว่าคาด โดยโมเมนตัมเงินเฟ้อเริ่มชะลอลงขณะที่ต้นทุนการผลิต (PPI) ที่หดตัว ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเบื้องต้นของภาคการผลิตที่จะกลับมาอ่อนแออีกครั้งท่ามกลางกำลังซื้อของประชาชนที่เปราะบาง

นอกจากนั้น หากพิจารณาเรื่องของความตึงตัวทางการเงินผ่านดัชนีสภาพคล่องทางการเงินหรือ Financial Condition Index เราพบว่าตึงตัวที่สุดในรอบ 16 ปีโดยเมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบสี่ประการอันได้แก่ (1) ค่าเงินบาทที่เทียบกับคู่ค้าคู่แข่งซึ่งแข็งค่ามาก เกือบจะที่สุดในรอบ 16 ปี (2) สินเชื่อที่หดตัวรุนแรงในระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี (3) ดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (MLR) ที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วและปัจจุบันสูงเป็นอันดับ 3 ในรอบกว่า 10 ปี ขณะที่ (4) ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ อยู่ในบริเวณค่าเฉลี่ย 

ภาพเหล่านี้ทำให้ดัชนี Financial Condition Index หรือดัชนีชี้วัดความตึงตัวทางการเงินพบว่ารุนแรงที่สุดที่สุดในรอบ 16 ปี ด้วยภาพเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงมากขึ้น เงินเฟ้อที่มีความเสี่ยงว่าอาจจะไม่ถึงกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ขณะที่ความตึงตัวด้านการเงินเพิ่มมากขึ้น เราจึงมองว่า ธปท. จะสามารถลดดอกเบี้ยได้อย่างต่อเนื่องระยะถัดไป ทั้งหมดนี้ บ่งชี้ว่า วัฐจักรดอกเบี้ยโลกในระยะต่อไป จะเป็นขาลง ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่อาจเริ่มขยายตัวชะลอลง

ด้วยภาพเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้น แต่ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายยังมีความไม่แน่นอน รวมถึงยังมีความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่รวมถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่อาจกระทบต่อการลงทุน ทำให้เราแนะนำกลยุทธการลงทุนดังนี้ (1) กลุ่มหุ้นปัจจัยพื้นฐานดีและมีกำไรเติบโตต่อเนื่อง เลือก BEM BCH BDMS GULF TRUE AU TNP (2) กลุ่มเก็งกำไรดอกเบี้ยขาลง เลือก CPALL AP SIRI MTC TIDLOR แต่หากดอกเบี้ยลดช้า เลือกหุ้นที่มีหนี้หรือต้นทุนรูปดอลลาร์สูง เช่น AAV GPSC BCP (3) หุ้นปันผล และเป็นเป้าหมายของกองทุนวายุภักษ์ เลือก KTB BBL ADBANC HMPRO และ (4) หุ้นที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันดิบเพื่อใช้ป้องกันความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ เลือก PTTEP

ขอให้นักลงทุนโชคดี